กรุงเทพฯ--18 มี.ค.--โปรคอมมิวนิเคชั่นส์ แอนด์ คอนซัลแตนท์
สถาบันอาหาร เตือนผู้ประกอบการอย่าหวั่นวิตกกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย แนะเดินหน้าสู้วิกฤติด้วยผลิตภัณฑ์อาหารที่มีอนาคตในปี 52 ชี้ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพมาแรง เติบโตสูง อนาคตไกล เจาะ 4 กลุ่มผู้บริโภคหลัก ที่มีแนวโน้มการเติบโตสูง ประกอบด้วย กลุ่มทารกและเด็กเล็ก, กลุ่มผู้ชายรักสุขภาพ, กลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มผู้รักสิ่งแวดล้อม ใส่ใจสังคม ภายใต้การทำตลาดที่มีจรรยาบรรณของผู้ผลิต
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวว่า ในปี 2552 นี้ หลายสำนักต่างออกมาให้ข้อมูลถึงภาวะเศรษฐกิจที่น่าเป็นห่วง ทำให้ผู้ประกอบการต่างวิตกกังวล แต่สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารคาดว่าจะไม่กระทบมากเหมือนธุรกิจอื่นๆ เนื่องจากอาหารถือว่าเป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต ประกอบกับปัจจัยด้านจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น การขยายตัวของธุรกิจค้าปลีก และความรวดเร็วในการกระจายสินค้า ทำให้นักวิเคราะห์ต่างมองว่าตลาดอาหารโลกยังคงขยายตัวได้ในปีนี้ แม้ว่าจะต้องฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ อย่างมากก็ตาม จากมุมมองของนักวิเคราะห์และผู้ผลิตอาหารชั้นนำของโลก ได้สรุปแนวโน้มผลิตภัณฑ์อาหารที่มีอนาคตสำหรับปี 2552 ประกอบด้วยกลุ่มผู้บริโภค 4 กลุ่มใหญ่ คือ 1. ทารกและเด็กเล็ก กลุ่มเป้าหมายที่มีโอกาสสูง โดยเฉพาะการทำตลาดอาหารเพื่อสุขภาพ สำหรับทิศทางผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กในปี 2552 จะมีรูปแบบที่สะดวกมากขึ้น บรรจุในกระป๋องหรือขวดแก้วในขนาดเล็ก ไม่ว่าจะเป็นผัก ผลไม้ ถั่ว ทั้งประเภทสดและแช่แข็ง อาหารทารกและเด็กเล็กแบบ whole grain จะมีให้เห็นแพร่หลายมากขึ้น รวมถึงการพัฒนาสูตรโดยการเพิ่มสารที่มีคุณประโยชน์ เข้าไปในสูตรพื้นฐาน 2. กลุ่มผู้ชายรักสุขภาพ มีแนวโน้มว่าผู้บริโภคเพศชายจะกลับมาให้ความสำคัญต่อการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้น โดยประเด็นที่ผู้บริโภคกลุ่มนี้สนใจมากที่สุดคือ ปัญหามะเร็งต่อมลูกหมาก โรคหัวใจ ผมร่วง และมีงานวิจัยด้านโภชนาการที่พบว่าถั่วเหลืองสามารถลดการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากและปัญหาผมร่วงในผู้ชายได้ และสารไลโคปีนที่พบมากในมะเขือเทศ แตงโม องุ่นแดง พริกหวานแดง ก็มีคุณสมบัติป้องกันมะเร็ง ต่อมลูกหมากได้เช่นกัน ดังนั้น ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองประเภท นมถั่วเหลือง เต้าหู้ ฟองเต้าหู้ ตลอดจนผลิตภัณฑ์ที่มีสารไลโคปีน จะเป็นผลิตภัณฑ์ยอดนิยมสำหรับผู้ชายมากขึ้น 3. กลุ่มผู้สูงอายุ ผู้บริโภคกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ตลาดไม่ควรมองข้ามเพราะเป็นโครงสร้างหลักของประชากรในหลายประเทศ
โดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้ว และยังถือได้ว่าเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูง เนื่องจากมีความมั่นคงด้านการเงินสูง กลุ่มผู้สูงอายุจะมีความต้องการอาหารที่สะดวกต่อการบริโภคและมีคุณสมบัติสามารถป้องกันโรคเพื่อบริโภคแทนยา กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารที่ได้รับความนิยมสูง ได้แก่ อาหารที่ช่วยระบบขับถ่ายและย่อยอาหาร และ 4. กลุ่มผู้รักสิ่งแวดล้อม และใส่ใจสังคม ผู้บริโภคกลุ่มนี้กำลังเพิ่มจำนวนมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา ทำให้ค้าปลีกยักษ์ใหญ่ชั้นนำของโลกต้องเริ่มตอบสนองความต้องการนี้ด้วยการเพิ่มขอบเขตการคัดเลือกสินค้าเข้าสู่ชั้นวางสินค้า ทั้งนี้นอกจากเรื่องบรรจุภัณฑ์จากธรรมชาติ รีไซเคิลได้ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว เรื่องของกระบวนการผลิต การขนส่งที่เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาทำลายบรรยากาศก็เป็นประเด็นที่ทวีความสำคัญเพิ่มขึ้นและการกระจายรายได้สู่ผู้เกี่ยวข้องอย่างเป็นธรรมที่เรียกว่า Fair trade ก็เป็นกระแสที่สังคมตะวันตกกำลังให้ความสำคัญด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ นอกจากการพิจารณากระแสความต้องการสินค้าแยกตามกลุ่มผู้บริโภคแล้ว แนวโน้มที่น่าสนใจในปี 2552 สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารในตลาดโลกโดยรวม ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ที่มีการผสมส่วนผสมที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพหลายๆ ชนิดใน 1 ผลิตภัณฑ์ เพื่อให้เกิดผลดีหลายๆ ด้านต่อสุขภาพ โดยเฉพาะกลุ่มเครื่องดื่ม, ผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์, ส่วนผสมที่มีผลงานวิชาการออกมารองรับ จะได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น
ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวด้วยว่า “แม้ว่าแนวโน้มเหล่านี้เป็นภาพรวมในตลาดอาหารโลก ซึ่งแต่ละประเทศอาจมีความแตกต่างกันออกไปตามสภาพเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และสังคม แต่ก็เป็นประเด็นที่ผู้ผลิตไทยไม่ควรมองข้าม เพราะหลายกระแสที่เกิดในสังคมตะวันตกกำลังนำมาปรับใช้กับตลาดอาหารในบ้านเรา เช่น ปรากฏการณ์ของการเติบโตของตลาดอาหารกลุ่มโยเกิร์ตที่มีโปรไบโอติก น้ำผลไม้ที่มีสารแอนตี้ออกซิแดนต์ ผลิตภัณฑ์ซีเรียลชนิดแท่งไขมันต่ำ เครื่องดื่มนมถั่วเหลือง เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพที่มีส่วนผสมที่ดีต่อสุขภาพ เป็นต้น และในปีนี้น่าจะมีผลิตภัณฑ์กลุ่มเพื่อสุขภาพออกมาสู่ตลาดอีกหลายชนิด ประเด็นที่สำคัญที่สุด คือ จรรยาบรรณของผู้ผลิต ที่ไม่ควรให้ข้อมูลที่เกินจริงในด้านผลต่อสุขภาพ เพื่อให้ผู้บริโภคเกิดความเข้าใจผิดและซื้อมารับประทาน เพราะอาจเป็นดาบสองคมที่ทำให้ตลาดอาหารเพื่อสุขภาพแทนที่จะเติบโตในระยะยาว แต่โตแล้วตายเร็ว ผู้ผลิตต้องตระหนักในประเด็นนี้ด้วยในการทำการตลาด
รายละเอียดเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ : บริษัท โปรคอมมิวนิเคชั่นส์ แอนด์ คอนซัลแตนท์ จำกัด
สุขกมล งามสม โทรศัพท์ 0 2158 9416-8/ 0 89484 9894
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit