สิ่งทอไทยต้องปรับตัวสู้ หากสหรัฐฯ ยกเลิกภาษีนำเข้า

16 Mar 2009

กรุงเทพฯ--16 มี.ค.--คต.

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) เปิดเผยว่า สมาคมผู้นำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม (US Association of Importers of Textile and Apparel: ITA) ได้เรียกร้องฝ่ายบริหารของสหรัฐฯ ให้ทบทวนนโยบายการค้าเครื่องนุ่งห่ม หลังจากการจำกัดโควตานำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มจากจีนได้สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2551 จำนวน 22 รายการ ประเภท เส้นด้าย เส้นใยสังเคราะห์ ผ้าผืน เสื้อสเว็ตเตอร์ กางเกง ชุดชั้นใน ผ้าเช็ดตัว เสื้อเชิ๊ตสตรี เสื้อผ้าเด็ก และเสื้อสูท เป็นต้น

ITA ได้เรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐฯ กำหนดมาตรการนำเข้าสินค้าทุกประเภทให้เป็นรูปแบบเดียวกัน เนื่องจากการกำหนดอัตราภาษีนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มที่สูง รวมทั้งการกำหนดโควต้านำเข้า และกฎเกณฑ์แหล่งกำเนิดสินค้า ล้วนแต่เป็นอุปสรรคต่อการค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งหุ่มของสหรัฐฯ และยังเป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้บริโภคชาวอเมริกันครัวเรือนละ 800 เหรียญสหรัฐฯ ต่อปี และไม่เกิดประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมสิ่งทอภายในของสหรัฐฯ ตามที่ได้คาดหวังไว้

นางอภิรดีกล่าวเพิ่มเติมว่า หากรัฐบาลสหรัฐฯ เห็นชอบกับข้อเรียกร้องดังกล่าว จะทำให้ผู้ส่งออกไทยต้องประสบปัญหาการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นในตลาดสหรัฐ เนื่องจากจีนถือเป็นคู่แข่งสำคัญของไทย โดยในปี 2551 สหรัฐฯ นำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มจากจีน มูลค่า 20,612 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 3.6 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และครองตลาดถึงร้อยละ 40.9 สินค้าส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่ไทยมีศักยภาพในการผลิต ได้แก่ ชุดชั้นใน กางเกง เสื้อสเว็ตเตอร์ เสื้อผ้าเด็ก และเส้นด้าย เป็นต้น นอกจากจีนแล้ว เวียดนามและอินโดนีเซียก็เป็นคู่แข่งในตลาดสหรัฐฯ ของไทยเช่นกัน

สำหรับประเทศไทยในปี 2551 ที่ผ่านมา ส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มทั้งหมดมูลค่า 7,199 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.2 จากปี 2550 โดยส่งออกไปสหรัฐฯ เป็นอันดับหนึ่ง มูลค่า 1,932 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 2.0 สำหรับ ในปี 2552 นั้น ผู้ประกอบการไทยยังต้องเตรียมรับมือกับสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่ คาดว่าจะต่อเนื่องอีกในระยะ 2-3 ปีนี้ ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคและคำสั่งซื้อจากผู้นำเข้า ดังนั้น ผู้ประกอบการจะต้องปรับตัวสู้เพื่อรองรับกับสถานการณ์การแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น พยายามช่วงชิงและรักษาส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐฯ ไว้ รวมทั้งรักษาคุณภาพและพัฒนากระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น หากมีความคืบหน้ากรมการค้าต่างประเทศจะได้ประชาสัมพันธ์ให้ทราบต่อไป