ผู้บริหาร EWC ชุดใหม่ นำทัพฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจด้วยแนวทาง Challenging Change

12 Mar 2009

กรุงเทพฯ--12 มี.ค.--อีสเทิร์นไวร์

เชื่อมั่นแนวทาง Challenging Change จะนำองค์กรสู่การบริหารแบบมืออาชีพ

พร้อมเตรียมรับมือวิกฤติเศรษฐกิจด้วยการบริหารต้นทุนการดำเนินงาน การขยายการตลาดสู่งานภาครัฐและการรักษาสภาพคล่อง

เตรียมพร้อมจะลงทุนเพิ่มอีก 500 ล้านบาทในโครงการที่เชี่ยวชาญ

บริษัท อีสเทิร์นไวร์ จำกัด (มหาชน) หรือ EWC หลังการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารเมื่อปลายปี 51 ทีมคณะผู้บริหารได้กำหนดกรอบการบริหารงานภายใต้แนวทาง Challenging Change หรือการเปลี่ยนแปลงที่ท้าทาย เพื่อรับมือเศรษฐกิจ โดยมีเป้าหมายในการดูแลบริษัทในเครือทั้ง 3 บริษัทให้มีความมั่นคงต่อเนื่องและเตรียมพร้อมที่จะลงทุนใหม่ พลิกวิกฤติเป็นโอกาสให้จนได้

ปัจจุบัน EWC มีบริษัทในเครือทั้งสิ้น 3 บริษัท ได้แก่บริษัท ระยองไวร์ อินดัสตรีส์ จำกัด บริษัท เอื้อวิทยา จำกัด (มหาชน) และบริษัท เอ็นเนซอล จำกัด

บริษัท ระยองไวร์ อินดัสตรีส์ จำกัด เป็นผู้ผลิตลวดเหล็กแรงดึงสูงชนิดต่าง ๆ รวมทั้งลวดเชื่อมไฟฟ้า ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด โดยมีกำลังการผลิต 36,000 ตันต่อปี โดย EWC ถือครองหุ้นบริษัทดังกล่าว ในสัดส่วน 99.99% ของทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท

บริษัท เอื้อวิทยา จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ผลิตโครงเหล็กสังกะสีสำหรับเสาสายส่งไฟฟ้าแรงสูง เสาโทรคมนาคมและสถานีไฟฟ้าย่อย รวมทั้งให้บริการชุบสังกะสี รวมถึงการจำหน่ายผลิตภัณฑ์กำลังส่งที่มีคุณภาพสูง โดยมีโรงงานผลิตในเขตมีนบุรี มีทุนจดทะเบียนประมาณ 450 ล้านบาท ซึ่งเป็นการถือครองโดย EWC ในสัดส่วน 90.98%

บริษัท เอ็นเนซอล จำกัด เป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจด้านการบริหารจัดการพลังงาน ซึ่งปัจจุบันดำเนินการด้านโรงไฟฟ้าประเภทผลิตร่วม 2 วงจรเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าขนาดต่าง ๆ ตั้งแต่ระดับรองรับการใช้งานในอาคาร ไปจนถึงโรงงานอุตสาหกรรม โดยโครงการแรกของบริษัทคือโครงการลงทุนผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าและพลังงานความร้อนแก่บริษัท เดอะสยาม เซรามิค กรุ๊ป อินดัสทรีส์ จำกัด ในจังหวัดสระบุรี โดย บริษัท เอ็นเนซอล จำกัด มีทุนจดทะเบียน 242 ล้านบาทและ EWC ถือหุ้นในสัดส่วน 80.08%

นายต่อศักดิ์ โชติมงคล ประธานกรรมการบริหาร EWC เปิดเผยว่าภายใต้แนวทาง “Challenging Change” หรือ “การเปลี่ยนแปลงที่ท้าทาย” EWC ได้จัดโครงสร้างการบริหารงานอย่างมืออาชีพ ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการทั้งสิ้น 4 ชุดได้แก่คณะกรรมการบริษัท คณะกรรมการบริหาร คณะกรรมการตรวจสอบและคณะกรรมการผลตอบแทน เพื่อสร้างความเจริญเติบโตให้แก่องค์กร และรับมือกับวิกฤติเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก ภายใต้การนำทีมของนายวุฒิชัย ลีนะบรรจง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทั้งนี้ทางคณะกรรมการบริษัทได้กำหนดกรอบการดำเนินการอย่างเคร่งครัด ภายใต้หลักปฏิบัติ 5 ประการคือ

การสร้างความพร้อมของทีมงาน

การสร้างศรัทธาความเชื่อมั่น

การกลั่นกรองนโยบายมาเป็นแนวทางปฏิบัติ

การสร้างพันธมิตร

นำพาองค์กรสู่หลักธรรมาภิบาล

“ตั้งแต่พวกเราเข้ามาบริหาร ทำงานกันหนักมากที่ต้องดูจุดด้อย จุดแข็งที่มีอยู่ กอรปกับภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยอย่างรวดเร็ว จนกำหนดเป็นแนวทางที่เรียกว่าการเปลี่ยนแปลงที่ท้าทายหรือ Challenging Change” นายต่อศักดิ์กล่าว

ทางด้านนายวุฒิชัย ลีนะบรรจง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร EWC ได้กล่าวถึงแผนปฏิบัติงานโดยได้กำหนดกรอบและนโยบายการทำงาน โดยในปี 2552 ทางบริษัทฯ จะเน้นการสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจปัจจุบัน ด้วยการปรับปรุงประสิทธิภาพในการผลิตและการบริหารการจัดการวัตถุดิบ และระบบสินค้าคงคลังของสินค้าเพื่อลดต้นทุนในการดำเนินงาน

ในส่วนของการตลาดและการขายนั้น แม้ว่าเศรษฐกิจจะอยู่ในภาวะถดถอย แต่ทางบริษัทฯ ได้ปรับทีมงานและกลยุทธ์เพื่อรองรับงานก่อสร้างในส่วนของภาครัฐบาล เพื่อเป็นการรักษารายได้ในช่วงเศรษฐกิจปัจจุบัน รวมทั้งการรักษาสภาพคล่องของบริษัทฯ

ทางด้านการลงทุนในธุรกิจใหม่ของ EWC นั้น ได้กำหนดกรอบการลงทุนโดยเน้นการต่อยอดจากธุรกิจเดิมและธุรกิจที่ใช้ความเชี่ยวชาญทางด้านวิศวกรรม ซึ่งถือว่าเป็น Core Competency ของบริษัทฯ เป็นหลัก โดยกำหนดงบลงทุนไว้ประมาณ 500 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม การลงทุนคงขึ้นกับภาวะเศรษฐกิจว่าจะเอื้ออำนวยขนาดไหน

ทั้งนี้การทำงานโดยรวมของบริษัทฯ จะให้ความสำคัญในเรื่องของการบริหารการจัดการความเสี่ยงและความโปร่งใสตามหลักบรรษัทภิบาลเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า คู่ค้าตลอดจนผู้ถือหุ้น