ทูตสันถวไมตรีขององค์กรอนามัยโลกเรียกร้องให้ทุกฝ่ายหยุดใช้คำว่า “ขี้เรื้อน” เรียกผู้ป่วยโรคเรื้อน

27 Jan 2009

ลอนดอน--27 ม.ค.--เกียวโด เจบีเอ็น – เอเชียเน็ท / อินโฟเควสท์


การใช้คำว่า “ขี้เรื้อน” เปรียบเสมือนการดูถูกและการเลือกปฏิบัติ


คุณโยเฮ ซาซากาว่า ทูตสันถวไมตรีด้านการกำจัดโรคเรื้อนขององค์กรอนามัยโลก (WHO) และทูตสันถวไมตรีด้านสิทธิมนุษยชนของผู้ป่วยโรคเรื้อนของรัฐบาลญี่ปุ่น ออกโรงเรียกร้องให้ทุกฝ่ายหยุดใช้คำว่า “ขี้เรื้อน”

ในการประชุมครั้งที่ 4 เพื่อยุติการดูถูกเหยียดหยามผู้ป่วยโรคเรื้อน ซึ่งจัดขึ้น ณ กรุงลอนดอน ในวันโรคเรื้อนโลก คุณซาซากาว่ากล่าวว่า “คำดังกล่าวให้ความรู้สึกเหมือนถูกรังเกียจและถูกกีดกันจากสังคม”

คุณซาซากาว่ากล่าวต่อไปว่า ผู้ป่วยโรคเรื้อนไม่ต้องการถูกเรียกหรือให้ผู้อื่นใช้คำดังกล่าว “แต่โชคไม่ดีที่คำนั้นถูกสื่อต่างๆ รวมถึงสื่อในอังกฤษ นำไปใช้จนกลายเป็นเรื่องปกติ ส่งผลให้ผู้ป่วยรู้สึกเหมือนถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนและถูกทำลายศักดิ์ศรีความเป็นคนอย่างรุนแรง”

การประชุมประจำปีนี้ได้รับการสนับสนุนจากผู้นำทางศาสนาระดับโลก 16 ท่าน ซึ่งหวังว่าจะใช้หลักทางศาสนาในการเปลี่ยนแปลงอคติที่มีต่อผู้ป่วยโรคเรื้อน อาทิ อาร์คบิชอป เดสมอนด์ ตูตู, องค์ดาไลลามะ, ประธานสมาคมผู้สอนศาสนาอิสลามประจำมาเลเซีย, ผู้นำแรบไบของอิสราเอล และประธานสภาสุขภาพอนามัยแห่งองค์พระสันตปาปา ณ กรุงวาติกัน เป็นต้น โดยท่านเหล่านั้นได้ลงนามในข้อเรียกร้องเพื่อยุติการดูถูกเหยียดหยามผู้ป่วยโรคเรื้อนด้วย

คุณซาซากาว่า ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานมูลนิธินิปปอน กล่าวว่า “โรคเรื้อนสามารถรักษาได้มาตั้งแต่เมื่อเกือบ 30 ปีที่แล้ว และผู้ป่วยโรคเรื้อนกว่า 16 ล้านคนทั่วโลกก็ได้รับการรักษาจนหายดี อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้ป่วยโรคเรื้อนและสมาชิกในครอบครัวหลายร้อยล้านคนที่ยังถูกสังคมดูถูกเหยียดหยามในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ซึ่งโดยมากมักเกิดขึ้นทุกวัน”

ในเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้ร่วมกันตั้งปณิธานเพื่อยุติการดูถูกเหยียดหยามผู้ป่วยโรคเรื้อน

อย่างไรก็ตาม หลายต่อหลายประเทศซึ่งรวมถึงสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร กลับตั้งกฎข้อบังคับสำหรับผู้ป่วยโรคเรื้อนในการเข้าทำงานหรือการพักอาศัยในอาคาร

คุณซาซากาว่ากล่าวว่า “การทำลายอคติในสังคมต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้ซึ่งเป็นที่นับหน้าถือตาในสังคม ดังนั้นผมจึงขอให้ท่านผู้นำทางศาสนาช่วยส่งข้อความดังกล่าวไปยังศาสนิกชนทุกคน”


แหล่งข่าว: มูลนิธินิปปอน


ติดต่อ:

เคโกะ โมริ

มูลนิธินิปปอน

โทร: +81-3-6229-5131

อีเมล: [email protected]


--เผยแพร่โดย เอเชียเน็ท ( www.asianetnews.net )--