กรุงเทพฯ--6 ก.พ.--โครงการสื่อสารสร้างสุข สสส.
ความสำคัญและประเด็นสุขภาพที่เกี่ยวข้อง
มูลนิธิสุขภาพไทยเป็นองค์กรสาธารณะประโยชน์ มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมให้ประชาชนทั่วไปมีความรู้ในการดูแลสุขภาพตนเอง บนพื้นฐานองค์ความรู้สุขภาพองค์รวม หมายถึงการดูแลสุขภาพที่คำนึงถึง กาย ใจ สิ่งแวดล้อม และสังคม อีกทั้งยังได้ขยายกลุ่มเป้าหมายไปยังผู้ที่ขาดโอกาสในสังคม เช่น ชาวบ้านในชุมชน เกษตรกร ฯลฯ อีกด้วย ที่ผ่านมามูลนิธิฯ ได้ดำเนินงานหลายด้านเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมาย เช่น การส่งเสริมให้ประชาชนทั่วไปได้พึ่งพิงตนเองโดยการบริโภคอาหารปลอดสารพิษหรือการใช้สมุนไพรในการดุแลสุขภาพตนเอง การส่งเสริมการนวดตนเอง โยคะ ชี่กง อายุรเวท โดยการนำความรู้ศาสตร์ทางตะวันออกมาใช้ในการดูแลตนเอง มูลนิธิฯยังมุ่งส่งเสริมแนวทางสุขภาพองค์รวมไปสู่กลุ่มเป้าหมายครอบครัวและเด็ก เช่น การอบรมการดูแลสุขภาพแม่และเด็กด้วยภูมิปัญญาไทย และการนวดสัมผัสเด็กทารกด้วยศาสตร์ความรู้ทางตะวันตกเพื่อเสริมพัฒนาการทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ให้แก่เด็ก
นอกจากนี้ เมื่อช่วงเข้าพรรษา ปี 2548 ระหว่างเดือน สิงหาคม ถึงตุลาคม 2548 มูลนิธิฯ ร่วมเครือข่ายพุทธิกา ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ทำการรณรงค์เรื่อง “ จิตอาสา ปันศรัทธาและอาทร” และช่วงเข้าพรรษาปี 2549 ระหว่างเดือนกรกฎาคม ถึง ธันวาคม 2549 มูลนิธิฯ ร่วมเครือข่ายพุทธิกา ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ทำการรณรงค์เรื่อง “ จิตอาสา ปันศรัทธาและอาทร ปี 2 ”โดยนำเอาหลักธรรมะเรื่องการทำบุญมารณรงค์ ซึ่งนำเสนอการทำบุญในรูปแบบการสละแรงกาย แรงใจ และยังสามารถช่วยพัฒนากล่อมเกลาจิตใจให้กับอาสาสมัครในฐานะที่เป็นทั้งผู้ให้และผู้รับได้ อีกทั้งการรณรงค์เรื่อง “จิตอาสา” ยังสามารถเผยแพร่ไปสู่สังคมไทยได้โดยกว้าง
ในช่วงเดือนตุลาคม 2550-กุมภาพันธ์ 2551 ที่ผ่านมาทางมูลนิธิฯได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ทำการรณรงค์เรื่อง “สัมผัสกาย สัมผัสรัก สัมผัสจิตอาสา” ที่เป็นการทำกิจกรรมตลอดระยะเวลา 6 เดือน ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ให้ประชาชนทั่วไป นิสิต นักศึกษา เยาวชน ได้ทำกิจกรรมจิตอาสาเพื่อเด็กที่ด้อยโอกาสใน สถานสงเคราะห์เด็กอ่อนปากเกร็ด จ.นนทบุรี และเป็นการทำความดีทูลเกล้าถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสที่ทรงเจริญพระชนมายุครบ 80 พรรษา ในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 ซึ่งสอดคล้องกับกิจกรรมหลักของโครงการ “ทำดีเพื่อพ่อ” ของ สสส. อีกทั้งกิจกรรมดังกล่าวยังก่อให้เกิดผลดีต่อสุขภาวะองค์รวมของอาสาสมัครและตัวเด็กเอง และยังแสดงให้เห็นถึงแนวคิดเกี่ยวกับบุญที่เป็นรากฐานของสังคมไทยมาช้านานให้มีพลังในการสร้างสรรค์สังคมไทย มิใช่จำกัดตัวอยู่แต่ในวัดหรือการให้ทานโดยการให้เงินเท่านั้น
มูลนิธิฯ เล็งเห็นว่าการทำกิจกรรมตลอดช่วงเดือนที่ผ่านมาได้ก่อให้เกิดผลดีหลายประการ ตลอดจนอาสาสมัครหลายท่านมีความประสงค์อยากทำงานต่อเนื่อง และต้องการชักชวนให้เพื่อน ๆ ได้มาทำกิจกรรมที่ส่งผลดีต่อสุขภาวะ อีกทั้ง เป็นการชักชวนให้ นิสิต นักศึกษา เยาวชน ได้ทำกิจกรรมจิตอาสาเพื่อเด็กที่ด้อยโอกาสในสังคม ทางมูลนิธิสุขภาพไทย จึงจัดทำโครงการ “สัมผัสกาย สัมผัสรัก สัมผัสจิตอาสา” ระยะที่ 2 ขึ้น ซึ่งเป็นกิจกรรมที่นำศาสตร์ความรู้เรื่องการนวดสัมผัสเด็กทารก และการส่งเสริมการอ่านหนังสือให้แก่เด็ก ซึ่งจะเป็นการหัดอ่านหนังสือ สอนหนังสือแบบง่ายให้กับเด็กๆ เช่น การเขียน ก – ฮ A – Z อ่านหนังสือนิทานให้ฟัง ฝึกวาดรูประบายสี เพื่อกระตุ้นพัฒนาการ มอบความรักและเป็นการส่งเสริมให้เด็กในสถานสงเคราะห์ฯ เกิดจิตสำนึกรักการอ่าน อีกทั้งยังเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนเข้าเรียน โดยทางมูลนิธิฯมุ่งหวังให้เกิดมรรคผลอย่างต่อเนื่อง จึงได้กำหนดระยะเวลาการทำงานเพิ่มขึ้นจากระยะที่ 1 ที่ทำงานเพียง 6 เดือน แต่ในระยะที่ 2 กำหนดไว้ 12 เดือน ตั้งแต่ เดือนกรกฎาคม 2551- ตุลาคม 2552
วัตถุประสงค์
1.) เพื่อสนับสนุนให้นักเรียน นักศึกษาและบุคคลทั่วไป เกิดจิตสำนึกจากการเป็นอาสาสมัครในการบำเพ็ญประโยชน์เพื่อส่วนรวม
2.) เพื่อสนับสนุนให้นักเรียน นักศึกษาและบุคคลทั่วไป ได้สร้างเสริมสุขภาวะและพัฒนาศักยภาพทางด้านจิตใจ ปัญญาของตนเองจากงานอาสาสมัคร
3.)เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ในการนวดเด็ก ไปสู่ชุมชน สถานศึกษาและหน่วยงานราชการ
4.) เพื่อสร้างและขยายเครือข่ายความร่วมมือกับองค์กรที่ทำงานด้านจิตอาสากับสถานศึกษา ชุมชน และหน่วยงานราชการ
5.)เพื่อถอดบทเรียนการเป็นอาสาสมัคร ที่สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพัฒนาการของเด็กๆในสถานสงเคราะห์และสังคม
6.)เพื่อผลักดันให้สถานสงเคราะห์ฯ เปิดพื้นที่งานอาสาสมัครเพิ่มมากขึ้น
กลุ่มเป้าหมายและพื้นที่ดำเนินงาน
กลุ่มเป้าหมายหลัก เปิดรับอาสาสมัคร 2 รุ่น จำนวนรุ่นละ 100 คน รวม 2 รุ่น 200 คน แบ่งประเภท
1. อาสาสมัครทั่วไป จำนวน 70 คน
2. นักเรียนและนักศึกษา จำนวน 30 คน
กลุ่มเป้าหมายรอง เด็กๆในสถานสงเคราะห์ทั้ง 2 รุ่น จำนวนรุ่นละ 100 คน ดังนี้
1. เด็กทารกอายุ 4 เดือนถึง 1 ปี 5 เดือน จำนวน 40 คน
2. เด็กอายุตั้งแต่ 2 - 6 ปี จำนวน 60 คน
สถานที่จัดกิจกรรม สถานสงเคราะห์เด็กอ่อนปากเกร็ด จ.นนทบุรี
การดำเนินกิจกรรม
เปิดรับอาสาสมัคร 2 รุ่น
รุ่นที่ 1 ระหว่างเดือน กรกฎาคม – ธันวาคม 2551
รุ่นที่ 2 ระหว่างเดือน มกราคม – กรกฎาคม 2552
ระยะเวลาดำเนินการคือทุกวันพุธ พฤหัสบดี เสาร์และอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 09.00 – 12.00 น.
จำนวนอาสาสมัครวันละ 25 คน
รูปแบบกิจกรรมและกระบวนการดำเนินงาน
1. เตรียมความพร้อมกับสถานสงเคราะห์และสหทัยมูลนิธิ เพื่อรองรับงานอาสาสมัคร
2. ฝึกอบรมอาสาสมัครผ่านการปฐมนิเทศ ผ่านเนื้อหา
3. จัดกิจกรรมประเมิณผลและสรุปบทเรียน
4. ตารางการดำเนินงานประะจำวันของอาสาสมัคร
09.00 – 09.10 น. อาสาสมัครลงทะเบียนร่วมกิจกรรม
09.10 – 09.30 น. อาสาสมัครไปรับน้องๆที่บ้าน
09.30 – 10.30 น. ดูแลและทำกิจกรรมกับน้อง ตลอดจนกิจกรรมกระตุ้นพัฒนาการเด็ก เช่น
10.30 – 11.00 น. ป้อนข้าวน้องๆ
11.00 – 11.30 น. อาบน้ำให้น้องๆและส่งกลับบ้าน
11.30 – 12.00 น. สรุปบทเรียนและแลกเปลี่ยนประสบการณ์
12.00 – 12.30 น. จดบันทึกพัฒนาการเด็กในแต่ละวัน และรับประทานอาหารร่วมกัน
การประเมินผลและการติดตามโครงการ
ทีมนักวิชาการประเมินผล ที่มีความรู้ด้านพัฒนาการของเด็ก และการดำเนินงานด้านจิตอาสา โดยดำเนินงานแบบอาสาสมัคร ทั้งนี้ในแต่ละกลุ่มมีเวทีสรุปบทเรีบนและขยายผลไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สหทัยมูลนิธิ สถานสงเคราะห์เด็กอ่อนปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ตัวแทนจากมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมโครงการ เป็นต้น
ความต่อเนื่องยั่งยืน และการขยายผล
1.) หลังจากที่โครงการเสร็จสิ้นลง อาสาสมัคร เจ้าหน้าที่สถานสงเคราะห์และเจ้าหน้าที่สหทัยมูลนิธิสามารถนำองค์ความรู้ในการนวดเด็กทารก ไปนวดเด็กในสถานสงเคราะห์และยังสามารถนวดเด็กคนอื่นๆได้ เพื่อกระตุ้นพัฒนาให้เป็นไปตามวัยและสามารถกระทำได้อย่างต่อเนื่องจนกว่าเด็กจะมีอายุถึง 1 ขวบ
2.)หลังจากเกิดชุดองค์ความรู้ในการนวดเด็ก และเผยแพร่สู่สาธารณะนั้น ซึ่งสามารถที่จะกระตุ้นและผลักดันให้ชุดองค์ความรู้นวดเด็กได้เข้าไปอยู่ในระบบการศึกษา
3.) หลังจากที่โครงการเสร็จสิ้นลง อาสาสมัครได้ผลักดันตนเองเข้าไปเป็นอาสาสมัครในสถานสงเคราะห์ เพื่อกระตุ้นพัฒนาการงานอาสาสมัครในหน่วยงานราชการ
4.) ได้ขยายผลด้านงานอาสาสมัครสู่สังคมวงกว้างมากขึ้น
5.) อาสาสมัครได้รับการส่งเสริมการดูแลสุขภาวะทางจิตใจและปัญญาเพิ่มขึ้น
ตัวชี้วัด
1.) มีอาสามัครสนใจเข้าร่วมกิจกรรมประมาณ 200-300 คน
2.) องค์ความรู้เรื่องนวดสัมผัสเด็กทารกได้ถูกขยายผลไปในหมู่มหาวิทยาลัย โรงเรียน และประชาชนทั่วไป
3.)
เด็กในสถานสงเคราะห์มีพัฒนาการเป็นไปตามวัยอย่างเหมาะสม
4.)
ทางสถานสงเคราะห์ฯ หน่วยงานราชการและเอกชนให้ความสำคัญด้านงานอาสาสมัครมากขึ้น
8. องค์กรภาคีร่วมงาน
1. สหทัยมูลนิธิ
2. สถานสงเคราะห์เด็กอ่อนปากเกร็ด จ. นนทบุรี
3. เครือข่ายพุทธิกา
4. มูลนิธิโกมลคีมทอง
รับผิดชอบโครงการ
น.ส.นริศรา อารมณ์ชื่น
มูลนิธิสุขภาพไทย
ประสานงาน "เวทีสร้างสุข"
โครงการสื่อสารสร้างสุข สสส.
๖๕๓/๔๓ ซ.๔๑ ถ.จรัญสนิทวงศ์
อรุณอมรินทร์ บางกอกน้อย กทม. ๑๐๗๐๐
โทร.๐๘๙-๘๙๒๑๗๙๑
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit