กระทรวงการคลังเร่งช่วยผู้ส่งออก ตั้งเป้า ให้สินเชื่อและประกันการส่งออก 2 แสนล้านบาท

06 Feb 2009

กรุงเทพฯ--6 ก.พ.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง

“นายพฤฒิชัย ดำรงรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง มอบนโยบายธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เร่งช่วยผู้ส่งออก ตั้งเป้าการให้สินเชื่อ 5.8 หมื่นล้านบาท และการประกัน การส่งออก 1.5 แสนล้านบาท”

นายพฤฒิชัย ดำรงรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้เปิดเผยภายหลังจากการหารือกับนายอภิชัย บุญธีรวร กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) เมื่อเวลา 9.30 น เพื่อรับฟังปัญหา แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและมอบนโยบาย สาระสำคัญสรุปได้ดังนี้

1. การเร่งปล่อยสินเชื่อให้ได้ตามเป้าหมาย โดยที่ผู้ออกได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจโลกจึงมีความจำเป็นที่ต้องได้รับการช่วยเหลือเป็นพิเศษ และกระทรวงการคลังมีนโยบายบรรเทาปัญหาผู้ส่งออกจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก ได้ตั้งเป้าการให้สินเชื่อสำหรับ EXIM Bank ปี 2552 จำนวน 58,000 ล้านบาท ให้ความสำคัญกับ ภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากจากวิกฤตโลก ติตตามให้ความช่วยเหลือด้านต่าง ๆ แก่ผู้ส่งออก อย่างใกล้ชิด ตลอดจนขยายเวลาการให้กู้ยืม และการให้ดอกเบี้ยแบบคงที่

2. การประกันความเสี่ยงการส่งออกให้ได้ตามเป้าหมาย ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของกระทรวงการคลัง โดยคณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบเมื่อวันอังคารที่ 3 กุมภาพันธ์ 2552 ตามคำขอของกระทรวงการคลังในการจัดหาเงินเพิ่มทุนให้ EXIM Bank จำนวน 5,000 ล้านบาท เพื่อให้ EXIM Bank สามารถให้บริการประกันการส่งออกตามเป้าหมาย 150,000 ล้านบาท ต่อปี ซึ่งการประกันความเสี่ยงนี้มีความสำคัญเนื่องจากผู้ส่งออกจำนวนมาก ได้รับการปฎิเสธการให้สินเชื่อ จากธนาคารพาณิชย์ แต่ถ้าผู้ส่งออกได้รับการประกันการส่งออกจาก EXIM Bank ก็จะสามารถรับสินเชื่อได้ สำหรับกลุ่มเป้าหมาย คือกลุ่มอัญมณีและสิ่งทอ กลุ่มอุตสาหกรรมข้าว ยางพารา อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ตลอดจนกลุ่มอุตสาหกรรมที่สนใจในบริการประกันส่งออก สำหรับการให้บริการประกันการส่งออกสามารถให้บริการกับสินค้าทุกประเภท โดยมีการคุ้มครอง 2 ประเภทคือ 1) การประกันความเสี่ยงทางการค้า จากกรณีผู้ซื้อล้มละลาย ผู้ซื้อไม่ชำระค่าสินค้าและผู้ซื้อปฏิเสธการรับมอบสินค้า และ 2) การประกันความเสี่ยงทางการเมือง กรณีผู้ซื้อไม่สามารถนำสินค้าเข้าในประเทศได้ เกิดสงคราม จลาจล ปฏิวัติ รัฐประหาร และ เกิดการควบคุม การโอนเงินมายังประเทศไทย

3. การเพิ่มบทบาทการเป็นธนาคารเพื่อการพัฒนาในการส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ เพิ่มบทบาทการสนับสนุนการทำธุรกิจและการลงทุนในต่างประเทศของนักธุรกิจไทย สนับสนุน ให้ครบวงจรทั้งสินเชื่อแบบครบวงจร การค้ำประกันความเสี่ยง การให้คำปรึกษาทั้งทางการเงิน การค้าและการลงทุน การให้ข้อมูลรวมทั้งการวิจัยเชิงลึกที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ให้เร่งดำเนินการเปิดสาขาในต่างประเทศเพิ่มขึ้น หลังจาก ที่ได้เปิดสาขาแรกที่กรุงมอสโกประเทศรัสเซีย

4. การร่วมทำงานกับธนาคารเฉพาะกิจของรัฐเพื่อเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม โดยเร่งดำเนินการให้บริการด้านต่างประเทศแก่ลูกค้าขนาดกลางและขนาดย่อมที่เป็นลูกค้าของธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ อาทิ ธนาคารเพื่อวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อย และธนาคารออมสิน ตลอดจนการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ

นายพฤติชัย ดำรงรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่าบทบาท EXIM Bank ทวีความสำคัญมากขึ้นในช่วงเวลาที่การส่งออกของประเทศกำลังมีปัญหาจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก การให้สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์เป็นไปอย่างจำกัด ขณะที่ผู้ประกอบการจำนวนมากกำลังขาดสภาพคล่อง มีความต้องการสินเชื่อ EXIM Bank ต้องให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการอย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม ต้องมีความเป็นมืออาชีพ คำนึง ถึงความเสี่ยงต่าง ๆ ของ EXIM Bank อย่างรอบคอบ