ปภ.แนะ 8 จุดเสี่ยงที่มักเกิดอุบัติภัยในโรงเรียน

07 May 2009

กรุงเทพฯ--7 พ.ค.--ปภ.

กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย แนะผู้บริหารสถานศึกษาและครูร่วมกันตรวจสอบ ปรับปรุง แก้ไขจุดเสี่ยง เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมในโรงเรียนที่ปลอดภัย โดยเฉพาะ ๘ จุดเสี่ยงที่มักเกิดอุบัติเหตุกับเด็กเป็นประจำ ทั้งประตูโรงเรียน เครื่องใช้ไฟฟ้า โต๊ะ เก้าอี้ บันได สนามเด็กเล่น บ่อน้ำและบริเวณที่กำลังก่อสร้างเพื่อลดอุบัติภัยที่อาจเกิดขึ้นกับเด็กในโรงเรียนได้

นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า สัปดาห์หน้าสถานศึกษาต่างๆจะเริ่มเปิดภาคเรียนแล้ว ซึ่งโรงเรียนถือเป็นบ้านหลังที่ ๒ ของเด็กที่มักใช้เวลาส่วนใหญ่ประกอบกิจกรรมต่างๆ ภายในโรงเรียน ประกอบกับเด็กอยู่ในวัยซุกซน หากสภาพแวดล้อมในโรงเรียนไม่ปลอดภัย จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิดได้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ขอแนะ ๘ จุดเสี่ยงที่มักเกิดอุบัติเหตุเป็นประจำในสถานศึกษา เพื่อให้ผู้บริหารสถานศึกษา ครูและผู้ดูแลโรงเรียนร่วมกันตรวจสอบ ปรับปรุง แก้ไขจุดเสี่ยง เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมในโรงเรียนที่ปลอดภัย ดังนี้

ประตูโรงเรียน ควรตรวจสอบให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง ล้อเลื่อนประตูอยู่ในรางและมีน๊อตยึดติดอย่างแน่นหนา หากพบว่าชำรุดหรือเปิด-ปิดยาก ควรแจ้งให้ช่างผู้ชำนาญการมาซ่อมแซมหรือเปลี่ยนใหม่ทันที เพื่อป้องกันประตูล้มทับเด็ก เครื่องใช้ไฟฟ้า ติดตั้งปลั๊กไฟไว้บนที่สูงให้พ้นจากมือเด็ก เพื่อป้องกันเด็กเอานิ้วแหย่เล่น ทำให้ถูกไฟฟ้าดูดเสียชีวิต ติดตั้งเครื่องตัดกระแสไฟลัดวงจร รวมทั้งหมั่นตรวจสอบเครื่องใช้ไฟฟ้าให้อยู่ในสภาพที่ปลอดภัย โดยเฉพาะบริเวณแท้งค์น้ำหรือตู้น้ำดื่ม ซึ่งมักเกิดกระแสไฟฟ้ารั่วหรือไฟฟ้าช็อต ทำให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตและทรัพย์สิน โต๊ะ เก้าอี้ ควรตรวจสอบให้อยู่ในสภาพมั่นคง แข็งแรง ไม่โยกเยก ไม่มีตะปูแหลมคมยื่นออกมา เพราะหากเด็กกระโดดเล่นอาจพลัดตกลงมาโดนตะปูทิ่ม ได้รับบาดเจ็บ บันได ควรซ่อมแซมบันไดให้อยู่ในสภาพแข็งแรง โดยเฉพาะบันไดที่เป็นไม้ เพราะอาจโดนปลวกกัดกินจนผุผัง หากเด็กยืนพิง หรือกระโดดเล่น อาจตกบันไดได้ สนามเด็กเล่น ยึดติดเครื่องเล่นกับพื้นอย่างแน่นหนา โดยเฉพาะเครื่องเล่นที่หมุนหรือเคลื่อนที่ได้ เช่น ลูกโลก ชิงช้า เป็นต้น เพื่อป้องกันเครื่องเล่นล้มทับเด็ก และควรตรวจสอบเครื่องเล่นให้อยู่ในสภาพที่มั่นคงและแข็งแรงอยู่เสมอ หากพบว่าเครื่องเล่นชำรุดควรรีบแจ้งช่างมาดำเนินการแก้ไขทันที จัดพื้นที่สนามเด็กเล่นให้เป็นสัดส่วนทำรั้วรอบสนามเด็กเล่น เพื่อป้องกันเด็กแอบเข้าไปเล่นในช่วงที่ไม่มีเจ้าหน้าที่ดูแล บ่อน้ำ ควรจัดทำรั้วกั้นแหล่งน้ำภายในโรงเรียน และติดตั้งป้ายเตือนอันตรายจากการเล่นบริเวณริมน้ำ เพราะหากลื่นพลัดตก อาจทำให้จมน้ำเสียชีวิตได้ สนามกีฬา ควรตรวจสอบมิให้สนามเป็นหลุมเป็นบ่อ หรือมีเศษวัสดุของมีคม เพราะเสี่ยงต่อการเหยียบโดนจนได้รับบาดเจ็บ รวมทั้งดูแลมิให้หญ้าขึ้นรก เพราะอาจเป็นที่อาศัยของสัตว์มีพิษได้ อาคารที่กำลังก่อสร้าง ควรจัดทำรั้วกั้นหรือใช้ผ้าคลุมบริเวณที่กำลังก่อสร้าง ติดตั้งป้ายและประกาศเตือนมิให้เด็กเข้าไปเล่นในบริเวณดังกล่าว เพราะอาจได้รับอันตรายจากวัสดุก่อสร้าง เช่น กระจก กระเบื้อง ตะปู เป็นต้น

สุดท้ายนี้ หากผู้บริหารสถานศึกษาและครูหมั่นดูแลเอาใจใส่และสร้างสภาพแวดล้อมในโรงเรียน ที่ปลอดภัย และกำหนดมาตรการป้องกันอันตรายในโรงเรียน ก็จะสามารถลดอุบัติภัยที่อาจเกิดขึ้นกับเด็กในโรงเรียนได้