กรุงเทพฯ--15 พ.ค.--วีโร่ พับลิครีเลชั่นส์
กลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ (บีเอสเอ) ได้เผยผลการศึกษาของไอดีซี-บีเอสเอเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ครั้งที่ 6 ที่ทำการศึกษาโดยไอดีซี บริษัทศึกษาวิจัยตลาดด้านเทคโนโลยีสารสนเทศชั้นนำระดับโลกพบว่า อัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์สำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์พีซีในประเทศไทยลดลง 2 เปอร์เซ็นต์เป็นปีที่สองติดต่อกันโดยอยู่ที่ 76 เปอร์เซ็นต์ในปี 2551 อย่างไรก็ตาม มูลค่าความสูญเสียที่เกิดจากการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในประเทศไทยยังคงอยู่ในอัตราที่สูงขึ้นคิดเป็นมูลค่า 609 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐในปี 2551 เมื่อเทียบกับปี 2550 ที่มีมูลค่า 468 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ
แม้ว่าการศึกษาอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ปี 2551 ใน 110 ประเทศทั่วโลก พบว่าใน 57 ประเทศ มีอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ลดลงเล็กน้อย ใน 36 ประเทศคงอัตราเดิมและ16 ประเทศที่มีอัตราการละเมิดซอฟต์แวร์สูงขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม อัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในเครื่องคอมพิวเตอร์พีซีทั่วโลกยังคงมีอัตราสูงขึ้นเป็นปีที่สองจาก 38 เปอร์เซ็นต์เป็น 41 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากการนำเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ทางเรือมีอัตราเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในประเทศที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์สูง อย่างเช่น ประเทศจีนและอินเดีย ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย
“ผลการศึกษาครั้งนี้เป็นสัญญาณที่ดีสำหรับผู้ประดิษฐ์คิดค้นนวัตกรรม อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ และภาคธุรกิจโดยรวมของไทย” นางสาวศิริภัทร ภัทรางกูร โฆษกคณะกรรมการกลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ประจำประเทศไทยกล่าว “ความพยายามของกรมทรัพย์สินทางปัญญาในการให้ความรู้แก่ภาคธุรกิจ ประกอบกับการป้องปรามอย่างจริงจังของตำรวจ ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางดีเช่นนี้ขึ้น อย่างไรก็ตามเรายังจำเป็นต้องดำเนินการกับผู้ที่ละเมิดพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ไทยต่อไป อัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ที่ 76 เปอร์เซ็นต์นั้นสูงเกินกว่าที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไปข้างหน้าได้”
มูลค่าความสูญเสียที่เกิดแก่อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์โลกจากการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์บนพีซีทะลุ 50,000 ล้านเหรียญสหรัฐเป็นครั้งแรก มูลค่าความสูญเสียทั่วโลกเพิ่มขึ้น 11 เปอร์เซ็นต์คิดเป็น 53 พันล้านเหรียญสหรัฐ แต่กว่าครึ่งเป็นผลมาจากการอ่อนค่าของเงินสกุลดอลลาร์ หากไม่คิดผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน มูลค่าความสูญเสียเพิ่มสูงขึ้น 5 เปอร์เซ็นต์ เป็น 50.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ
“เราคืบหน้าไปมากในการต่อสู้กับการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์บนพีซี ซึ่งไม่เพียงส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เท่านั้นแต่ยังส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและสังคมในวงกว้างด้วย” มร. โรเบิร์ต ฮอลลี่แมน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์กล่าว “ข่าวร้ายคือการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ยังคงเกิดขึ้นทั่วโลก ส่งผลเสียต่อบริษัทผู้ให้บริการด้านไอที สร้างความได้เปรียบทางธุรกิจที่ไม่เป็นธรรมให้แก่ผู้ที่ใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ รวมทั้งเพิ่มความเสี่ยงในเรื่องความปลอดภัย”
มร. เจฟฟรีย์ ฮาร์ดีย์ รองประธานและผู้อำนวยการประจำภูมิภาคเอเชียของบีเอสเอ กล่าวถึงผลการศึกษาครั้งนี้ว่า “ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก อัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์บนพีซีลดลงใน 8 ประเทศ คงที่ใน 7 ประเทศ และเพิ่มขึ้นใน 3 ประเทศ อัตราการละเมิดลิขสิทธิ์เฉลี่ยของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเพิ่มขึ้นเป็น 61 เปอร์เซ็นต์ จาก 59 เปอร์เซ็นต์เมื่อปีที่แล้ว โดยมีมูลค่าความสูญเสียกว่า 15 พันล้านเหรียญสหรัฐ อัตราการละเมิดลิขสิทธิ์เฉลี่ยของภูมิภาคเพิ่มขึ้นเนื่องจากการเติบโตของตลาดพีซีในประเทศที่มีอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์สูง แม้ว่าอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ในประเทศที่มีอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์สูงเหล่านี้จะลดลง การเติบโตของตลาดพีซียังอาจทำให้อัตราการละเมิดลิขสิทธิ์เฉลี่ยของทั้งภูมิภาคเพิ่มขึ้นอยู่ดี”
“เรายินดีที่ประเทศอย่างเช่น จีน กำลังเดินไปในทิศทางที่ถูกต้องในการลดอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์บนพีซี เช่นเดียวกับการที่รัฐบาลของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ให้การสนับสนุนโดยจัดทำโครงการรณรงค์สร้างความรับรู้ ชักชวนภาคธุรกิจให้ปรับเปลี่ยนมาใช้ซอฟต์แวร์ที่มีลิขสิทธิ์ถูกต้อง ดำเนินคดีกับผู้ที่ละเมิด ตลอดจนวางกรอบทางกฎหมายให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น อย่างไรก็ดีปัญหายังคงมีอยู่ กลุ่มหนึ่งที่มีปัญหามาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดเกิดใหม่ คือผู้บริโภคและธุรกิจขนาดเล็กที่ซื้อคอมพิวเตอร์ประกอบเองไม่มียี่ห้อซึ่งมักติดตั้งซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์มาพร้อมกับเครื่อง” มร. ฮาร์ดีย์กล่าว
“การเข้าถึงซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์บนอินเตอร์เน็ต ซึ่งเพิ่มมากขึ้นตามการใช้งานอินเตอร์เน็ต บรอดแบนด์ความเร็วสูงในภูมิภาคนี้เป็นอีกปัญหาหนึ่ง” มร. ฮาร์ดีย์เสริม “นอกจากนี้ เราพบบ่อยว่าบริษัทต่างๆ ขาดนโยบายในการบริหารจัดการสินทรัพย์ประเภทซอฟต์แวร์ ทั้งๆ ที่ควรมีแนวทางดังกล่าวเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ในที่ทำงาน ตลอดจนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งานซอฟต์แวร์และประสิทธิผลในการทำงาน”
ผลเสียนั้นกว้างกว่าแค่อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์
การละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวาง ตัวอย่างเช่น ทุกๆ 1 ดอลลาร์ที่จ่ายไปเพื่อซื้อซอฟต์แวร์ที่มีลิขสิทธิ์ถูกต้อง อีก 3-4 ดอลลาร์จะถูกจ่ายไปกับบริการต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องโดย ผู้ให้บริการในประเทศ การศึกษาของไอดีซีในปี 2551 นี้ทำนายว่าหากอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ลดลง 10 จุดภายใน 4 ปี จะเกิดการจ้างงานใหม่ 600,000 ตำแหน่งทั่วโลก การทำนายนั้นได้รับการยืนยันโดยประสบการณ์จริงในจีนและรัสเซีย ผลการศึกษาครั้งใหม่บอกไว้เช่นนั้น
การละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ยังทำให้การจัดเก็บภาษีรายได้ลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่รัฐบาลต้องเผชิญกับความกดดันด้านเศรษฐกิจ การศึกษาปี 2551 ระบุว่าหากอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ลดลง 10 จุด รายได้ของรัฐจะเพิ่มขึ้น 24,000 ล้านเหรียญ โดยไม่ต้องขึ้นภาษี
การละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ยังเพิ่มปัญหาด้านอาชญากรรมคอมพิวเตอร์และความปลอดภัย ตัวอย่างเช่น การระบาดของไวรัสคอนฟิคเกอร์ (Conficker) ไปทั่วโลกเมื่อเร็วๆ นี้ สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการใช้ซอฟต์แวร์เถื่อนที่ปราศจากการอัพเดตด้านความปลอดภัยโดยอัตโนมัติ จากการศึกษาเมื่อปี 2549 ไอดีซีพบว่า เว็บไซต์ 29 เปอร์เซ็นต์และเพียร์ ทู เพียร์ ไซต์ 61 เปอร์เซ็นต์ที่นำเสนอซอฟต์แวร์เถื่อน พยายามโจมตีคอมพิวเตอร์ที่ใช้ทดสอบด้วยโทรจัน (Trojan) สปายแวร์ (Spyware) คีย์ล็อกเกอร์ (Keylogger) และเครื่องมืออื่นๆ เพื่อขโมยข้อมูลส่วนบุคคล
ผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำยังสรุปไม่ได้
การศึกษาระบุว่าภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกส่งผลกระทบต่อการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในหลายทาง มร. วิคเตอร์ ลิม รองประธานด้านกิจการให้คำปรึกษา ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของไอดีซีกล่าวว่า ผู้บริโภคซึ่งมีกำลังซื้อลดลงอาจเก็บคอมพิวเตอร์ไว้ใช้งานนานขึ้น ซึ่งมีแนวโน้มทำให้การละเมิดลิขสิทธิ์เพิ่มขึ้นตาม เนื่องจากคอมพิวเตอร์เครื่องเก่ามักมีซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์บรรจุอยู่มากกว่า อย่างไรก็ดีกระแสความนิยมและยอดขายของ “เน็ตบุ๊ค” ที่มีราคาไม่แพงมักจะมาพร้อมกับซอฟต์แวร์ที่มีลิขสิทธิ์ถูกต้อง ซึ่งอาจจะกระตุ้นให้องค์กรและธุรกิจต่างๆมีการบริหารจัดการสินทรัพย์ซอฟต์แวร์ที่ดีขึ้น เพื่อเพิ่มความมีประสิทธิภาพ ในขณะเดียวกันยังทำให้ค่าใช้จ่ายทางด้านไอทีลดลงด้วย
กำลังซื้อที่ลดลงเป็นเพียงหนึ่งในหลายปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์” มร. ลิมกล่าว “ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำย่อมส่งผลกระทบ ทั้งในแง่บวก และแง่ลบ แต่เป็นเพียงปัจจัยหนึ่งในหลายๆ อย่างและคงยังบอกไม่ได้ชัดเจนจนกว่าตัวเลขของปี 2552 จะออกมา”
ผลการศึกษาสำคัญอื่นๆ มีดังต่อไปนี้
“ยังดีที่ประสบการณ์ที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าเราสามารถลดอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ลงได้โดยใช้หลายวิธีประกอบกัน ได้แก่ การให้ความรู้แก่ผู้บริโภค การมีนโยบายด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้มแข็ง การบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพ และโปรแกรมจูงใจให้ปรับเปลี่ยนมาใช้ซอฟต์แวร์ที่ถูกกฎหมายสำหรับธุรกิจและหน่วยงานภาครัฐ ความคืบหน้าในหลายประเทศในภูมิภาคนี้คือข้อพิสูจน์ว่าว่าวิธีการเหล่านี้ได้ผล และรัฐบาล ธุรกิจ ตลอดจนผู้บริโภคล้วนแต่ได้รับประโยชน์ด้วยกันทั้งสิ้น” มร. ฮาร์ดีย์กล่าว
การศึกษาของบีเอสเอ-ไอดีซีครั้งนี้ ครอบคลุมการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์สำเร็จรูปทั้งหมดที่ใช้งานบนเครื่องพีซี ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ แล็บท็อป หรือคอมพิวเตอร์พกพา การศึกษาครั้งนี้ไม่ครอบคลุมซอฟต์แวร์ประเภทอื่นๆ เช่น ซอฟต์แวร์ที่ใช้งานบนเซิร์ฟเวอร์ หรือเมนเฟรม
ผลการศึกษาฉบับเต็ม สามารถหาอ่านได้จาก
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
ชลิดา ศิริสุทธิเดชา
วีโร่ พับลิครีเลชั่นส์
โทร +66 (0) 2684 1551
อีเมล์ [email protected]