กรุงเทพฯ--17 เม.ย.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศปรับลดอันดับเครดิตสากลของธนาคารไทย 4 แห่งและปรับแนวโน้มอันดับเครดิตสากลของธนาคารดังกล่าวเป็นมีเสถียรภาพจากแนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ การปรับอันดับเครดิตสากลและแนวโน้มอันดับเครดิตของธนาคารไทยดังกล่าว เป็นผลมาจากการที่ฟิทช์ได้ปรับลดอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ และอันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะยาวของประเทศไทยเป็น ‘BBB’ จาก ‘BBB+’ และเป็น ‘A-’ (A ลบ) จาก ‘A’ ตามลำดับ พร้อมทั้งปรับแนวโน้มอันดับเครดิตของประเทศไทยเป็นมีเสถียรภาพจากแนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ นอกจากนี้ ฟิทช์ยังได้ปรับลดอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นของประเทศไทยเป็น ‘F3’ จาก ‘F2’ และปรับลด Country Ceiling เป็น ‘BBB+’ จาก ‘A-’ (A ลบ)
การปรับลดอันดับเครดิตสากลของธนาคารกรุงไทย (KTB) และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM) สะท้อนถึงการอ่อนแอลงของความสามารถของรัฐบาลที่จะให้การสนับสนุนแก่ธนาคารทั้ง 2 แห่ง หากมีความจำเป็น โดยกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงิน (FIDF) ที่จัดตั้งโดยธนาคารแห่งประเทศไทยถือหุ้น KTB อยู่ 55% ในขณะที่กระทรวงการคลังถือหุ้นทั้งหมดใน EXIM
การปรับลดอันดับเครดิตสากลของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) (SCBT) และ ธนาคารยูโอบี (UOBT) เป็นผลมาจากการปรับลด Country Ceiling ของประเทศไทย โดย Country Ceiling ได้พิจารณาถึงความเสี่ยงในด้านการโอนเงินออกนอกประเทศ และการแลกเปลี่ยนสกุลเงินในประเทศเป็นสกุลเงินต่างประเทศ (transfer and convertibility risks) และจำกัดระดับของการสนับสนุนจากบริษัทแม่ที่อยู่ในต่างประเทศที่มีต่อธนาคารไทยที่เป็นบริษัทลูก ที่สะท้อนอยู่ในอันดับเครดิตสากลระยะยาวของบริษัทลูก
สำหรับอันดับเครดิตสากลของธนาคารเอกชน 5 แห่ง ซึ่งรวมถึง ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) และธนาคารทหารไทย (TMB) ไม่ได้รับผลกระทบจากการปรับลดอันดับเครดิตของประเทศ เนื่องจากอันดับเครดิตของธนาคาร 5 แห่งดังกล่าวมีปัจจัยหลักมาจากความแข็งแกร่งทางการเงินของตัวธนาคารเอง ซึ่งยังจัดว่าอยู่ในระดับที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม การหดตัวที่รุนแรงของเศรษฐกิจ (ฟิทช์ประมาณการว่าเศรษฐกิจไทยจะติดลบ 3.8% ในปี 2552) อาจส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของธนาคารในอีก 2 ปีข้างหน้า ดังนั้นแนวโน้มอันดับเครดิตสากลของธนาคารเอกชนทั้ง 5 แห่งจึงยังคงเป็นลบอยู่ การถือหุ้นและการควบคุมของรัฐบาลในธนาคารเอกชนอยู่ในระดับที่จำกัดและธนาคารเอกชนมีการลงทุนในตราสารของรัฐบาลไทยและมีการปล่อยสินเชื่อให้รัฐบาลรวมกันในสัดส่วนที่ต่ำกว่า 20% ของสินทรัพย์ ซึ่งเป็นระดับที่ไม่สูงนัก
เนื่องจากการจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) เป็นการจัดอันดับในเชิงเปรียบเทียบระหว่างอันดับเครดิตของประเทศและบริษัทผู้ออกตราสารหนี้อื่นๆในประเทศไทย ดังนั้นจึงไม่มีการเปลี่ยนแปลงในส่วนของอันดับเครดิตภายในประเทศในขณะนี้ ทั้งนี้อันดับเครดิตภายในประเทศของ KTB EXIM SCBT และ UOBT ได้รับการคงอันดับโดยมีแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ รายละเอียดของอันดับเครดิตของธนาคารที่ได้รับผลกระทบมีดังนี้
ธนาคารกรุงไทย:
ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย:
ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย):
ธนาคารยูโอบี:
นักลงทุนสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติม ในเรื่องการปรับลดอันดับเครดิตสากลของประเทศไทยได้จากที่www.fitchresearch.com
ติดต่อ
พชร ศรายุทธ; Vincent Milton, กรุงเทพฯ +662 655 4755
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit