กรุงเทพฯ--24 ต.ค.--วีโร่ พับลิครีเลชั่นส์
ตำรวจไทยโชว์ผลงานเข้าตรวจค้นจับกุมบริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ รวมมูลค่าซอฟต์แวร์ที่ถูกละเมิดทั้งสิ้นกว่า 1.25 ล้านบาท โดยบริษัทถูกตั้งข้อหาว่าใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์บนเครื่องคอมพิวเตอร์ อย่างน้อย 68 เครื่อง
“เรามุ่งมั่นที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเข้มงวด” พ.ต.อ. ศรายุทธ พูลธัญญะ รองผู้บังคับการ กองปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี (บก. ปศท.) กล่าว “เราจะเดินหน้าจัดการกับธุรกิจที่ละเมิดกฎหมายลิขสิทธิ์ต่อไป”
บุคคลต่างๆ ในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ต่างชื่นชมความพยายามของบก. ปศท. ที่มุ่งมั่นลดอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ของไทยที่ปัจจุบันมีอัตราสูงถึง 78% ของปริมาณการใช้ซอฟต์แวร์ทั้งหมด
มร. ดรุณ ซอว์นีย์ ผู้อำนวยการฝ่ายปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ ประจำภูมิภาคเอเชียของบีเอสเอกล่าว ชื่นชมผลงานของบก. ปศท. ในครั้งนี้ว่า “ตำรวจไทยทำงานได้ดีเยี่ยม ประเทศไทยมีศักยภาพที่จะเป็นศูนย์กลางด้านนวัตกรรมไอทีได้ แต่ปัจจุบันศักยภาพนี้ถูกบดบังด้วยปัญหาซอฟต์แวร์เถื่อน เจ้าหน้าที่ไทยกำลังแสดงให้เห็นถึงความพยายามในการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาโดยการมุ่งมั่นป้องปรามซอฟต์แวร์เถื่อนอย่างจริงจัง”
นอกจากบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ดังกล่าวแล้ว ตำรวจยังส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้นบริษัทที่ต้องสงสัยว่าละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์อีก 5 แห่ง การเข้าตรวจค้นในครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากการสืบสวนรวบรวมพยานหลักฐานกว่าหนึ่งเดือน ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาผ่อนผันเพื่อให้ธุรกิจปรับเปลี่ยนมาใช้ซอฟต์แวร์ที่มีลิขสิทธิ์ถูกต้อง ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ที่ตรวจพบมีทั้งซอฟต์แวร์ของบริษัทต่างชาติและของบริษัทไทย คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 4.8 ล้านบาท
การเข้าดำเนินการตรวจค้นครั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องใช้ความพยายามอย่างยิ่งในการตรวจสอบและวิเคราะห์คอมพิวเตอร์แต่ละเครื่องที่พบ ปัจจุบันการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจยังดำเนินอยู่ต่อไปโดยมุ่งเข้าไปที่บริษัทที่ได้รับรายงานว่ามีการกระทำที่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์
“อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยพยายามอย่างหนักเพื่อช่วยให้องค์กรธุรกิจหลีกเลี่ยงปัญหาเกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์” นางสาวศิริภัทร ภัทรางกูร โฆษกคณะกรรมการกลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ประจำประเทศไทยกล่าว “เราได้จัดสัมมนาเรื่องการบริหารจัดการสินทรัพย์ประเภทซอฟต์แวร์อย่างต่อเนื่อง เราพูดคุยกับผู้นำธุรกิจโดยตรง และร่วมมือกับภาครัฐในโครงการรณรงค์ให้ความรู้ทั่วประเทศ เราตั้งใจจริงที่จะให้ความช่วยเหลือแต่ผู้นำองค์กรธุรกิจก็จำเป็นต้องให้ความร่วมมือโดยการปฏิบัติตามกฎหมายลิขสิทธิ์เช่นเดียวกัน”
ถึงแม้สหรัฐอเมริกายังคงจัดให้ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่ต้องถูกจับตามองเป็นพิเศษ แต่ยังมีสัญญาณที่แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยดำเนินการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอย่างจริงจัง โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญาไทยได้เร่งประสานงานกับองค์กรธุรกิจต่างๆเพื่อให้ปฏิบัติตามกฎหมายและนโยบายของรัฐในการคุ้มครองลิขสิทธิ์ ทางฝ่ายตำรวจเองก็ดำเนินการตรวจค้นจับกุมธุรกิจที่ละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์อย่างต่อเนื่อง
“เราเห็นว่าการป้องปรามซอฟต์แวร์เถื่อนเป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมให้ไทยเป็นประเทศชั้นนำของโลกในเรื่องการบ่มเพาะนวัตกรรม เรามุ่งมั่นทำให้ผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมรู้สึกว่าผลงานของตนได้รับการปกป้อง” พ.ต.อ. ศรายุทธกล่าว “เราจะเดินหน้าจัดการกับธุรกิจที่ละเมิดกฎหมายลิขสิทธิ์ของไทยต่อไปอย่างแน่นอน”
แม้ว่าจะมีความพยายามในการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ไทยก้าวไปสู่ตลาดระดับนานาชาติ แต่สถานการณ์ด้านซอฟต์แวร์เถื่อนเปรียบเสมือนตัวถ่วงที่บั่นทอนศักยภาพในการเติบโตของตลาดทั้งในและนอกประเทศ ซอฟต์แวร์หนึ่งที่พบว่าถูกละเมิดบ่อยคือซอฟต์แวร์พจนานุกรมภาษาไทย-อังกฤษที่พัฒนาขึ้นโดยบริษัทของไทยเอง
หากลดอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในประเทศไทยลงได้ 10% ภายใน 4 ปีข้างหน้า จะเกิดการจ้างงานเพิ่ม 2,100 ตำแหน่ง การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจะมีมูลค่ากว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 35,000 ล้านบาท) และรัฐจะสามารถจัดเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้น 55 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 2,275 ล้านบาท) ผลการศึกษาของไอดีซีเมื่อต้นปีนี้ระบุไว้เช่นนั้น
การศึกษาเดียวกันบ่งชี้ว่าอุตสาหกรรมไอทีมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของไทย ในปีพ.ศ. 2550 ประเทศไทยใช้เงินเกือบ 120,000 ล้านบาท หรือราว 1.8% ของผลผลิตมวลรวมประชาชาติ (จีดีพี) ไปกับเทคโนโลยีสารสนเทศซึ่งรวมถึงคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์เชื่อมต่อ อุปกรณ์เครือข่าย ซอฟต์แวร์สำเร็จรูปและบริการด้าน ไอทีต่างๆ ไทยมีบริษัทด้านไอทีกว่า 5,600 บริษัท พนักงานด้านไอทีเกือบ 40,500 คน ซึ่งทำให้มีรายได้เข้ารัฐในรูปแบบภาษีที่เกี่ยวกับกิจการด้านไอทีราว 12,840 ล้านบาท
แต่ถึงอย่างนั้น รายได้จากภาคไอทีของประเทศอาจสูงขึ้นได้อีกหากอัตราการละเมิดลิขสิทธ์ซอฟต์แวร์สำหรับเครื่องพีซีลดลง 10% ภายในปีพ.ศ. 2554 และจะส่งผลให้เกิดการจ้างงานและบริษัทใหม่ๆ ลดความเสี่ยงทางธุรกิจ รวมทั้งเป็นแหล่งทุนแก่การให้บริการของรัฐโดยไม่ต้องเก็บภาษีเพิ่ม
ยิ่งไปกว่านั้น การลดอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ยังมีผลดีแบบทวีคูณ การศึกษาของไอดีซีพบว่าทุกๆ 1 ดอลล่าร์ที่จ่ายไปเพื่อซื้อซอฟต์แวร์สำเร็จรูปที่มีลิขสิทธิ์ถูกต้อง อีก 1.25 ดอลล่าร์จะถูกจ่ายไปกับบริการต่างๆที่เกี่ยวเนื่องโดยผู้ให้บริการในประเทศ เช่น การติดตั้งซอฟต์แวร์ การอบรมบุคลากรและบริการบำรุงรักษา
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ:
วีโร่ พับลิครีเลชั่นส์
อาทิมา ตันติกุล
+66 (0) 2684-1551
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net