กรุงเทพฯ--30 ต.ค.--คิธ แอนด์ คิน
ดั๊บเบิ้ล เอ ร่วมกับโรงสี และท่าข้าว ทั่วประเทศ ช่วยเกษตรกรรับมือวิกฤติเศรษฐกิจโลก ทำโครงการ 101 ต้นบนคันนาแก้โลกร้อน ชวนชาวนาเป็นเจ้าของธนาคารต้นไม้ รับฝากปลูกต้นกระดาษดั๊บเบิ้ล เอ รับผลตอบแทนต้นละ 30 บาทโดยไม่ต้องลงทุน และรับสิทธิพิเศษ 101 ต้นแรก รับผลตอบแทนเพิ่มเป็นต้นละ 50 บาท หวังสร้างรายได้เสริมให้ชาวนาไทยอีก 30,000 บาทต่อราย แถมช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์แก้ปัญหาโลกร้อน
นายชาญวิทย์ จารุสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ดั๊บเบิ้ล เอ กระดาษจากต้นกระดาษบนคันนา แก้ปัญหาโลกร้อน กล่าวว่า ดั๊บเบิ้ล เอ ได้มีข้อตกลงร่วมกับโรงสีจำนวน 100 แห่ง และท่าข้าวอีก 50 แห่ง เพื่อร่วมมือกันดำเนินโครงการ “101 ต้นบนคันนากับต้นกระดาษดั๊บเบิ้ล เอ” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เกิดการสร้างรายได้เสริมให้กับชาวนา ซึ่งจะเป็นคนกลุ่มหนึ่งที่จะได้รับผลกระทบกับวิกฤติเศรษฐกิจโลก และเพื่อช่วยกันแก้ปัญหาโลกร้อน
ทั้งนี้โครงการ 101 ต้นบนคันนาฯ ได้เปิดให้ชาวนาสมัครลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ แล้วตั้งแต่บัดนี้ โดยชาวนาสามารถสมัครเป็นผู้รับฝากปลูกต้นกระดาษดั๊บเบิ้ล เอ ได้โดยไม่จำกัดจำนวนต้น แต่กำหนดเงื่อนไขว่าจะต้องปลูกบนคันนาเท่านั้น และผู้รับฝากปลูกจะได้รับผลตอบแทนในการดูแลต้นกระดาษดั๊บเบิ้ล เอ จนครบโครงการภายในเวลา 3 ปี ในอัตราต้นละ 30 บาท และได้สิทธิพิเศษสำหรับ 101 ต้นแรก รับผลตอบแทนในอัตราที่สูงกว่า คือ ต้นละ 50 บาท หรือมีรายได้จากการปลูก 101 ต้นแรก เท่ากับ 5,050 บาท และหากปลูกตลอดแนวคันนาในพื้นที่ 10 ไร่ หรือปลูกจำนวน 800 ต้น ก็จะมีรายได้เสริมคิดเป็นจำนวนเงิน 26,020 บาท โดยที่ไม่ต้องใช้เงินลงทุนเพิ่มแต่อย่างใด ซึ่งจะเป็นการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายและภาระหนี้สินของเกษตรกรทั่วประเทศ
นอกจากนี้ นายชาญวิทย์ยังกล่าวต่อไปว่า การปลูกต้นกระดาษดั๊บเบิ้ล เอ 1 ต้นบนคันนาของเกษตรกร ภายในระยะเวลา 3 ปี จะช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากบรรยากาศได้ถึง 62 กิโลกรัม หรือเทียบเท่ากับการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากเผาไหม้น้ำมันเชื้อเพลิงของรถยนต์ถึง 20 ลิตร เนื่องจากน้ำมันแต่ละลิตรที่เผาไหม้ จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 3.15 กิโลกรัมออกสู่ชั้นบรรยากาศ หรือหากปลูกครบ 25 ล้านต้น ก็จะเท่ากับเราได้ช่วยกันดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์จากการใช้น้ำมันของคนกรุงเทพ 500 ล้านลิตรต่อปี ให้หมดไป
ดั๊บเบิ้ล เอ ตั้งเป้าหมายที่จะให้ชาวนาเข้าร่วมรับฝากปลูกต้นกระดาษดั๊บเบิ้ล เอ ไม่น้อยกว่า 50 ล้านต้นในปีแรกนี้ และคาดจะใช้งบลงทุนในเบื้องต้นไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท เพื่อจัดทำโครงการส่งเสริมการปลูกตามคันนาในครั้งนี้ โดยชาวนาที่สนใจเข้าร่วมโครงการสามารถติดต่อได้ที่สายด่วนดั๊บเบิ้ล เอ 1759 หรือที่ โรงสี และท่าข้าว ที่เข้าร่วมโครงการทั่วประเทศ
“ดั๊บเบิ้ล เอ คิดว่า โครงการนี้ถือเป็นโครงการที่เกษตรกรเข้าร่วมได้ง่าย เพราะไม่ต้องใช้เงินลงทุนอะไร แค่ใช้พื้นที่ว่างบนคันนา ใช้เครื่องมือทางการเกษตรและเวลาว่างของตนเองหลังจากปลูกข้าวหรือเก็บเกี่ยว มาดูแลต้นกระดาษดั๊บเบิ้ล เอ ก็จะทำให้เกิดรายได้เสริมเป็นกอบเป็นกำให้กับครอบครัว เพื่อใช้เป็นทุนในการประกอบอาชีพ หรือเป็นทุนการศึกษาให้กับบุตรหลานของตนเองได้ โดยมีผลตอบแทนที่แน่นอน และยังถือช่วยแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนอย่างยั่งยืนด้วย และถือเป็นสร้างแหล่งดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์แหล่งใหม่ของโลกอีกด้วย เพราะเป็นการส่งเสริมให้พื้นที่ที่เคยเปิดโล่งกลายเป็นพื้นที่ที่มีต้นไม้ และชาวนาสามารถปลูกหมุนเวียนได้อย่างต่อเนื่อง” นายชาญวิทย์กล่าว
ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม และมีพื้นที่เพาะปลูกข้าว โดยเป็นพื้นที่นาปี ประมาณ 57ล้านไร่ และ นาปรังประมาณ 11 ล้านไร่ โดยกว่า 5% ของพื้นที่นาจะเป็นคันนา ถ้านับความยาวของพื้นที่คันนาในประเทศไทยมีถึงเกือบ 12 ล้านกิโลเมตร ที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์กันมากนัก ดังนั้น การสนับสนุนให้ชาวนาไทยหันมาใช้ประโยชน์จากคันนาที่ว่างเปล่า ก็ถือเป็นการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างคุ้มค่า และเป็นการป้องกันปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจการเงินของโลก ที่อาจจะกระทบมาถึงเกษตรกรไทยในอนาคตด้วย
นายสมศักดิ์ สาระศิริ เกษตรกร อ.ศรีมหาโพธิ์ จ.ปราจีนบุรี กล่าวว่า ตนปลูกต้นกระดาษดั๊บเบิ้ล เอ บนหัวไร่คันนา มาเป็นเวลากว่า 7 ปีมาแล้ว โดยปลูกไว้ทั้งที่เป็นคันนา ริมถนน และพื้นที่ว่างแบบเป็นแปลงอีก 20 ไร่ รวมประมาณ 700 ต้น ซึ่งต้นกระดาษเคยสร้างรายได้ให้กับครอบครัวได้สูงสุดถึง 2 แสนบาท ทำให้ครอบครัวของตนมีชีวิตที่ดีขึ้น และดีกว่าการปลูกพืชชนิดอื่น เนื่องจากดูแลง่าย และไม่ต้องห่วงเรื่องปัญหาการขาดทุนเหมือนพืชชนิดอื่น สามารถปลูกได้ทั้งหน้าฝนและหน้าแล้ง และก็ไม่มีปัญหาเรื่องดินเสีย ดินแห้ง หรือผลกระทบกับพืชอื่นเลยตลอดระยะ 7 ปีที่ผ่านมา
ประชาสัมพันธ์ติดต่อ: คุณมารยาท จำปาทุมบ.คิธ แอนด์ คิน ฯ
โทร. 02 663 3226 ต่อ 64 หรือ (086-339-4947)
ผู้ส่ง : คุณมารยาท จำปาทุม
เบอร์โทรศัพท์ : 02 663 3226 ต่อ 64 หรือ (086-339-4947)
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit