กรุงเทพฯ--7 พ.ย.--ปภ.
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รายงานภาวะฝนตกหนักในช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับการระบายน้ำออกจากเขื่อนเจ้าพระยาและเขื่อนพระรามหก ทำให้น้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมในบางพื้นที่ริมฝั่งของ ๓ จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสิงห์บุรี อ่างทอง และพระนครศรีอยุธยา ส่วนสถานการณ์อุทกภัยที่จังหวัดนครสวรรค์
ยังคงมีน้ำท่วมขังบ้านเรือนราษฎรและพื้นที่การเกษตรซึ่งเป็นที่ลุ่มต่ำของตำบลตาสัง อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ ระดับน้ำสูงประมาณ ๐.๑๐ – ๐.๓๐ เมตร สถานการณ์ปัจจุบันน้ำลดลงอย่างต่อเนื่องแล้ว
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ภาวะฝนตกหนักในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างประกอบกับการระบายน้ำออกจากเขื่อนเจ้าพระยาและเขื่อนพระรามหก ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้น้ำเอ่อล้นตลิ่ง ในบางพื้นที่ริมฝั่งของ ๓ จังหวัด ได้แก่ อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี อำเภอป่าโมก
จังหวัดอ่างทอง และ ใน ๙ อำเภอของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้แก่ อำเภอผักไห่ บางบาล เสนา บางไทร มหาราช นครหลวง พระนครศรีอยุธยา บ้านแพรก และบางปะอิน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ประสานให้จังหวัดในพื้นที่ลุ่มภาคกลางแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง พื้นที่ ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาและเขื่อนพระรามหก
ให้ติดตามรับฟังพยากรณ์อากาศ และข้อมูลสถานการณ์การขึ้น-ลงของน้ำ ปริมาณการไหลของน้ำในแม่น้ำปริมาณการระบายน้ำออกจากเขื่อนอย่างใกล้ชิด หากมีประกาศแจ้งเตือนให้ขนย้ายสิ่งของไปยังพื้นที่ปลอดภัยและเตรียมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยหากเกิดสถานการณ์ภัยขึ้นในพื้นที่ ส่วนสถานการณ์อุทกภัยในจังหวัดนครสวรรค์
ยังคงมีน้ำท่วมขังบ้านเรือนราษฎรและพื้นที่การเกษตรซึ่งเป็นที่ลุ่มต่ำของตำบลตาสัง อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ ระดับน้ำสูงประมาณ ๐.๑๐ – ๐.๓๐ เมตร สถานการณ์ปัจจุบันระดับน้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง ทางสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครสวรรค์ ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกสำรวจความเสียหายและให้การช่วยเหลือในเบื้องต้น
สำหรับการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้เร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย อย่างต่อเนื่อง โดยระดมกำลังเจ้าหน้าที่ นำเครื่องจักรกล รถยนต์ เรือท้องแบนออกให้บริการขนย้ายทรัพย์สินสิ่งของ และอพยพประชาชนออกจากพื้นที่น้ำท่วม พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำ และเครื่องผลักดันน้ำ
เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ประสบภัย รวมทั้งได้นำถุงยังชีพเครื่องอุปโภคและบริโภค ไปมอบให้กับผู้ประสบภัยเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น อีกทั้งออกสำรวจความเสียหาย เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย นอกจากนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือสถานการณ์อุทกภัยจากภาวะฝนตกหนักในช่วงวันที่ ๗-๑๐ พ.ย. ๕๑ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
ได้ประสานให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต ๑๑สุราษฎร์ธานี เขต ๑๒ สงขลา เขต ๑๗ จันทบุรี เขต ๑๘ ภูเก็ต และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส เตรียมการป้องกันปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม
ด้วยการจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์ภัยในพื้นที่อย่างต่อเนื่องตลอด ๒๔ ชั่วโมง รวมทั้งจัดเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ให้พร้อมช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทันทีที่เกิดเหตุภัยพิบัติ สุดท้ายนี้ หากประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัย สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนสาธารณภัย ๑๗๘๔ ตลอด ๒๔ ชั่วโมง
เพื่อประสานและให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป