สร้างรากฐานชีวิตลูกได้ด้วย Bookstart

05 Nov 2008

กรุงเทพฯ--5 พ.ย.--

เมื่อถามว่าหนังสือสำคัญมั้ย..คำตอบร้อยทั้งร้อยที่ได้รับ คือ “สำคัญ” แต่เมื่อถามว่า..แล้วได้อ่านหนังสือมั้ย..เกินกว่าครึ่งตอบว่า “อ่านบ้างนิดหน่อย..บางคนบอกไม่ได้อ่านเลย” แปลกแต่จริง? ..ทุกคนรู้ว่าหนังสือ “สำคัญ…ดี” แต่ทุกคนละเลยที่จะอ่าน รวมทั้งละเลยที่จะปลูกฝังให้เด็กรักการอ่าน

นายเรืองศักดิ์ ปิ่นประทีป กรรมการผู้จัดการมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก กล่าวว่า คำถามพื้นๆ ที่ผู้ใหญ่ชอบถามเด็ก “เมื่อโตขึ้นหนูอยากเป็นอะไร” เป็นที่น่าตกใจมาก เมื่อผมนำคำถามนี้ไปถามกับเด็กอนุบาลถึงประถมศึกษาปีที่ 6 ของโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดนครสวรรค์ เด็กผู้ชายเกินกว่าครึ่งตอบว่า “อยากเป็นเคน เพราะจะได้ข่มขืนแอน” ส่วนเด็กผู้หญิงตอบว่า “อยากเป็นแอน เพราะจะได้โดนเคนข่มขืน” เด็กให้เหตุผลว่า เมื่อรักใครสักคนให้ข่มขืนไว้ก่อน สุดท้ายก็จะได้มาอยู่ด้วยกัน เหมือนแอนกับเคน ผู้ใหญ่หลายคนฟังแล้วอาจจะขำในคำตอบของเด็กๆ แต่ผมมองว่านี่คือวิกฤตของสังคมไทย ทุกวันนี้เราจะเห็นความรุนแรงอย่างเป็นรูปธรรมได้จากโทรทัศน์ หรือหนังสือพิมพ์หน้าหนึ่งทุกฉบับและทุกๆวัน ซึ่งนับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น เช่น ความรักไม่สมหวังก็ฆ่าตัวตาย , ไปทำร้ายอีกฝ่ายเอาน้ำมันไปราดแล้วจุดไฟเผา , วางแผนฆ่าคนขับแท็กซี่เลียนแบบในเกมส์ , ลุมโทรมผู้หญิงเลียนแบบในละคร , เด็กภาคใต้ใช้ไฮเตอร์อาบน้ำเพราะดูจากโฆษณาแล้วคิดว่าไฮเตอร์จะทำให้ตัวขาว , เด็กหญิงในจังหวัดราชบุรีขายตัวครั้งละ 50 บาท เพื่อนำเงินไปซื้อบัตรเติมเงินโทรศัพท์ เป็นต้น นี่คือการที่ผู้ใหญ่ไม่สร้างรากฐานของชีวิตที่แข็งแกร่งให้กับเด็ก

พฤติกรรมการเลี้ยงลูกของพ่อแม่ในสังคมไทย “ไม่ค่อยชื่นชมเมื่อลูกทำดี แต่มักตำหนิแรงๆ เมื่อลูกทำผิด” ทำให้เด็กขาดความมั่นใจ , พ่อแม่ไม่ได้เลี้ยงดูลูกเองให้แม่บ้านหรือคนเลี้ยงเด็กมาดูแลแทน , พ่อแม่ชอบออกคำสั่ง ห้ามโน่นห้ามนี่กับลูก แต่ลืมนึกถึงว่า “ลูกไม่ชอบการถูกออกคำสั่งหรือสั่งสอนโดยตรง” ดังนั้น เมื่อลูกอายุ 10 กว่าขวบ เขาจะเริ่มมีพฤติกรรมที่ก้าวร้าว รุนแรง เชื่อเพื่อน เชื่อคนอื่นๆ มากกว่าเชื่อพ่อแม่ เริ่มเถียง เริ่มตะแบง นั่นเป็นพฤติกรรมต่อต้าน ทางออกที่ดี คือ นำหนังสือมาเป็นเครื่องมือในการอบรมเลี้ยงดูลูกตั้งแต่ปฐมวัย การเลือกหนังสือที่ดีที่เหมาะสมกับวัยมาอ่านให้ลูกฟัง หนังสือจะกลายเป็นตัวช่วยที่สนุกสนานและมีสีสันในการสอนเด็ก เพราะในหนังสือมีเรื่องราวและมีความเป็นชีวิตปรากฏอยู่ มีตัวละครที่สนุกสนาน ทำอะไรต่อมิอะไรที่น่าสนใจ น่าเรียนรู้ น่าทดลองและน่าทำตามไปเสียหมด หนังสือจึงทำให้เด็กซึมซับพฤติกรรมที่ดี และเลิกพฤติกรรมที่ไม่ดีอย่างเป็นธรรมชาติ โดยที่เด็กไม่รู้ตัวเลยว่ากำลังถูกสอนทั้งในเรื่องศิลธรรมพื้นฐาน คุณธรรม แง่คิดในการใช้ชีวิตที่มีคุณภาพ หนังสือยังมีบทบาทสำคัญต่อการเสริมสร้างพัฒนาการเด็กในทุกด้าน ได้แก่ ร่างกาย , อารมณ์ , จิตใจ , สติปัญญา , ทักษะด้านภาษา และ ด้านสังคม

“นักจิตวิทยาและนักการศึกษาทั่วโลกต่างให้ความสำคัญ และให้ความสนใจด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัย (0-6 ปี) ด้วยความเชื่อว่ากระบวนการเรียนรู้ในช่วงปฐมวัยมีผลกระทบในระยะยาวต่อคุณภาพชีวิตของคน เพราะเป็นช่วงที่ระบบประสาทและสมองกำลังสร้างโครงสร้าง เป็นช่วงที่สมองมีการเจริญเติบโตในอัตตราสูงสุดถึงกว่าร้อยละ 80 ของวัยผู้ใหญ่ ดังนั้นสิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็ก การดูแลอบรม เพื่อปลูกฝังสร้างเสริมพัฒนาการจึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง เพราะเป็นพื้นฐานที่สำคัญต่อการบ่มเพาะบุคลิกภาพ อุปนิสัย และการเจริญเติบโตของสมองที่จะส่งผลต่อสติปัญญาและความสามารถของเด็กอย่างถาวร”

รากฐานที่แข็งแรงของลูกสร้างได้...คุณพร้อมที่จะสร้างแล้วหรือยัง??..ร่วมสร้างรากฐานที่ดีกับมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร.0-2805-0202 , 0-2628-8818-9

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit