“สถาบันอาหาร” เตือนความเสี่ยงจากการบริโภคสมุนไพร พืชผักดิบ

03 Oct 2008

กรุงเทพฯ--3 ต.ค.--โปรคอมมิวนิเคชั่นส์ แอนด์ คอนซัลแตนท์

สถาบันอาหาร ชี้ สมุนไพร พืชผักสด ต้นตอสำคัญ เสี่ยงต่อการเกิดโรคอาหารเป็นพิษ และท้องร่วงเฉียบพลัน เตือนเกษตรกร ผู้ประกอบการไทย เข้มงวดทั้งหลักการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAPs) สำหรับพืช และหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิต (GMPs) เพื่อหาวิธีป้องกัน และลดความเสี่ยงจากการปนเปื้อน สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค ก่อนไทยถูก ยุโรป อียู ระงับการนำเข้าผักและสมุนไพรเหมือนเช่นในอดีต

ดร.ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เปิดเผยว่า ปี 2548 นอร์เวย์ตรวจพบเชื้อก่อโรค ซาลโมเนลลา และ อี. โคไล ปนเปื้อนในสมุนไพรและผักสดที่นำเข้าจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมทั้งไทยต่อเนื่องหลายครั้ง ส่งผลให้นอร์เวย์ระงับการนำเข้าผักและสมุนไพรสดของไทย 8 ชนิดชั่วคราว ได้แก่ ผักชีไทย ผักชีฝรั่ง ใบกะเพรา ใบโหระพา ผักคะแยง ใบสะระแหน่ ผักแพวและต้นหอม และในปีเดียวกันอังกฤษและฟินแลนด์ตรวจพบเชื้อ ซาลโมเนลลา และ อี. โคไล ปนเปื้อนในผักสดที่นำเข้าจากไทย ส่งผลให้ไทยต้องจัดทำแผนปฏิบัติการควบคุมการปนเปื้อนเพื่อทำให้อียูมั่นใจว่าสินค้าไทยมีมาตรการควบคุมการปนเปื้อนเชื้อก่อโรคที่ดีเพียงพอ และในปี 2550 เดนมาร์กมีผู้ป่วยด้วยอาการปวดท้องนำส่งโรงพยาบาลกว่าร้อยคน หลังรับประทานข้าวโพดอ่อนนำเข้าจากไทย

ทั้งนี้ มีแนวโน้มว่า “พืชผักสด” จะเป็นต้นตอสำคัญที่จะทำให้เกิดการแพร่กระจายของโรคระบาด และสร้างความเสียหายในวงกว้างได้ในอนาคต เพราะวัฒนธรรมดั้งเดิมและพฤติกรรมการบริโภคของหลายประเทศรวมถึงไทยจะรับประทานสมุนไพรและพืชผักดิบๆ ซึ่งล้วนทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคอาหารเป็นพิษ และท้องร่วงเฉียบพลันได้

“เชื้อก่อโรคที่เป็นต้นตอสำคัญทำให้เกิดโรคระบาดในพืชผักและสมุนไพรสดมี 2 ชนิดคือ ซาลโมเนลลา ทำให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษ และเชื้อ อี. โคไล 0157:H7 ทำให้เกิดท้องร่วงเฉียบพลัน สำหรับวิธีป้องกันและลดความเสี่ยงของการปนเปื้อนเชื้อก่อโรคในพืชผักสด ผู้บริโภคควรเลือกซื้อพืชผักสดที่ไม่ช้ำและไม่มีรอยถลอกปอกเปิด เก็บรักษาพืชผัก สมุนไพรสด ในตู้เย็น หรือแช่เย็นในที่สะอาดและมีอุณหภูมิต่ำกว่า 40 องศาเซลเซียส และแยกพื้นที่เก็บจากเนื้อสัตว์สด ล้างมือประมาณ 20 วินาทีด้วยน้ำอุ่นและถูสบู่ก่อนและหลังเตรียมพืชผักสดทุกครั้ง ล้างพืชผักสดผ่านน้ำไหลก่อนรับประทาน และปรุงสุกพืชผักสดทุกครั้งทั้งพืชผักที่เพาะปลูกแบบวิธีปกติ และพืชผักอินทรีย์

ส่วนเกษตรกรและผู้ประกอบการควรนำหลักการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices: GAPs) สำหรับพืช และหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิต (Good Manufacturing Practices: GMPs) ไปใช้ เพื่อให้ทราบปัจจัยที่ทำให้เกิดความเสี่ยง และหาวิธีป้องกันและลดความเสี่ยงจากการปนเปื้อน รวมทั้งต้องมีวิธีป้องกันและจัดการจุดที่เป็นต้นตอสำคัญที่ทำให้เชื้อปนเปื้อน ได้แก่ ขั้นการเพาะปลูก ซึ่งดินและน้ำที่ใช้เพาะปลูกต้องไม่ปนเปื้อนอุจจาระคน และสัตว์, ขั้นการเตรียมและบรรจุสถานที่เก็บรวบรวม ตัดแต่ง คัดและบรรจุ ร้านค้าจำหน่ายต้องมีห้องน้ำ ห้องส้วมที่ควบคุมสุขลักษณะเป็นอย่างดีและตั้งอยู่ในตำแหน่งที่ห่างจากพืชผักสด มีการควบคุมสุขอนามัยของคนงานถูกต้องตามหลัก GMPs” ดร.ยุทธศักดิ์ กล่าว

หน่วยงานภาครัฐควรสร้างระบบการสื่อสารไปสู่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่การผลิตพืชผักสดเพื่อลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น และควรทำการวิจัยด้านการประเมินความเสี่ยงของการปนเปื้อนและแพร่กระจายของเชื้อก่อโรคในพืชผักสด โดยเน้นหาสาเหตุที่แท้จริงและจุดที่ทำให้เชื้อก่อโรคปนเปื้อนและเพิ่มจำนวนในพืชผักสด เพื่อให้ได้ความรู้ใหม่ที่สามารถนำมาใช้กำหนดกลไก และกลยุทธ์ป้องกันการเจ็บป่วยจากโรคอาหารเป็นพิษและท้องร่วงเฉียบพลัน และลดความเสี่ยงของการปนเปื้อนเชื้อก่อโรคในพืช ผักและผลไม้สดได้อย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพ รวมถึงการสร้างความรับผิดชอบ สร้างจิตสำนึกของผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด และมีการเฝ้าระวัง เพื่อให้ระบบการผลิตเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและตรวจสอบย้อนกลับได้ทุกขั้นตอนการผลิต

รายละเอียดเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ : บริษัท โปรคอมมิวนิเคชั่นส์ แอนด์ คอนซัลแตนท์ จำกัด

สุขกมล งามสม 0 8 9484 9894 /0 2158 9416-8

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net