แพทย์แนะ ผู้ป่วยมะเร็งอายุน้อยเก็บไข่ก่อนให้คีโม

22 Dec 2008

กรุงเทพฯ--22 ธ.ค.--ศูนย์ซูพีเรีย เอ.อาร์.ที

ศูนย์ซูพีเรีย เอ.อาร์.ที เปิดเทคโนโลยีใหม่ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ป่วยมะเร็งที่ต้องได้รับเคมีบำบัด ให้มีทางเลือกในการเก็บไข่ก่อนได้รับเคมีบำบัด

นายแพทย์สมเจตน์ มณีปาลวิรัตน์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์ซูพีเรีย เอ.อาร์.ที กล่าวถึงความสำคัญของเทคโนโลยีที่นำมาใช้ในการแช่แข็งไข่ ซึ่งช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ป่วยกลุ่มนี้ว่า “ผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดกลุ่มหนึ่งที่เราพบเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่มีอายุน้อย คือ ตรวจพบมะเร็งเม็ดเลือดตั้งแต่อายุ 10-20 ปีเท่านั้น ซึ่งในอดีตที่การรักษาไม่ดีเท่าปัจจุบัน ผู้ป่วยกลุ่มนี้ส่วนมากมักจะเสียชีวิต แต่ปัจจุบันด้วยความก้าวหน้าทางการรักษามะเร็ง แพทย์สามารถยืดอายุผู้ป่วยกลุ่มนี้ออกไปได้จนถึง 40-50 ปี ด้วยการรักษาโดยการให้เคมีบำบัดร่วมกับการรักษาอื่นๆ

ผลจากการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดหลายชนิดอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง คือ ตัวยาจะส่งผลต่อการทำงานของรังไข่ ทำให้ผู้ป่วยหมดประจำเดือนหลังจากได้รับเคมีบำบัดประมาณ 3-5 ปี ผู้ป่วยจึงไม่สามารถมีบุตรได้อีก แต่ในปัจจุบันมีการพัฒนาเทคโนโลยีในการแช่แข็งไข่ซึ่งจะเป็นผลดีสำหรับผู้ป่วยกลุ่มนี้ เพราะว่าเซลล์ไข่นั้นหากถูกทำลายไปแล้วจะไม่มีการสร้างขึ้นมาใหม่แต่หากเก็บไข่ไว้ก่อนก็สามารถมีชีวิตครอบครัวที่สมบูรณ์ได้เหมือนคนปกติ เมื่อมีความต้องการที่จะมีบุตรในอนาคต”

ผู้ป่วยที่ต้องการแช่แข็งไข่ ต้องผ่านการประเมินความสมบูรณ์ของร่างกายหลังจากนั้น ผู้ป่วยต้องมารับยาเพื่อกระตุ้นไข่โดยต้องฉีดยาทุกวันประมาณ 3-12 วันระหว่างนั้นเข้ารับการตรวจติดตามการเติบโตของรังไข่ หลังจากไข่โตเต็มที่แล้ว แพทย์จะทำการเก็บไข่ โดยใช้เข็มดูดไข่ออกทางช่องคลอด ก่อนนำเข้าห้องปฏิบัติการณ์เพื่อแช่แข็งไข่ ด้วยอุณหภูมิ -196 องศาของไนโตรเจนเหลว เซลล์ไข่จะหยุดปฏิกิริยาทุกชนิดเสมือนหยุดนาฬิกาชีวภาพ

“ผู้ที่จะได้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้ คือ กลุ่มผู้ป่วยที่ต้องได้รับเคมีบำบัดตั้งแต่อายุยังน้อย แต่มีการวางแผนในอนาคตไว้แล้วว่าอยากจะมีครอบครัว มีลูกในอนาคต หรือกลุ่มผู้หญิงที่แต่งงานช้าเนื่องจากสังคมเปลี่ยนไป ผู้หญิงต้องการเรียนในระดับชั้นสูงๆ หรือต้องการให้หน้าที่การงานมั่นคงก่อนจึงจะตั้งครรภ์ ก็น่าจะได้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้ ส่วนข้อที่คนส่วนใหญ่วิตกคือ เรื่องของการฉีดกระตุ้นรังไข่จะไปเพิ่มฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกายให้มีปริมาณเพิ่มมากขึ้น อาจจะส่งผลกระทบต่อร่างกาย โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งเต้านมนั้นปัจจุบันมีผลวิจัยที่ออกมาแล้วว่า การกระตุ้นให้ไข่ตกนั้นไม่มีผลกระทบต่อมะเร็งเต้านม เนื่องจากมีตัวยาที่นำมาใช้กระตุ้นไข่ ซึ่งเป็นยาตัวเดียวกับที่ใช้รักษามะเร็งเต้านมด้วย” นายแพทย์สมเจตน์ ไขข้อข้องใจเรื่องยากระตุ้นไข่ที่หลายคนกังวลว่าอาจส่งผลกระทบต่อร่างกาย หรือทำให้มะเร็งพัฒนามากขึ้นไปอีก

ขณะนี้ในประเทศไทยมีการเปิดให้บริการ “ธนาคารไข่” หรือ “egg banking” โดยศูนย์เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์และวินิจฉัยพันธุกรรมตัวอ่อน ซูพีเรีย เอ.อาร์.ที ร่วมมือกับ ซิดนีย์ไอวีเอฟ สถาบันช่วยการเจริญพันธุ์ระดับแนวหน้าของออสเตรเลีย ให้บริการแช่แข็งตัวอ่อนด้วยเทคโนโลยีการแช่แข็งอย่างรวดเร็วในไนโตรเจนเหลวที่เรียกว่า Vitrification เทคโนโลยี “แช่แข็งไข่” เป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้กับผู้ป่วยโรคมะเร็ง ที่มีความจำเป็นจะต้องได้รับการรักษาด้วยเคมีบำบัด หรือสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงที่รังไข่จะหยุดทำงานก่อนวัยอันควรจากประวัติในครอบครัว นอกจากนี้ยังเป็นอีกทางเลือกสำหรับผู้ที่ยังไม่พร้อมจะมีบุตรในปัจจุบัน แต่ไม่ต้องการเสี่ยงต่อภาวะการมีบุตรยากเนื่องจากการทำงานของรังไข่เสื่อมลงในอนาคต

ข้อมูลเกี่ยวกับศูนย์ซูพีเรีย เออาร์ที

ศูนย์ซูพีเรีย เออาร์ที เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างซิดนีย์ ไอ วี เอฟ คลินิก (Sydney IVF Clinic) ซึ่งเป็นศูนย์รักษาภาวะมีบุตรยากที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของโลก ร่วมกับกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาภาวะมีบุตรยากชาวไทย ประกอบไปด้วยทีมแพทย์ นักวิทยาศาสตร์และพยาบาลวิชาชีพ บริการให้คำแนะนำปรึกษาทางเลือกในการรักษาภาวะมีบุตรยาก และได้รับความยอมรับในระดับนานาชาติ

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่

ฝ่ายประสานงานประชาสัมพันธ์

คุณปลา โทร.089-816-0910, 081-808-4541

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit