กรุงเทพฯ--18 ธ.ค.--สช.
สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ( สช.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดงาน “เวทีเติมหัวใจให้สังคม”ครั้งที่ 7 ขึ้น ที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) ส่งท้ายในรอบปีนี้ สำหรับเวทีนี้ ในงานนอกจากจะมีการจัดนิทรรศการ จากกลุ่มชุมชน โรงเรียน ยังนำบุคคลที่ทำงานเพื่อสังคมมาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ พร้อมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้อาวุโสหลายคน อาทิ น.พ.ประเวศ วะสี,น.พ.มลคง ณ สงขลา ทั้งนี้ เพื่อเป็นการยืนยันว่าสังคมไทยยังเต็มเปี่ยมไปด้วยความหวัง และยังมีเส้นทางสายอบอุ่นให้เห็น แม้กระทั่งในดินแดนปลายด้ามขวาน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งมี รท.เสวียน อิสภาโร นายทหารที่ทุ่มแรงกาย แรงใจทำงานในกลุ่มเยาวชน เยียวยาให้พ้นจากยาเสพติด ภายใต้โครงการ “ญาลันนันบารู” ซึ่งเกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด(ป.ป.ส.) กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน(กอ.รมน.) และเครือข่ายทูตสันติภาพ เมื่อปลายปีพ.ศ.2550
โครงการนี้ ได้ดึงเยาวชนที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดใน 3 จังหวัดให้หลุดพ้นจากอบายมุข และกลับมาเป็นแนวร่วมคืนสันติสุขสู่พื้นที่ นับถึงวันนี้มีเยาวชนที่ผ่านการเข้าอบรมจำนวนกว่า 6,000 คน หลายคนกลับคืนสู่ครอบครัวกลายเป็นลูกที่ดีของพ่อแม่ และพลเมืองที่ดีของสังคม 70 เปอร์เซนต์ของผู้เข้าอบรมสามารถเลิกยาเสพติดได้
แต่เส้นทางสายนี้ต้องอาศัยความมุ่งมั่น ความจริงใจ ทุ่มเททั้งกำลังกาย กำลังใจอย่างสูง รท.เสวียน นายทหารผู้รับผิดชอบโครงการ แม้มิได้เป็นคนที่เกิดใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ แต่ระยะ 15 ปี ที่ทำงานในพื้นที่ก่อให้เกิดความผูกพัน ความเข้าใจ และการเรียนรู้ถึงวัฒนธรรมที่แตกต่าง จนนำมาสู่ความร่วมมือของคนในพื้นที่ ในที่สุด
“สิ่งสำคัญที่สุดของสามจังหวัดคือ การให้ความรู้ ผมดึงหลักศาสนาอิสลามมาใช้ และเอาความจริงใจเข้าไป จากนั้นความเชื่อถือศรัทธาของชุมชนจะเข้ามาเอง และเมื่อเขาเชื่อถือศรัทธาแล้วเขาพร้อมที่จะเดินตาม” รท.เสวียน พูดถึงหลักการสำคัญที่นำมาใช้ กระบวนการเรียนรู้ที่นำมาใช้กับเยาวชนเหล่านี้คือ เรื่องของศาสนา เด็กทุกคนจะต้องทำละมาด เข้ามัสยิด นำหลักความดีสากลเข้ามาใช้ เช่นทำดีได้ไปสวรรค์ซึ่งมีในหลักการศาสนาของทุกศาสนา เรื่องของความกตัญญูต่อพ่อแม่ ต่อแผ่นดิน และให้เขาคิดถึงตัวเองว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่มันถูกหรือผิด การอบรมครั้งแรกเริ่มต้นที่เยาวชนเพียง 20 คนจากนั้นเมื่อเด็กที่เข้าอบรมเกิดความเข้าใจ ไว้วางใจเยาวชนที่เข้าอบรมก็ขยายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
“ทุกวันนี้ผมสามารถเข้าไปในชุมชน ไปกินนอนในพื้นที่ ความไม่สงบลดลงระดับหนึ่ง พ่อแม่ได้ลูกของตนเองกลับมา แม่ของเด็กบางคนดีใจถึงกับเข้ามาจับมือผม ทั้งที่เป็นสิ่งต้องห้ามในศาสนาอิสลามที่ไม่ให้ผู้หญิง ผู้ชายที่ไม่ใช่คนในครอบครัวถูกเนื้อตัวกัน แต่เพราะความดีใจที่ได้ลูกกลับคืน และความไว้วางใจต่อกันที่เกิดขึ้นแล้ว” รท.เสวียน พูดถึงความสำเร็จแต่ละก้าวที่เกิดขึ้น
จากผลการศึกษาที่ผ่านมาพบว่า ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนมีเยาวชนที่มีอัตราเสี่ยงต่อการเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดจำนวนถึง 2 แสนคน และตลอดระยะเวลากว่า 1 ปีมีการอบรมเยาวชนไปแล้วถึง 111 รุ่น แต่การทำงานยังคงต้องดำเนินต่อไป
“ตราบใดที่เราไม่ให้ความรู้เขา โอกาสจะแก้ปัญหามันยากมาก เยาวชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ เขาได้โอกาสน้อยมากในทุกๆเรื่อง มีพื้นฐานการศึกษาน้อย ส่วนหนึ่งเกิดจากความไม่ต่อเนื่องของระบบการศึกษา ครูเข้ามาสอนไม่นานก็ออกจากพื้นที่ เพราะกลัวเหตุการณ์ รวมถึงความไม่จริงใจของคนที่ทำงานในภาครัฐ ซึ่งเป็นตัวก่อให้เกิดปัญหา”
ฉะนั้น สิ่งสำคัญที่นายทหารจากชายแดนใต้ผู้นี้ตระหนักถึงคือ คนที่ลงไปทำงานในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ต้องศึกษาปัญหาสภาพชุมชน ต้องรู้ถึงความต้องการ และไม่ต้องการของชุมชน เพื่อสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้น
“ผมเองก็มีลูก รู้ว่าพ่อแม่รักลูก ถ้าลูกผมติดยาผมก็เจ็บปวด มีคนในชุมชนถามผมว่า อายุมากแล้วไม่กลัวหรือ ผมบอกว่าถ้าผมกลัวแล้วพี่น้องจะอยู่กันอย่างไร”
วันนี้โครงการ ญาลันนันบารู ยังคงดำเนินต่อไป โดยมีแนวร่วมจากเยาวชนผู้เคยหลงผิด ทำหน้าที่เป็นทูตสันติภาพเข้าไปพูดคุยกับชาวบ้าน พยายามดึงเยาวชนที่หลงผิดกลับมาสู่แสงสว่างอีกครั้ง เพื่อก้าวเดินไปบนเส้นทางสายใหม่สู่อนาคตที่สดใสร่วมกัน
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
ผู้ส่ง : นาย /banana
เบอร์โทรศัพท์ : 087-605-3559
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit