กรุงเทพฯ--19 ธ.ค.--มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ
อาการดิ้นรน ทุรน ทุราย เพื่อให้ชีวิตอยู่รอด ขณะก้อนดินกลบฝัง สร้างความหดหู่ให้กับผู้พบเห็นไม่น้อย ไก่จำนวนนับล้านๆตัว ถูกสังเวยชีวิต เพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดของไข้หวัดนก นับจากการระบาดครั้งแรกในช่วงปลายปี 2546-2547 กระทั่งปัจจุบัน ความหวาดกลัวเชื้อไข้หวัดนกในไก่ขยายไปทั่วประเทศอย่างรวดเร็ว คนจำนวนมากหันหลังไม่บริโภคไก่ กระทั่งรัฐบาลต้องออกทีวี กินไก่โชว์ เพื่อยืนยันความปลอดภัยของไก่ที่ผ่านการตรวจสอบแล้ว
ในช่วงปลายปี 2546 ประเทศไทยจะเริ่มพบอาการไก่ตายผิดปกติในพื้นที่ จ.นครสวรรค์ หลายอำเภอ และเริ่มพบการติดเชื้อไข้หวัดนกในสัตว์ปีก กระทั่งต้นปี2547 เชื้อไข้หวัดนกขยายวงกว้างแพร่ระบาดไปกว่า 50 จังหวัด
การระบาดเชื้อไข้หวัดนกในไก่จะขยาย ตัวไปทั่วประเทศตลอดปี2547 แต่ การรายงานการแพร่เชื้อสู่คนยังไม่เกิดขึ้น กระทั่ง วันที่ 23 ม.ค.2547 คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รมว.สาธารณสุข ออกมาแถลง ยอมรับผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และคณะแพทยศาสตร์ รพ.ศิริราชพบเชื้อโรคไข้หวัดนกชนิด H5N1 ในผู้ป่วย 2 รายคือเด็กชาย 7 ขวบ ที่ จ.สุพรรณบุรี รักษาตัวที่สถาบันเด็กแห่งชาติมหาราชินี และเด็กชาย 6 ขวบ ที่ จ.กาญจนบุรี รักษาตัวที่ รพ.ศิริราช
จากนั้น ตลอดปี 2547 การแพร่เชื้อของไข้หวัดนก ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องทั้งการติดเชื้อในไก่ และการติดเชื้อในคน โดยพบว่าปี 2547 มีผู้ป่วยเชื้อไข้หวัดนกมากถึง 17 คน และมีผู้เสียชีวิตกว่า 12 คน ซึ่งถือว่าอัตราการตายสูงมากถึง 70%
การะบาดของเชื้อไข้หวัดนกยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดปี 2548 แม้ว่าจะมีจำนวนผู้ป่วยจะลดลง คือ 8 คนและเสียชีวิตเพียง 3 คน และในปี 2549 พบว่ามีผู้ป่วยจากเชื้อไข้หวัดนกลดลงอีก มีผู้ป่วย 3 คน และเสียชีวิต 3 คน
แม้ว่าในปี 2550-2551 จะพบว่ามีไก่ติดเชื้อไข้หวัดนกบ้าง แต่การแพร่เชื้อสู่คนตลอดช่วง 2 ปีกลับไม่พบเลย กระนั้นก็ตามทุกครั้งที่ฤดูเปลี่ยนอากาศเริ่มหนาวเย็น เสียงเตือนจากกระทรวงสาธารณสุข จะดังขึ้นทุกครั้งเพื่อกำชับและคุมเข้มมาตรการการเฝ้าระวังและควบคุมโรคทุกพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดการระบาดของโรค
“แม้ในช่วง 2ปีที่ผ่านมา จะไม่พบผู้ป่วยติดเชื้อไข้หวัดนกเลย แต่ด้านการเฝ้าระวังควบคุมโรคยังคงต้องดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีการกลายพันธุ์ของเชื้อไข้หวัดนกที่อาจส่งผลให้เกิดการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ได้”
นพ. คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุข บอกถึงการเฝ้าระวังพร้อมกับอธิบายว่า “แนวโน้มการควบคุมโรคดีขึ้น ทั้งในสัตว์ปีก และในคน แต่ความเสี่ยงในการระบาดไม่ได้เป็นศูนย์ เพราะล่าสุด กรมปศุสัตว์พบไก่ติดเชื้อไข้หวัดนกใน 2 จังหวัดคือ สุโขทัย และ อุทัยธานี แสดงให้เห็นว่าเชื้อไข้หวัดนกในสัตว์ปีก ยังไม่ได้หมดไปจากประเทศไทย “
แม้ปัจจุบันการเฝ้าระวังโรคจะวางระบบเอาไว้ดี โดยมีหน่วยเฝ้าระวังในระดับหมู่บ้านที่มีอาสาสมัครหมู่บ้าน (อสม.) ที่เฝ้าระวังโดยการ แจ้งต่อ ส่วนกลางคือกระทรวงสาธารณสุข
นอกจากนี้รวมไปถึงการแจ้งต่อรพ.ทั่วประเทศ ถึงการสอบสวนโรคหากพบว่ามีผู้ป่วยที่มีอาการปอดอักเสบผิดปกติ จะต้องดำเนินการสอบประวัติการสัมผัสไก่ หรือสัตว์ปีกป่วยตาย แต่อย่างไรก็ตามระบบดังกล่าวยังถือว่า มีจุดอ่อนที่จะต้องเร่งแก้ไข
นพ. คำนวณ กล่าวว่า จุดอ่อนของระบบเฝ้าระวังโรคที่จะต้องแก้ไข คงต้องบอกว่าธรรมชาติของผู้ป่วย ซึ่งมักจะเปลี่ยนโรงพยาบาล เพราะไปรักษาที่นี้แล้ว วันสองวัน ไม่ดีก็ไปที่อื่น ทำให้กระบวนการสอบสวนโรคไม่เชื่อมโยงกัน ซึ่งปัญหาของการเฝ้าระวังโรคจึงจำเป็นจะต้องมีการผูกโยงกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างทำได้
นอกจากนี้ นพ.คำนวณ บอกว่า 3 องค์ประกอบหลักที่ระบบเฝ้าระวังควบคุมโรคจะต้องดำเนินการแก้ไขอย่างรีบด่วน คือในระดับประชาชน หรือ อสม. หากสำรวจพบว่าในหมู่บ้านมีคนป่วยหรือสัตว์ปีกป่วย/ตาย ต้องรีบบอกเจ้าหน้าที่ช่วยแจ้งข่าว
ส่วนที่ สองคือ รพ.จะต้องมีคนทำหน้าที่เฉพาะด้านระบาดวิทยา โดยมีทีมวิเคราะห์ข้อมูล และส่วนที่สามจะต้องมีทีมสอบสวนโรคที่จะต้องรีบออกไปดำเนินการสอบสวนโรคในพื้นที่ได้อย่างทันที
“ถ้าเราสามารถทำ 3 องค์ประกอบให้เข้มแข็งได้เหมือนเรา เดินยามตลอดเวลา”
แม้ผู้ที่ดูแลระบบเฝ้าระวังควบคุมโรคจะได้จัดวางระบบเฝ้าระวังเอาไว้อย่างรัดกุมอย่างเพียงพอ แต่ พ.อ. ผศ. นพ. ราม รังสินธุ์ นักวิจัยโครงการระบบเฝ้าระวังโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า สนับสนุนโดย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ(มสช.) และ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มีความเห็นว่า ระบบเฝ้าระวังโรคในปัจจุบันควรได้รับการเพิ่มศักยภาพ ให้สามารถดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นกับโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต
เป็นที่ทราบกับโดยทั่วไปว่าระบบเฝ้าระวังโรคในประเทศไทยนั้นเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพเป็นที่น่าเชื่อถือในระดับนานาชาติ และสามารถดำเนินการจัดการกับโรคอุบัติใหม่ในอดีตได้เป็นอย่างดี หากแต่ปัจจุบันประเทศไทยมีการเฝ้าระวังโรคอยู่หลายรูปแบบซึ่งควรได้รับการพัฒนา โดยเฉพาะในเรื่องความร่วมมือในการรายงานของแพทย์ผู้ดูแลผู้ป่วยได้ให้มีมากยิ่งขึ้น และพัฒนาในเรื่องของการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติมให้สมบูรณ์มากขึ้น เช่นระบบการรายงานโรคเร่งด่วน ภายใน 24 ชั่วโมง ซึ่งระบุให้มีการรายงานผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงหรือเสียชีวิตอย่างเฉียบพลันโดยไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน ไม่ทราบสาเหตุ หากแต่ระบบดังกล่าวนั้น ในทางปฏิบัติไม่ครอบคลุมถึงการจัดเก็บวัตถุตัวอย่างจากผู้ป่วยที่ชัดเจน เพื่อค้นหาสาเหตุการตายที่แท้จริง ทำให้ข้อมูลการเฝ้าระวังโรคที่มีอยู่ในปัจจุบันอาจยังขาดความสมบูรณ์ไม่สามารถสรุปได้ว่า ”สาเหตุของปัญหาการป่วยหรือการเสียชีวิตนั้นเกิดจากเชื้อโรคอุบัติใหม่หรือไม่“
“ประเทศไทยควรพัฒนาให้ระบบเฝ้าระวังโรคมีความไวเพียงพอที่จะตรวจจับโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ให้ได้อย่างรวดเร็วทั้งในสัตว์และคน เพื่อจะดำเนินการควบคุมโรคได้ทันท่วงที ก่อนที่การระบาดของโรคจะระบาดเป็นวงกว้างไปมากแล้ว” พ.อ. ผศ. นพ.ราม กล่าว พ.อ. ผศ. นพ. ราม บอกว่า ระบบการเฝ้าระวังโรคเดิมเป็นระบบที่ดีอยู่แล้ว เพียงแต่การดำเนินงานด้านการเฝ้าระวังโรคยังกระจายไม่รวมเป็นหน่วยเดียวกันอย่างมีเอกภาพ หากเกิดการแพร่ระบาดของโรคอย่างรุนแรงอาจไม่สามารถรับมือได้ทัน จึงคิดว่า การพัฒนาระบบเฝ้าระวังโรคแบบครบวงจรที่สามารถดำเนินการภายใต้หน่วยงานเดียวกันได้ จะทำให้การเฝ้าระวังโรคติดเชื้ออุบัติใหม่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น การบูรณาการระบบเฝ้าระวังโรคแบบครบวงจรให้สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็วและทันต่อสถานการณ์นั้น ควรเป็นการดำเนินงานของหน่วยงานเดียวที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานหลัก ที่สามารถให้การดำเนินการเฝ้าระวังโรคแบบครบวงจรทั้งการเฝ้าระวังและสอบสวนโรคในคน และในสัตว์ รวมถึงการตรวจชันสูตรเพื่อการยืนยันการเกิดโรคทางห้องปฏิบัติการ ภายใต้ระบบ One stop service ที่มีการนำเข้าข้อมูลจุดเดียว แต่สามารถเรียกข้อมูลเพื่อการดำเนินการวิเคราะห์ได้หลายจุดอย่างเป็นอิสระทั้งในระดับพื้นที่ (อำเภอหรือจังหวัด) และส่วนกลาง อย่างเป็นระบบครบวงจร
“ผมคิดว่าควรจะต้องมีการปรับพัฒนาระบบรายงานโรคตามกลุ่มอาการ และให้ความสำคัญด้านอาการทางคลินิกของการป่วยและการเสียชีวิต อย่างกระทันหันโดยไม่ทราบสาเหตุร่วมกับผลการตรวจชันสูตรจากห้องปฏิบัติการ มีทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว เพื่อสอบสวนโรครวมไปถึงการพัฒนาชุมชนให้เป็นฐานเพื่อการเฝ้าระวัง ซึ่งเราอาจจะพัฒนาหน่วยงานเดิมที่ดำเนินการอยู่ให้มีศักยภาพเฉพาะสูงขึ้นทั้งในเรื่องของการปรับแก้กฏหมาย การเพิ่มบุคคลากร และการประสานความร่วมมือจากแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วย โดยพัฒนาให้เป็นศูนย์เฝ้าระวังโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ของประเทศ” พ.อ. ผศ. นพ. ราม กล่าว
แม้ระบบเฝ้าระวังโรคที่ดำเนินการอยู่แล้วจะเป็นระบบที่ดี แต่อาจจะไม่ไวเพียงพอในการเฝ้าระวังและควบคุมหากเกิดการกลายพันธุ์ของโรคไข้หวัดนกหรือโรคติดเชื้ออุบัติใหม่อื่นๆ ที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน จนก่อให้เกิดการระบาดใหญ่ ซึ่งแน่นอนว่า การพัฒนาระบบเฝ้าระวังโรคที่เหมาะสมย่อมเป็นทางออกที่จะอุดรอยรั่วเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการรับมือเหตุการณ์การระบาดของโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ.
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ โทร.0-2511-5855 ต่อ 116
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit