อีกหนึ่งบทพิสูจน์ เด็กอนุบาลเรียนรู้ความพอเพียงได้อย่างไร

16 Dec 2008

กรุงเทพฯ--16 ธ.ค.--สถาบันวิจัยการเรียนรู้

ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “สถาบันวิจัยการเรียนรู้” จึงร่วมกับ “คณะทำงานบูรณาการเศรษฐกิจพอเพียงสู่การเรียนการสอน” จัดการประกวด “กิจกรรมบูรณาการระดับปฐมวัยและสื่อประกอบการเรียนรู้ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง”ขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้สถานศึกษาระดับปฐมวัยทั่วประเทศ ได้สร้างสรรค์กิจกรรมบูรณาการสำหรับเด็กปฐมวัยที่สอดคล้องกับเนื้อหาสาระตามหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2546 พร้อมสื่อประกอบการเรียนรู้ตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ส่งผลงานเข้าประกวด ซึ่งในครั้งนี้นับว่าเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่โรงเรียนอนุบาลจะได้โชว์ผลงานความคิดสร้างสรรค์ บูรณาการกิจกรรมการเรียนรู้กับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเข้ากับการจัดกิจกรรมหลัก 6 กิจกรรมได้อย่างผสมกลมกลืน และเป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ที่แสดงให้เห็นว่า “เด็กอนุบาลก็เรียนรู้เรื่องความพอเพียงได้เช่นกัน ”

นายวัชระ ปฎิโภคสุทธิ์ ประธานกรรมการบริการ สถาบันวิจัยการเรียนรู้ กล่าวว่า “...เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า ปี พุทธศักราช 2550 ที่ผ่านมาเป็นปีแห่งมหามงคลยิ่ง ด้วยเป็นปีที่คนไทยทุกคนได้ร่วมเฉลิมฉลองที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระชนมายุครบ 80 พรรษา อีกทั้งเป็นปีที่ทุกภาคส่วนของสังคมไทยได้ตระหนัก เห็นคุณค่า และพร้อมใจกันน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ไปใช้เป็นหลักในการดำเนินชีวิต ดำเนินธุรกิจ ตลอดจนนำไปปลูกฝังให้เด็กและเยาวชนไทย ได้เรียนรู้และเข้าใจหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างลึกซึ้ง ผ่านการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน...”

สำหรับการจัดประกวดกิจกรรมบูรณาการระดับปฐมวัยและสื่อประกอบการเรียนรู้ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในครั้งนี้แม้จะเป็นครั้งแรก แต่ก็ได้รับการตอบรับอย่างดียิ่งจากโรงเรียนที่เปิดสอนในระดับอนุบาลทุกสังกัดทั่วประเทศ ส่งผลงานเข้าประกวดกว่า 223 โรงเรียน นับเป็นนิมิตรหมายที่ดีที่โรงเรียนในระดับอนุบาลได้มีการตระหนักและน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาในการจัดการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัย

ส่วนการจัดประกวดในวันนี้ (11 ธันวาคม 2551) ถือเป็นรอบชิงชนะเลิศ โดยก่อนหน้านี้ได้มีการคัดเลือกโรงเรียนที่ผ่านการคัดเลือกในแต่ละภูมิภาคๆ ละ 1 โรงเรียน รวมเป็น 5 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนบ้านแพ้ววิทยา (ตี่ตง) จ.สมุทรสาคร, โรงเรียนมารีวิทยา จ.ปราจีนบุรี, โรงเรียนแก่นจันทร์วิทยา จ.เพชรบุรี, โรงเรียนบ้านท่าคุระ จ.สงขลา และศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อบต.ยุหว่า จ.เชียงใหม่ มานำเสนอผลงาน เพื่อชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และเงินรางวัล 50,000 บาท สรุปผลการคัดเลือก เป็นดังนี้

โรงเรียนแก่นจันทร์วิทยา จังหวัดเพชรบุรี เรื่อง “มารักษาแหล่งท่องเที่ยวในชุมชน” ได้รับรางวัลชนะเลิศ พร้อมถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และเงินรางวัล 50,000 บาท .

ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อบต.ยุหว่า จังหวัดเชียงใหม่ เรื่อง “เมล็ดข้าวสีทอง” ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 พร้อมถ้วยรางวัลและเงินรางวัล จำนวน 30,000 บาท

โรงเรียนมารีวิทยา จังหวัดปราจีนบุรี สื่อและกิจกรรมเรื่อง “ไม้ไผ่มหัศจรรย์” ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 พร้อมถ้วยรางวัลและเงินรางวัล จำนวน 10,000 บาท

โรงเรียนบ้านแผ้ววิทยา (ตี่ตง) จังหวัดสมุทรสาคร สื่อและกิจกรรมเรื่อง ประโยชน์ของพืช “พอเพียงแบบกล้วยกล้วย” และโรงเรียนท่าคุระ จังหวัดสงขลา สื่อและกิจกรรมเรื่อง “ลูกตาลบ้านเรา” ได้รับรางวัลชมเชยพร้อมโล่รางวัล และเงินรางวัลโรงเรียนละ 5,000 บาท และโรงเรียนที่ได้รับรางวัล “กิจกรรมการจัดการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงดีเด่น” คือโรงเรียนบ้านดงเสลา จังหวัดกาญจนบุรี สื่อและกิจกรรมเรื่อง ขนมพื้นบ้าน “หมี่สิ” ได้รับโล่พร้อมเงินรางวัล 3,000 บาท

ภายหลังจากพิธีรับถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ศ.เกียรติคุณ นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ในฐานะประธานในพิธีฯ กล่าวว่า “… เรื่องที่ครูผู้สอนในระดับปฐมวัยต้องตระหนักและให้ความสำคัญมีอยู่ 3-4 เรื่อง เรื่องแรก คือ พัฒนาการของเด็กเล็ก ที่ผู้บริหารและคุณครูที่ดูแลเด็กปฐมวัยต้องรู้ หากท่านไม่รู้ ท่านการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับเด็กปฐมวัยไม่ได้ วิธีที่จะตรวจสอบตัวเองว่ารู้หรือไม่คือ ถามตัวเองว่ารู้หรือยัง ถ้ายังต้องรีบศึกษา ไม่เพียงแต่ครูผู้สอนเท่านั้น กระทรวงศึกษาธิการเอง หรือแม้แต่คณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์เอง ก็ต้องรู้และเข้าใจถึงพัฒนาการของเด็กเล็กด้วย

เรื่องที่สอง คุณครูรู้หรือไม่ว่า วัตถุประสงค์ของหลักสูตรปฐมวัยคืออะไร

เรื่องที่สาม เมื่อรู้แล้ว เข้าใจแล้ว จะมีวิธีการจัดกิจกรรมการเรียนรู้อย่างไร

มีหลักการทำงานที่สำคัญอยู่ 3 หลักคือ หลักคิด หลักวิชา หลักปฏิบัติ หลักคิดคือ คุณครูต้องรู้ว่า หลักสูตรปฐมวัยจัดทำขึ้นเพื่ออะไร หลักคิดจะถามว่า ทำอะไร ทำไปเพื่ออะไร ทำไปเพื่อใคร ต้องตอบคำถามทั้ง 3 อย่างนี้ได้คือ ทำอะไร คือ การจัดการเรียนการสอนสำหรับเด็กปฐมวัย ทำไปเพื่ออะไร ก็เพื่อคุณภาพ และสาระที่เด็กได้จากการจัดการเรียนการสอนนี้ ทำเพื่อใคร ก็เพื่อตัวเล็ก ๆ แต่ละคน ไม่ใช่รวมกันหมด เพราะเด็กแต่ละคนมีความเป็นเทวดาอยู่ในตัว ต้องให้ความสำคัญกับเทวดาน้อยๆ เหล่านี้ทุกคน หลักวิชา เมื่อเข้าใจหลักคิด และวัตถุประสงค์แล้วก็ต้องมาออกแบบกระบวนการเรียนรู้ ต้องค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมว่า จะจัดอย่างไรให้เหมาะสมกับพัฒนาการของเด็กและตามวัตถุประสงค์ของหลักสูตร และหลักปฏิบัติ คือ การลงมือทำ

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นหลักคิด และหลักปฏิบัติ เพราะฉะนั้นท่านสามารถที่จะนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเข้าไปใช้ ในกระบวนการคิด กระบวนการหาความรู้ กระบวนการวางแผนการเรียนการสอน และในขั้นตอนอื่นๆ ได้อย่างมากมาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงออกแบบปรัชญานี้ขึ้นมา เพื่อเป็นหลักคิด หลักปฏิบัติสำหรับคนไทย วิธีนำไปใช้ แค่เพียงท่านรู้จักหาหลักวิชา เพื่อนำมาออกแบบหลักปฏิบัติให้ถูกต้องตามพันธกิจของงานนั้นๆ ก็จะทำให้งานของท่านไม่เพี้ยน ไม่เบี้ยว และไม่เสียเวลา...”

ด้านอาจารย์สิรินดา ชินแสงทิพย์ ผู้อำนวยการโรงเรียนแก่นจันทร์ วิทยา จังหวัดเพชรบุรี เปิดใจถึง การได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้ว่า “...เกิดจากความร่วมมือร่วมใจกันระหว่างคณะครู ผู้บริหาร ตลอดจนผู้ปกรองและคนในชุมชนเป็นอย่างดี เนื่องจากการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เรื่อง มารักษาแหล่งท่องเที่ยวในชุมชน ซึ่งมีแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญในชุมชนคือ ชายทะเลชะอำ วัตถุประสงค์หลักในการจัดกิจกรรมดังกล่าวคือ ต้องการให้เด็กตระหนัก และเห็นความสำคัญ พร้อมที่จะร่วมกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่อยู่ในชุมชนโดยได้มีการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเข้ามาใช้ในการจัดกิจกรรมหลักทั้ง 6 กิจกรรม และเปิดโอกาสให้เด็กมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมให้มากที่สุด

ผลที่ได้จากการจัดกิจกรรมนอกเหนือจากรางวัลอันทรงเกียรตินี้แล้ว คือ เด็กของเราได้รับประโยชน์จากกิจกรรมนี้มากที่สุด ไม่เพียงแต่เด็กรู้จักความพอเพียงในบริบทที่เด็กๆ จะเรียนรู้ได้เท่านั้น เขายังสามารถนำสิ่งที่เขาได้เรียนรู้มาไปบอกต่อกับผู้ปกครองของเขาให้เข้าใจในหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ผ่านเอกสารแผ่นพับที่พี่ๆ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5-6 ช่วยน้องทำ ในโครงการพี่ช่วยน้องอีกด้วย...”

การจัดประกวดกิจกรรมบูรณาการระดับปฐมวัยและสื่อประกอบการเรียนรู้ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในครั้งนี้ ไม่เพียงจะก่อเกิดความภาคภูมิใจให้แก่ โรงเรียน ครู อาจารย์ นักเรียน ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน แต่ยังจะเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญในวงการการศึกษาระดับอนุบาลที่จะหันมาตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของการปลูกฝังจิตสำนึกด้านความพอเพียงให้กับเด็กตั้งแต่เยาว์วัย เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันใจที่ดีให้กับเด็กตั้งแต่วันนี้และจะคงอยู่เรื่อยไปจนถึงอนาคต.

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ประธานในพิธี

คุณวัชระ ปฏิโภคสุทธิ์ ประธานกรรมการบริหาร สถาบันวิจัยการเรียนรู้

ประธานในพิธี คณะผู้จัดงาน และคณะกรรมการตัดสินการประกวด แถวล่าง (จากซ้าย) คุณรัชพล ศรีวุฒิชาญ, ศ.กิตติคุณ ดร.สมหวัง พิธิยานุวัฒน์, ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา, คุณวัชระ ปฎิโภคสุทธิ์, ดร.ปรียานุช พิบูลสราวุธ, ดร.หม่อมหลวงจันทน์กฤษณา ผลวิวัฒน์, ผศ.บุบผา เรืองรอง แถวบน (จากซ้าย) ผศ.สุพันธ์วดี ไวยรูป, อาจารย์สีฟ้า เคียนโพธิ์ธีระมาตร์, อ.ศิริมาศ โกศัยพิพัฒน์, รศ.พูนสุข บุณย์สวัสดิ์, ผศ.พวงทอง อ่อนจำรัส, ผศ.พิทยาภรณ์ มานะจุติ

ถ่ายภาพร่วมกัน

สื่อมวลชนท่านใด ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่

รถจณา เถาว์พันธ์ สถาบันวิจัยการเรียนรู้ โทรศัพท์ 0-2941-2521-2 ต่อ 105 โทรสาร 0-2941-2529

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net