“ไอที” จัดระเบียบบนยอดดอย วิกฤติที่กลายเป็นโอกาสของอช.อิน

29 Dec 2008

กรุงเทพฯ--29 ธ.ค.--

ภาวะการเมืองที่ร้อนแรง เมื่อผนวกกับวิกฤติเศรษฐกิจที่ลุกลามไปทั่วโลก และราคาน้ำมันที่แพงถึงลิตรละ 40 บาทเศษ ในช่วง 3 ไตรมาสของปี 2551 ทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวตกอยู่ในภาวะล้มลุกคลุกคลานมาตลอด กระทั่งถึงช่วงเดือนธันวาคม ที่ประเทศไทยได้นายกรัฐมนตรีหนุ่ม มาเป็นผู้นำคนใหม่ ทำให้ลดกระแสความรุนแรงทางการเมืองลงได้ระดับหนึ่ง ประกอบกับราคาน้ำมันทั้งในตลาดโลก และในประเทศลดต่ำลง กระตุ้นให้นักท่องเที่ยวภายในประเทศเกิดความกระตือรือร้น ที่จะออกมาท่องเที่ยวส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่

แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติทั้งหลาย จึงค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นมาอีกครั้ง และดูเหมือนว่าภูมิอากาศที่หนาวเย็นของภาคเหนือ จะเป็นเสน่ห์ที่คอยดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาเยี่ยมเยือนได้อีกทางหนึ่ง โดยเฉพาะที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นแหล่ง “สูงสุดยอดแดนสยาม”

  • จัดระเบียบดอยอินทนนท์ รับนักท่องเที่ยว

นายจงคล้าย วชิรพงศธร ผู้อำนวยการส่วนนโยบายและแผน สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า ในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่นี้ ทางกระทรวงได้มอบนโยบายให้อุทยานแห่งชาติสำคัญที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวมากๆ เช่น อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ให้เตรียมมาตรการรองรับนักท่องเที่ยว ตั้งแต่ช่วงวันที่ 25 ธันวาคม 2551-2 มกราคม 2552 ทั้งการจัดเตรียมพื้นที่ การแก้ปัญหาการจราจร การรักษาความปลอดภัย และสิ่งอำนวยความสะดวก ตลอดจนที่พักและจุดกางเต๊นท์

ทั้งนี้เพราะอินทนนท์เป็น 1 ใน 10 แหล่งท่องเที่ยวที่ต้องจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว โดยในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ของปีที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวเข้ามามากกว่า 10,000 คน/วัน ขณะที่อุทยานมีจุดกางเต็นท์ เพียง 3 แห่ง คือ บริเวณดงสน ผาตั้ง และน้ำตกกิ่วแม่ปาน รองรับนักท่องเที่ยวต่อช่วงเวลาได้สูงสุดไม่เกิน 2,500 คน ทำให้จุดกางเต้นท์มีสภาพเหมือนกับสลัมเต้นท์ เพราะต้องกางติดกันมาก ดังนั้นในเทศกาลปีใหม่ จึงได้ขยายจุดกางเต๊นท์เพิ่มอีก 9 จุด โดยคาดว่าจะรองรับเพิ่มอีก 1,000 คน

นอกจากนี้ ยังเกิดปัญหาการจราจรติดขัดตลอดเส้นทางขึ้นดอยอินทนนท์ ในปีนี้จึงได้จัดรถสองแถว 25 คัน และรถตู้อีก 15 คัน ไว้รองรับนักท่องเที่ยวในบริเวณ ก.ม.9 ถนนสายขึ้นดอยอินทนนท์ และที่น้ำตกวังควาย ซึ่งทั้ง 2 จุด สามารถรองรับรถของนักท่องเที่ยวได้ประมาณ 150 คันเท่านั้น

  • เว็บไซด์ ดึงนักท่องเที่ยวสู่ยอดดอย

นายเกรียงศักดิ์ ถนอมพันธ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ กล่าวว่า ปัจจัยหนึ่งที่ทางอุทยานแห่งชาติดอยอินทนน์ใช้เป็นเครื่องมือในการจัดระเบียบ ทั้งสถานที่ท่องเที่ยว นักท่องเที่ยว ตลอดจนใช้ประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ข้อมูลของแหล่งท่องเที่ยวบนดอยอินทนนท์ให้นักท่องเที่ยวได้รับทราบ ก็คือเว็บไซด์ www.doiinthanon.com ซึ่งทางนักวิชาการของสำนักงานพัฒนาต้นน้ำห้วยแก้ว จ.เชียงใหม่ ได้เข้ามาศึกษาวิจัยและจัดทำไว้ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ในช่วงที่ผ่านมา และปัจจุบันเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวอย่างแพร่หลาย

“แม้แหล่งท่องเที่ยวทั่วไปจะซบเซาในช่วงที่ผ่านมา แต่ผู้คนก็ยังเดินทางขึ้นมาสัมผัสความหนาวเย็นบนยอดดอยอินทนนท์อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี และคาดว่าจะคึกคักเป็นพิเศษในช่วงเดือนธันวาคม ต่อเนื่องไปถึงมกราคม ที่สำคัญบางส่วนมีการวางแผนล่วงหน้า โดยศึกษาข้อมูลจากเว็บไซด์ โดยเฉพาะชาวต่างชาติ ทำให้สามารถท่องเที่ยวได้อย่างปลอดภัย และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น” นายเกรียงศักดิ์ อธิบาย

  • นักวิจัย ใช้“วิกฤติ”สร้าง“โอกาส”

ด้านนายอิสระ ศิริไสยาสน์ นักวิชาการ สำนักพัฒนาต้นน้ำห้วยแก้ว จ.เชียงใหม่ ซึ่งทำการศึกษาวิจัยระบบสารสนเทศเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ (ระบบบริการข้อมูล) ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เล่าถึงแรงบันดาลใจในการวิจัยว่า เกิดจากปัญหานักท่องเที่ยวล้นดอยอินทนนท์ในช่วงเทศกาลต่าง ๆ โดยเฉพาะปีใหม่ ทำให้เกิดปัญหาการจราจรแออัด และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ไม่เพียงพอ เช่น ที่พัก ห้องน้ำ ร้านอาหาร ฯลฯ

หลังจากพัฒนาเว็บไซด์ จนถึงขั้นเรียลไทม์ ก็ได้ส่งมอบให้ทางอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์นำไปใช้ประโยชน์และพัฒนาต่อยอด เมื่อเดือนธันวาคม 2550 ที่ผ่านมา และรู้สึกดีใจมากที่ทางอุทยานได้นำไปใช้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งไม่เพียงแค่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์เท่านั้นที่ได้ประโยชน์ เพราะมีการบูรณาการงานหลายฝ่าย รวมทั้งการประสานหน่วยงาน หรือองค์กรที่ทำหน้าที่ในการพัฒนาการท่องเที่ยวในพื้นที่ดอยอินทนนท์หลายองค์กร

ได้แก่ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ สถานีวิจัยโครงการหลวงอินทนนท์ หน่วยจัดการต้นน้ำแม่กลาง หน่วยไฟป่าอินทนนท์ สำนักงานพัฒนาเกษตรที่สูงดอยอินทนนท์ และองค์การบริหารส่วนตำบลในพื้นที่ มาพูดคุย หารือ เพื่อวางแผน และกำหนดทิศทางการพัฒนาการท่องเที่ยวร่วมกัน ทำให้การพัฒนาการท่องเที่ยวในพื้นที่ดอยอินทนนท์เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และสามารถประสานทรัพยากรบุคคล งบประมาณ และอื่นๆ เพื่อให้การพัฒนาการท่องเที่ยวเป็นไปอย่างสอดคล้อง เหมาะสมและเกิดความยั่งยืนต่อไป

นับเป็นความสำเร็จของนักวิจัย ที่สามารถเปลี่ยนวิกฤติปัญหา ให้กลายเป็นโอกาส ทำให้นักท่องเที่ยวที่ต้องการเดินทางมาสัมผัสไอหนาวบนดอยอินทนนท์ สามารถหาข้อมูล และเตรียมตัววางแผนล่วงหน้าได้ ไม่กระจุกตัวอยู่เฉพาะยอดดอย ขณะเดียวกันในส่วนของอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์เอง ก็อาศัยไอทีเป็นเครื่องมือสนับสนุนการท่องเที่ยว ใช้ประโยชน์ร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพทุกฝ่าย.

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ

ผู้ส่ง : saichol

เบอร์โทรศัพท์ : 0815685072

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit