กรุงเทพฯ--27 พ.ย.--สสส.
สสส. และสถาบันรักลูก เผยสถาบันครอบครัวไทยกำลังวิกฤติ เหตุอัตราหย่าร้างเพิ่มสูง ความสุขและความอบอุ่นในครอบครัวลดลง เด็กถูกทอดทิ้งขาดการเอาใจใส่ หนุนกิจกรรมชวน พ่อ-แม่ เข้าโรงเรียน ร่วมแก้ปัญหาสร้างครอบครัวเข้มแข็ง
โครงการศูนย์การเรียนรู้เพื่อครอบครัวเข้มแข็ง จังหวัดสงขลา จึงเกิดขึ้นมาเพื่อหาแนวทางการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันครอบครัว ซึ่งเป็นแนวคิดของ สถาบันรักลูก โดยการสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นายวันชัย บุญประชา ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะครอบครัว สสส. เปิดเผยว่า เราต้องการให้ครอบครัวของคนไทยมีสุขภาวะที่ดี ใน 4 มิติ คือ มิติทางกาย จิตใจ สังคม และปัญญา ซึ่งจะส่งผลให้เกิดสัมพันธภาพที่ดีของสมาชิกในครอบครัว
“แนวคิดในการแก้ปัญหาคือการหยุดความทุกข์และการสร้างความสุข 8 ข้อ ได้แก่ หยุดอบายมุข หยุดนอกใจ หยุดใช้ความรุนแรง หยุดภาวะหนี้สิน และสร้างการเอื้อเฟื้อแบ่งปัน กระตุ้นให้เห็นว่าครอบครัวเป็นเรื่องสำคัญสูงสุด กระตุ้นให้มีการทำกิจกรรมร่วมกันในครอบครัว และสร้างให้เกิดการสื่อสารที่ดีระหว่างกันของคนในครอบครัว” นายวันชัยกล่าว
คุณเอมอร โพธิวิจิตร ที่ปรึกษาโครงการศูนย์การเรียนรู้เพื่อครอบครัวเข้มแข็ง จ.สงขลา ระบุหลังพบเยาวชนในจังหวัดมีปัญหาครอบครัวแตกร้าวเพิ่มขึ้น ทำให้เด็กจิตใจไม่เป็นสุข การเรียนตกต่ำ จึงได้กำหนดแนวทางการฟื้นฟูสถาบันครอบครัวด้วยการจัดกิจกรรมเวทีเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วมระหว่างเด็กและผู้ปกครองโดยใช้โรงเรียนเป็นจุดเริ่มต้น“ปัจจุบันมีโรงเรียน 11 แห่ง ใน 5 อำเภอ ที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งในการจัดเวทีโรงเรียนในช่วงปีแรกๆ มีผู้ปกครองตอบรับเพียงร้อยละ 30 แต่ในปัจจุบันมีพ่อแม่เข้าร่วมกิจกรรมมากถึง 80 เปอร์เซ็นต์”
โรงเรียนบ้านเคลียง ตำบลนาทวี อำเภอนาทวี จ.สงขลา เป็นอีกโรงเรียนหนึ่งที่พบปัญหาว่าเด็กมีความห่างเหินกับพ่อแม่ เพราะครอบครัวส่วนใหญ่มีอาชีพทำสวนยาง และเป็นลูกจ้างโรงงาน จึงได้จัดเวทีเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วมให้พ่อแม่และเด็กได้ทำกิจกรรมร่วมกัน
“โรงเรียนได้เปิดเวทีในหัวข้อการใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง โดยให้ลูกอ่านหนังสือให้พ่อแม่ฟัง คำไหนอ่านผิดพ่อแม่ก็จะสอนลูก ซึ่งเราก็จะค่อยๆ สอดแทรกวิธีการเลี้ยงและดูแลลูกเข้าไปทีละน้อย พ่อแม่ก็สนิทกับครูกล้าปรึกษาปัญหาต่างๆ ของลูกมากขึ้น” คุณครูอธิษฐาน ยอดเอียด จากโรงเรียนบ้านเคลียงกล่าว
“หลังจากการจัดเวทีเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วมพบว่าเด็ก พ่อแม่ และครูมีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น พ่อแม่ลูกต่างรู้บทบาทของตนในการดูแลเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน เกิดความอบอุ่นครอบครัว ส่งผลให้เด็กมีพื้นฐานจิตใจและพฤติกรรมการแสดงออกที่ดี ซึ่งผลที่เกิดจากการดำเนินงานจะเป็นตัวอย่างให้ชุมชนและสถานศึกษาอื่นๆนำไปเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาให้แก่เยาวชนในพื้นที่อื่นๆต่อไป” คุณเอมอร กล่าวสรุป
ผู้ส่ง : punnda
เบอร์โทรศัพท์ : 0813580687
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit