แพทย์โรคติดเชื้อทั่วประเทศ ร่วมประชุมสัมมนาระดับชาติ เรื่องโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสครั้งแรกในประเทศไทย

03 Dec 2008

กรุงเทพฯ--3 ธ.ค.--คอมมูนิเคชั่น แอนด์ มอร์

สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย และสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย นำแพทย์โรคติดเชื้อกว่า 200 คนจากทั่วประเทศร่วมผนึกกำลังประชุมสัมมนาระดับชาติ เรื่องโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสครั้งแรกในประเทศไทย มุ่งนำเสนอความรู้ใหม่ๆ เกี่ยวกับโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสร่วมกัน และสร้างเครือข่ายหาแนวทางในการลดอุบัติการณ์โรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสในประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อปกป้องเด็กไทยให้พ้นจากโรคติดเชื้อรุนแรง เผยโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสเป็นปัญหาสุขภาพระดับโลกที่ทุกประเทศให้ความสำคัญและเร่งป้องกัน ย้ำเป็นสาเหตุการเกิดโรคติดเชื้อรุนแรงมากมาย รวมทั้งโรคปอดบวม สาเหตุการตายอันดับหนึ่งของเด็กเล็กทั่วโลกกว่าปีละ 2 ล้านคนทุกปี

จากการประชุมสัมมนาระดับชาติ เรื่องโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสในประเทศไทย ครั้งที่ 1 (ครั้งแรกในประเทศไทย) ด้วยความร่วมมือของสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย และสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย โดยมี รศ. (พิเศษ) นพ. ทวี โชติพิทยสุนนท์ แพทย์โรคติดเชื้อ สถาบันสุขภาพเด็กมหาราชินี ในฐานะประธานจัดงานประชุมเปิดเผยว่า เชื้อนิวโมคอคคัสเป็นเชื้อแบคทีเรีย สามารถแพร่กระจายได้ง่าย โดยเฉพาะในช่วงหน้าหนาว และก่อให้เกิดโรคติดเชื้อรุนแรงต่างๆ ซึ่งผู้ป่วยอาจจะพิการ หรือเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ขวบ รวมทั้งปอดบวมซึ่งเป็นสาเหตุการตายที่สำคัญอันดับ 1 ของเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ขวบทั่วโลกกว่าปีละ 2 ล้านคน นอกจากนั้นยังพบอีกว่าเชื้อนิวโมคอคคัสมีอัตราการดื้อยาสูง ทำให้แพทย์รักษาได้ยากขึ้น ซึ่งการป้องกันที่ดีคือการให้วัคซีนไอพีดี แต่ปัจจุบันยังมีราคาสูงอยู่

รศ. (พิเศษ) นพ.ทวี กล่าวเพิ่มเติมว่า การประชุมสัมมนาครั้งนี้ นับเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการรวบรวมปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับเชื้อนิวโมคอคคัสที่มีอยู่กระจัดกระจายในประเทศไทย เพื่อนำมาพิจารณาหาแนวทางที่คุ้มค่า และเหมาะสมในการป้องกันและรักษาด้วยวัคซีนต่อไป ตลอดจนเพื่อใช้ข้อมูลดังกล่าวเป็นหลักฐานในการอ้างอิงในระดับชาติ และนานาชาติต่อไป สำหรับประเทศไทยพบว่าเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี ติดเชื้อนิวโมคอคคัสประมาณ 21 คน ต่อเด็กแสนประชากร

ศ.พญ.อุษา ทิสยากร กรรมการบริหารสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งโลก และเลขาธิการสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งเอเชีย กล่าวว่า เชื้อนิวโมคอคคัสเป็นเชื้อโรคที่มีมานานแล้ว ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการติดเชื้อกลุ่มโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส (ไอพีดี) ประกอบด้วย โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ โรคติดเชื้อในกระแสเลือด ไซนัสอักเสบ หูน้ำหนวก รวมทั้งเป็นสาเหตุสำคัญของปอดบวมรุนแรงในเด็ก โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กที่มีความเสี่ยงสูง เช่น เด็กที่เป็นโรคเอดส์ โรคธาลัสซีเมีย ไม่มีม้ามมาตั้งแต่กำเนิด รวมทั้งผู้สูงอายุด้วย ซึ่งอาจก่อให้เกิดความพิการด้านร่างกาย หรืออาจรุนแรงจนเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะในทารก และเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ขวบ นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงค่ารักษาพยาบาลจำนวนมากมายมหาศาลในแต่ละปี ตลอดจนความรู้สึกของผู้ป่วย และญาติ

“องค์กรอนามัยโลก (WHO) แนะนำให้ฉีดวัคซีนไอพีดีให้แก่เด็กเล็กทุกคน หากในประเทศนั้นๆ ที่มีอัตราการตายของประชากรสูง หรือหากอัตราการตายไม่สูง แต่มีโอกาสที่เด็กมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสสูง สำหรับในประเทศไทยกรุงเทพมหานครได้เริ่มโครงการฉีดให้เด็กที่เกิดในเขตกรุงเทพ มหานครในวันที่ 5 ธ.ค. 2550 และกำลังเริ่มโครงการที่จะฉีดวัคซีนไอพีดีให้กับเด็กที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อไป” ศ.พญ.อุษา กล่าว

ศ.นพ.อมร ลีลารัศมี นายกสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การฉีดวัคซีนไอพีดีให้กับเด็ก นอกจากจะป้องกันการติดเชื้อนิวโมคอคคัสในเด็กเล็กแล้ว ยังลดการแพร่กระจายเชื้อจากเด็กไปสู่ผู้ใหญ่อีกด้วย หรือเรียกว่า HERD COMMUNITY ซึ่งจากงานวิจัยในอเมริกาชี้ว่า เมื่อฉีดวัคซีนไอพีดีในเด็ก ทำให้อุบัติการณ์การติดเชื้อในเด็กลดลงแล้ว ยังพบว่าอุบัติการณ์การติดเชื้อในผู้ใหญ่ก็ลงลงอย่างชัดเจนด้วย โดยเฉพาะในบ้านที่มีผู้สูงอายุ กับเด็กอยู่ร่วมกัน

ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกระบุว่า เชื้อนิวโมคอคคัสนับเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ขวบทั่วโลกกว่า 2 ล้านคนต่อปี ดังนั้น WHO จึงได้ออกแถลงการณ์เมื่อเดือนเมษายน 2550 ที่ผ่านมา โดยได้ประกาศจุดยืนในการให้ความสำคัญต่อการป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งหมายรวมถึงโรคปอดบวม และปอดอักเสบรุนแรง โดย WHO ได้ขอความร่วมมือให้แต่ละประเทศพิจารณาอนุมัติบรรจุวัคซีนดังกล่าวให้เป็นวัคซีนพื้นฐานสำหรับเด็กเล็ก ซึ่งปัจจุบันมีการฉีดวัคซีนไอพีดีให้เด็กเล็กใน 92 ประเทศทั่วโลก (ตั้งแต่มกราคม 2550) และใน 37 ประเทศได้ระบุให้การฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสอยู่ในแผนสาธารณสุขแห่งชาติ โดยในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และ ฮ่องกง ที่บรรจุวัคซีนไอพีดีให้เป็นวัคซีนพื้นฐาน

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ

บุษบา / พิธิมา

โทร. 0-2718-3800 ต่อ 135 / 138