กรุงเทพฯ--1 ธ.ค.--ก.ล.ต.
จากการที่บริษัทหลักทรัพย์เพื่อธุรกิจหลักทรัพย์ จำกัด (TSFC) ประสบปัญหาด้านฐานะการเงินมีสภาพคล่องไม่เพียงพอต่อการประกอบธุรกิจ และสำนักงาน ก.ล.ต. ได้สั่งการให้ TSFC หารือกับผู้ถือหุ้นเพื่อกำหนดแผนงานการแก้ไขปัญหา โดยให้นำส่งแผนงานดังกล่าวต่อสำนักงาน ก.ล.ต.ภายในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2551 นั้น
เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา TSFC ได้มีหนังสือแจ้งแผนการเพิ่มทุนต่อสำนักงาน ก.ล.ต. โดยแผนดังกล่าวไม่มีความชัดเจนว่า TSFC จะสามารถเพิ่มทุนได้ สำนักงาน ก.ล.ต. จึงได้นำเสนอต่อคณะกรรมการกำกับตลาดทุนในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2551 ซึ่งคณะกรรมการกำกับตลาดทุนมีความเห็นว่า เนื่องจากปัจจุบัน TSFC มีสินทรัพย์หลังหักภาษีรอการตัดบัญชีน้อยกว่าหนี้สิน รวมทั้งมีผลขาดทุนที่ยังไม่เกิดขึ้นจากการลงทุนในหลักทรัพย์ ซึ่งบริษัทจะต้องรับรู้ผลขาดทุนดังกล่าวเมื่อปิดงวดการบัญชีสิ้นปีนี้ โดยทำให้คาดว่าประมาณการอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) จะต่ำกว่าอัตราส่วนที่กฎหมายกำหนดให้ต้องดำรงที่ 8% คณะกรรมการกำกับตลาดทุนจึงสั่งการ ดังนี้
1. ให้ TSFC เพิ่มเงินกองทุนให้เพียงพอตามที่กฎหมายกำหนด ในจำนวนที่ไม่น้อยกว่า 279 ล้านบาท โดยให้ส่งรายละเอียดของแผนที่แสดงถึงผู้ที่พร้อมจะลงทุนหรือให้กู้ยืมแบบไม่มีเงื่อนไขตามจำนวนที่กำหนด ต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ภายในวันที่ 11 ธันวาคม 2551
2. ในช่วงที่ TSFC ยังไม่สามารถเพิ่มเงินกองทุนได้ TSFC จะต้องไม่ขยายธุรกิจและลงทุนในตราสารที่มีความเสี่ยงเพิ่มอีก
3. หาก TSFC จะกู้ยืมเงิน ผู้ที่ให้กู้ยืมจะต้องไม่มีสถานะเป็นเจ้าหนี้มีประกันหรือมีบุริมสิทธิเหนือเจ้าหนี้อื่น เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่เจ้าหนี้รายเดิม โดย TSFC จะต้องเปิดเผยความเสี่ยงทางกฎหมาย ฐานะการเงินที่ตีมูลค่าเงินลงทุนตามราคาตลาด การดำเนินการตามการสั่งการของคณะกรรมการกำกับตลาดทุน รวมทั้งความคืบหน้าของแผนการเพิ่มทุน ให้ผู้ที่จะให้กู้ยืมรับทราบก่อนด้วย
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า “ปัญหาฐานะการเงินของ TSFC จะกระทบเฉพาะ TSFC โดยจะไม่มีผลกระทบต่อระบบการซื้อขายหลักทรัพย์ ระบบการส่งมอบหลักทรัพย์และการชำระราคาในตลาดหลักทรัพย์โดยรวม เนื่องจาก TSFC ไม่ได้ประกอบธุรกิจการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ และไม่ได้เป็นสมาชิกของสำนักหักบัญชี
สำหรับลูกหนี้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์ (ลูกหนี้มาร์จิ้น) จาก TSFC นั้น ในขณะนี้จะยังไม่มีการเรียก หนี้คืนหรือบังคับให้ต้องขายหุ้นเพื่อชำระหนี้ทันที แต่หากลูกค้าประสงค์จะโอนย้ายไปเป็นลูกหนี้มาร์จิ้นของ บล. อื่นที่ให้บริการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์อยู่แล้วก็สามารถทำได้”
“ในส่วนของกองทุนรวมที่มีการลงทุนในตั๋วแลกเงินของ TSFC นั้น เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถือหน่วยลงทุนของกองทุนรวมเหล่านี้ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจะดำเนินการให้กองทุนเปิดทุกกอง (ที่ไม่ใช่กอง auto redemption) ที่มีการลงทุนในตั๋วแลกเงินของ TSFC แยกการลงทุนในส่วนที่เป็นตั๋วแลกเงินของ TSFC ไว้ต่างหากก่อน โดยไม่นำมารวมคำนวณใน NAV ของกองทุนรวม (set aside) ดังนั้น ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป NAV ที่ใช้ในการกำหนดราคาขายและรับซื้อคืนหน่วยลงทุนของกองทุนเปิดดังกล่าวจะไม่นำการลงทุนในตั๋วแลกเงินของ TSFC มารวมคำนวณ และเมื่อกองทุนเปิดดังกล่าวนั้นได้รับชำระเงินจริง จึงจะนำเงินนั้นมาจ่ายแก่ผู้ถือหน่วยลงทุนเฉพาะที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนผู้ถือหน่วยลงทุน ณ วันที่ทำการ set aside”
“ผมขอย้ำว่าผู้ถือหน่วยลงทุนไม่มีความจำเป็นต้องรีบซื้อหรือขายคืนหน่วยลงทุนหรือตื่นตระหนกกับเหตุการณ์ดังกล่าว เพราะผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการที่กองทุนรวมถือตั๋วแลกเงินเหล่านี้ได้ถูกแยกออกจากกองทุนรวมไว้ชั่วคราวแล้ว”
นายธีระชัย กล่าวให้ความมั่นใจแก่ผู้ลงทุนว่า “บริษัทหลักทรัพย์รายอื่นๆ ที่ให้บริการนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์เป็นหลักนั้น ยังคงมีฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง โดย ณ วันที่ 27 พฤศจิกายน 2551 บล. ทั้งระบบมีเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิสูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดเป็นจำนวน 49,000 ล้านบาท ส่วนการลงทุนในตลาดหุ้นมีอยู่ในระดับต่ำ และยังไม่พบความผิดปกติแต่อย่างใด”
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ฝ่ายงานเลขาธิการ : 0-2695-9502-5 e-mail: [email protected]
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit