กรุงเทพฯ--20 มิ.ย.--คอมมูนิเคชั่นแอนด์มอร์
ชมรมโภชนวิทยามหิดล ร่วมกับ บริษัท ล่ำสูง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) จัดสัมมนาในหัวข้อ “Metabolic Syndrome…, มฤตยูร้ายทำลายสุขภาพ” สำหรับนักโภชนาการและนักวิชาการ เพื่อส่งเสริมบทบาทด้านโภชนาการของผู้บริโภคให้ความรู้พร้อมแนะวิธีการลดความเสี่ยงโรคร้ายต่างๆ เพื่อสุขภาพที่ดีของคนไทย เช่น โรคอ้วนลงพุง เบาหวาน หลอดเลือด หัวใจ เป็นต้น โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้มากมาย เพื่อนำไปเผยแพร่ให้ผู้บริโภคต่อไป ณ ห้องสยามมกุฎราชกุมาร อาคารเฉลิมพระบารมี 50 ปี แพทยสมาคมแห่งประเทศไทย เมื่อเร็วๆ นี้
พญ.รัชดา เกษมทรัพย์ อาจารย์ประจำคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า Metabolic Syndrome หรือโรคอ้วนลงพุง เป็นฆาตกรเงียบที่หลายคนคาดไม่ถึง ส่วนใหญ่เกิดจากพฤติกรรมการบริโภค กรรมพันธุ์ และการไม่ออกกำลังกาย คนที่อ้วนลงพุงจะมีไขมันสะสมในช่องท้องมากเกินไป ซึ่งไขมันที่สะสมนี้จะแตกตัวเป็นกรดไขมันอิสระเข้าสู่ตับ มีผลให้อินซูลินออกฤทธิ์ได้ไม่ดี เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน จนเกิดเป็นภาวะอ้วนลงพุง ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคเรื้อรังต่างๆ ตามมา เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน เป็นต้น ซึ่งเราสามารถวางแผนการรับประทานอาหารด้วยการควบคุมน้ำหนัก ด้วยการ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินให้ถูกชนิด ปริมาณ และถูกเวลา รวมทั้งเคลื่อนไหวร่างกายให้มากขึ้น
ด้านอ.ศัลยา คงสมบูรณ์เวช นักกำหนดอาหารขึ้นทะเบียนวิชาชีพประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้ให้การปรึกษาด้านโภชนบำบัด กล่าวว่า แม้ว่าไขมันจะเป็นสาเหตุของการเกิดโรคร้ายต่างๆ แต่ไขมันเป็นสารอาหารสำคัญที่ร่างกายขาดไม่ได้ ทั้งยังเป็นส่วนประกอบในอาหารทุกมื้อจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก ในสมัยก่อนนักโภชนาการส่วนใหญ่จะแนะนำให้ผู้บริโภคทานอาหารที่มีไขมันต่ำ จนทำให้หลายคนกลัวการกินไขมัน แต่กลับบริโภคอาหารคาร์โบไฮเดรตมากขึ้น บางคนไม่กินไขมันหรือกินน้อยมากจนทำให้ขาดกรดไขมันจำเป็นไปเลยก็ว่าได้ แต่ในปัจจุบันมีข้อมูลการวิจัยใหม่ๆ แนะการเลือกชนิดของไขมันหรือน้ำมันที่ดี ในปริมาณที่เหมาะสมกับพลังงานที่ใช้ไปในชีวิตประจำวัน เพื่อลดความเสี่ยงโรคได้ น้ำมันที่ดีที่ควรรับประทาน ควรมีองค์ประกอบของกรดไขมันอิ่มตัวต่ำและไขมันไม่อิ่มตัวตำแหน่งเดียวสูง ได้แก่ น้ำมันมะกอก น้ำมันเมล็ดชา น้ำมันคาโนลา เป็นต้น ซึ่งจะช่วยลดระดับคอเลสเทอรอลโดยไม่ลดเอชดีแอล ช่วยลดไตรกลีเซอร์ไรด์ได้ และสามารถนำไปใช้แทนคาร์โบไฮเดรตได้ด้วย
“น้ำมันเมล็ดชา” มีใช้ในราชวงศ์ซ้องของจีนมากว่า 2,300 ปี โดยได้มีการบันทึกคุณสมบัติ ด้านสุขภาพไว้ว่าช่วยลดคอเลสเทอรอล ฯลฯ ปัจจุบันได้มีกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และการวิจัยถึงคุณสมบัติที่ดีของน้ำมันเมล็ดชา พบว่าน้ำมันเมล็ดชามีสัดส่วนกรดไขมันชนิดต่างๆ ในปริมาณที่ดีไม่ด้อยไปกว่าน้ำมันมะกอก คือ มีกรดไขมันอิ่มตัวต่ำ มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวตำแหน่งเดียวในรูปของกรดโอเลอิกสูงถึง 88% มีกรดไขในไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่งในรูปของโอเมกา 6, 3 เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังอุดมด้วยวิตามินเอ บี ดีและอีสูง ซึ่งวิตามินอีเป็นสารต้านอนุมูลอิสระจึงช่วยยืดอายุการใช้งานของน้ำมันให้นานขึ้น และมีสารต้านอนุมูลอิสระสูง คือสารแคททีชิน ซึ่งเป็นสารโพลีฟีนอลที่ช่วยลดการออกซิเดชั่นของแอลดีแอล จึงช่วยป้องกันหลอดเลือดตีบตัน และป้องกันการอักเสบของเนื้อเยื่อ ลดอนุมูลอิสระ จึงช่วยลดความเสี่ยงปัญหาสุขภาพ และน้ำมันเมล็ดชา สามารถนำไปประกอบอาหารได้หลากหลายชนิด เช่น น้ำสลัด ผัด ทอด หรือการหมัก เป็นต้น
“อย่างไรก็ตาม การใช้น้ำมันจะต้องเลือกชนิดและอ่านฉลากข้อมูลโภชนาการให้ละเอียด รวมทั้งยังต้องรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ในสัดส่วนที่เหมาะสมโดยเน้นผักผลไม้ที่มีกากใยมากๆ และต้องออกกำลังกายควบคู่ไปด้วยจึงจะช่วยส่งเสริมสุขภาพ ลดความเสี่ยงโรคร้าย และห่างไกลภาวะอ้วนลงพุง” อ.ศัลยา กล่าวทิ้งท้าย
ส่วนทางด้าน ผศ.ดร.เรวดี จงสุวัฒน์ อาจารย์ประจำภาควิชาโภชนวิทยา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล แนะถึงวิธีการกินต้านโรค-เสริมสุขภาพ เพื่อลดความเสี่ยงโรคอ้วนลงพุง รวมถึงโรคร้ายอื่นๆ ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมการกิน ให้หันมาทานผักผลไม้มากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงโรคร้ายและสุขภาพที่ดีของผู้บริโภค ปัจจุบันคนส่วนใหญ่ทานอาหารนอกบ้าน ซึ่งเราไม่สามารถควบคุมวัตถุดิบในการทำได้ทั้งผัก เนื้อสัตว์ หรือชนิดของน้ำมัน จึงควรทำอาหารทานเองอย่างน้อยในวันหยุด นอกจากนี้ต้องหันมาทานผักและผลไม้กันให้มากขึ้น ซึ่งคนที่อ้วนลงพุงรวมถึงเด็กๆ ส่วนใหญ่จะไม่ชอบทานผัก เราจึงต้องช่วยกันหาวิธีและแนวทางในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยอาจใช้วิธีบดผักและผลไม้ผสมลงไปในอาหารเพื่อง่ายต่อการบริโภค นอกจากนี้ยังต้องควบคุมเรื่องอื่นๆ ด้วยรวมถึงการออกกำลังกาย สิ่งที่ง่ายที่สุดคือการเดิน พยายามเดินให้มากขึ้น เป็นต้น
สอบถามรายละเอียดประชาสัมพันธ์ โทร. 0-2718-3800 ต่อ 132,136
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit