กรุงเทพฯ--16 มิ.ย.--เอพีพีอาร์ มีเดีย
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับมหาวิทยาลัยรามคำแหง จัดงานแถลงข่าวความสำเร็จ “โครงการหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต สาขาการจัดการนวัตกรรม” มหาวิทยาลัยรามคำแหง และการสนับสนุน 3 โครงการนวัตกรรมของนักศึกษาร่วมโครงการฯ ณ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
นายวุฒิพงศ์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า “หลักสูตรการจัดการนวัตกรรมเป็นความร่วมมือระหว่าง สนช. และมหาวิทยาลัยรามคำแหงในความพยายามบุกเบิกเพื่อพัฒนาหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต สาขาการจัดการนวัตกรรม จนประสบความสำเร็จตามเป้าหมายสำคัญทั้งในด้านการเสริมสร้าง
องค์ความรู้และทักษะด้านหลักการจัดการนวัตกรรมแก่บุคลากรของประเทศ และในด้านการสร้างองค์กรธุรกิจนวัตกรรมเพื่อการแข่งขันทางเศรษฐกิจ โดยหลักสูตรบริหารธุรกิจ สาขาการจัดการนวัตกรรมนี้ สนช. และมหาวิทยาลัยรามคำแหงได้ร่วมกันพัฒนาขึ้น ซึ่งมีความพิเศษตรงที่นอกจากจะสอนนักศึกษาในเนื้อหาวิชาที่จะสามารถนำไปใช้ในการประกอบธุรกิจนวัตกรรมได้แล้ว ยังมีกลไกลการสนับสนุนจาก สนช. มารับช่วงต่อสำหรับนักศึกษาที่สามารถคิดค้นหรือผลิตนวัตกรรมขึ้นมาได้ และต้องการขยายผลให้เป็นธุรกิจจริง ซึ่งที่ผ่านมาก็มีนักศึกษาเข้ามาขอรับคำแนะนำในการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมและยื่นข้อเสนอโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันความสำเร็จของการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรการจัดการนวัตกรรมในความร่วมมือของ สนช. และมหาวิทยาลัยรามคำแหงได้เป็นอย่างดี”
ดร. สุจินดา โชติพานิช ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และประธานกรรมการนวัตกรรมแห่งชาติ กล่าวว่า “จากการดำเนินการร่วมกันระหว่าง สนช. และมหาวิทยาลัยรามคำแหงนั้น ถือว่าบรรลุวัตถุประสงค์ในการผลิตนวัตกรตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยนอกจากความร่วมมือในด้านการจัดการศึกษาแล้ว สนช. ยังได้ใช้กลไกลการสนับสนุนธุรกิจนวัตกรรมของสำนักงานฯ ผลักดันให้ความคิดของนักศึกษาเกิดการพัฒนาจนเป็นธุรกิจจริงได้ ดังตัวอย่าง 3 ผลงาน ที่ สนช. ให้การสนับสนุนเงินทุน ได้แก่ 1) ผลงานด้านซอฟแวร์และการบริการ “THAI SOS ต้นแบบระบบขอความช่วยเหลือแบบพกพา” เป็นระบบขอความช่วยเหลือแบบพกพา ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมด้านการบริการระดับประเทศที่มุ่งเน้นด้านความปลอดภัยในการท่องเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยว ได้รับเงินอุดหนุนด้าน “วิชาการ” จำนวนเงินไม่เกิน 65,000 บาท จากมูลค่าโครงการรวมทั้งสิ้น 143,000 บาท”
“2) ผลงานทางด้านธุรกิจชีวภาพ “ภูเขาทอง” ปุ๋ยชีวภาพจากเชื้อจุลินทรีย์กลุ่มตรึงไนโตรเจนได้อย่างอิสระ” เป็นปุ๋ยชีวภาพที่มีส่วนประกอบเป็นเชื้อจุลินทรีย์ 3 สายพันธุ์ที่มีประสิทธิภาพสูงในการตรึงไนโตรเจนลงในดิน ใช้กระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐานสามารถกำหนดสายพันธุ์และปริมาณจุลินทรีย์ที่เป็นส่วนประกอบได้ มีการขึ้นทะเบียนเป็นปุ๋ยชีวภาพตาม พ.ร.บ. ปุ๋ย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550 และตรงตามมาตรฐานปัจจัยการผลิตเกษตรอินทรีย์ ของ IFOAM ได้รับเงินอุดหนุนด้าน “วิชาการ” จำนวนเงินไม่เกิน 200,000 บาท จากมูลค่าโครงการรวมทั้งสิ้น 305,790 บาท และ 3) ผลงานทางด้านเครื่องกล “เครื่องกัดซีเอ็นซีขนาดเล็ก แบบ 3 แกน - Mini CNC” ออกแบบโดยอาศัยซอฟต์แวร์โปรแกรม EMC ที่รองรับงานด้านซีเอ็นซีโดยเฉพาะ จึงทำให้การออกแบบและควบคุมการทำงานเกิดประสิทธิภาพ ต้นทุนไม่สูง และสามารถลดการนำเข้าเครื่องจักรกลประเภทดังกล่าว ได้รับเงินอุดหนุนในโครงการ “แปลงเทคโนโลยีเป็นทุน” จำนวนเงินไม่เกิน 130,000 บาท จากมูลค่าโครงการรวมทั้งสิ้น 177,000 บาท”
ดร. ศุภชัย หล่อโลหการ ผู้อำนวยการ สนช. กล่าวว่า “โครงการหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต สาขาการจัดการนวัตกรรม” เป็นความร่วมมือกันระหว่าง สนช. และมหาวิทยาลัยรามคำแหง เพื่อใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาทักษะด?านการจัดการนวัตกรรมของบุคลากรของประเทศ ซึ่งหลักสูตรดังกล่าวนี้เป็นการเชื่อมโยงองค์ความรู้ต่างๆ ซึ่งถูกพัฒนาโดยนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ และผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาต่างๆ ทั้งด้านการจัดการเทคโนโลยี การจัดการทรัพย์สินทางปัญญา การจัดการธุรกิจ การเงิน และการลงทุน โดยมีวิชาที่โดดเด่น อาทิ การจัดการนวัตกรรม กลยุทธ์ทางการจัดการ และการจัดการทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งที่ผ่านมา สนช. ได้จัดอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิและมีความเชี่ยวชาญในการวิเคราะห์ธุรกิจนวัตกรรมเข้าร่วมเป็นอาจารย์ผู้สอน อีกทั้งร่วมเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาให้คำแนะนำในการทำวิจัยของนักศึกษาด้วย ซึ่งจะมีการสนับสนุนทุนการศึกษาในโครงการความร่วมมือในการผลิตนักวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแก่นักศึกษาในการทำหัวข้อวิจัยที่เป็นประโยชน์กับประเทศชาติ นอกจากนี้ สนช. ยังกระตุ้นและผลักดันให้เกิดการทำธุรกิจนวัตกรรมในกลุ่มนักศึกษา โดยอาศัยกลไกการสนับสนุนธุรกิจนวัตกรรมที่สำนักงานฯ ได้ดำเนินการอยู่แล้ว ซึ่ง 3 ผลงานนี้ถือเป็นตัวอย่างความสำเร็จของความร่วมมือระหว่าง 2 หน่วยงานใน “โครงการหลักสูตรบริหารธุรกิจ สาขาการจัดการนวัตกรรม” ได้เป็นอย่างดี ซึ่ง สนช. ตั้งใจจะขยายผลการจัดการศึกษาในรูปแบบนี้กับมหาวิทยาลัยอื่นๆ ต่อไป ทั้งส่วนกลางและภูมิภาค เพื่อเพิ่มจำนวนบุคคลากรด้านนวัตกรรมของประเทศ และสร้างสรรค์นวัตกรรุ่นใหม่ให้ประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง”
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit