กระทรวงไอซีที วางแผนแปลงโฉมเป็นสำนักงานอิเล็กทรอนิกส์ด้วยระบบ e-Office ตั้งเป้าลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารราชการแบบก้าวกระโดด

26 Jun 2008

กรุงเทพฯ--26 มิ.ย.--กระทรวงไอซีที

กระทรวงไอซีที รุกศึกษาความต้องการหน่วยงานในสังกัดเพื่อออกแบบและติดตั้งระบบสำนักงานอิเล็กทรอนิกส์ (e-Office) ที่มีประสิทธิภาพสูงสุด หวังเพิ่มศักยภาพการทำงานในองค์กรด้วยไอซีทีและลดค่าใช้จ่ายในการบริหารสำนักงาน

นายสือ ล้ออุทัย ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เผยว่า กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ได้วางแผนที่จะนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ e-Office อันเป็นระบบสำนักงานอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ที่ทำงานต่อเนื่องเป็นหนึ่งเดียวด้วยระบบ e-Document และ e-Management ที่เน้นการใช้เอกสารอิเล็กทรอนิกส์เป็นแกนหลักในการจัดการ มาเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการกระทรวงฯ และหน่วยงานในสังกัด โดยขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงศึกษาระบบและได้มอบหมายให้นางอาทิตยา สุธาธรรม ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เป็นผู้รับผิดชอบในการสำรวจความต้องการของหน่วยงานต่างๆ ในสังกัด จากนั้น กระทรวงฯ จะนำข้อมูลมาสรุปผลเพื่อจัดจ้างบริษัทเอกชนมาดำเนินการติดตั้งระบบ ต่อไป

“กระทรวงไอซีที เชื่อว่าจะได้รับประโยชน์จากหลักการลดทั้ง 7 ประการ (7 P-lesses) ของระบบสำนักงานอิเล็กทรอนิกส์ระบบนี้อย่างมีประสิทธิผล อันได้แก่ 1.) Paperless การลดการใช้กระดาษ ด้วยการใช้ระบบ e-Document & Digital Signature แทนการลงนามบนกระดาษตามมาตรฐาน TH e-GIF 2.) Processless การลดขั้นตอนและเพิ่มความเร็วด้วยการเชื่อมต่อทุกระบบ รวมทั้งเห็นการทำงานของในทุกขั้นตอนที่เกี่ยวข้องได้อย่างโปร่งใสและตรวจสอบได้ทันที 3.) Placeless การลดการซื้ออุปกรณ์สำนักงาน เพราะสามารถทำงานได้จากทุกที่ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต 4.) Pollutionless การลดการใช้หมึกพิมพ์เอกสารและกระดาษในการปฏิบัติงาน 5.) Powerless การลดการใช้รถยนต์และน้ำมัน เพราะเป็นระบบที่สามารถบันทึกเวลาเข้า – ออก จึงสามารถทำงานได้ในทุกที่เสมือนมาทำงานที่สำนักงาน 6.) Peopleless การลดจำนวนคนทำงานในแต่ละขั้นตอนและลดความผิดพลาดได้ และ 7.) Paymentless การลดค่าใช้จ่ายสำนักงาน เช่น กระดาษ หมึกพิมพ์ เครื่องถ่ายเอกสาร ฯลฯ”

นายสือฯ กล่าวในตอนท้ายว่า เงินลงทุนในระบบ e-Office จะสามารถคืนทุนจากการลดต้นทุนในการบริหารจัดการองค์กรได้ภายในเวลา 4 – 8 เดือน ซึ่งกระทรวงไอซีทีในฐานะกระทรวงที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ไอซีทีของประเทศ คาดหวังว่าการติดตั้งระบบ e-Office ดังกล่าว จะช่วยกระตุ้นให้หน่วยงานรัฐอื่นๆ นำเทคโนโลยีสารสนเทศมาปรับปรุงประสิทธิภาพในการทำงานและบริหารองค์กรมากยิ่งขึ้นเพื่อประโยชน์แก่ประชาชนและประเทศชาติต่อไปในอนาคต