กรุงเทพฯ--7 พ.ค.--บีโอไอ
บีโอไอ หนุนพลังงานทดแทน รับนโยบายปีแห่งการลงทุน ไฟเขียวกิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์รวดเดียว 2 โครงการ พร้อมกิจการลงทุนผลิตซิลิคอน เมทอล ที่ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตโซลาร์เซลล์ รวมมูลค่ากว่า 625 ล้านบาท
นายสุวิทย์ คุณกิตติ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า แนวโน้มการลงทุนในกิจการพลังงานทดแทน และชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตพลังงานทดแทน เริ่มได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภายหลังสถานการณ์ราคาพลังงานปรับสูงขึ้น ประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายชัดเจนในการมุ่งเน้นการสร้างฐานอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ซึ่งอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน เป็นเป้าหมายสำคัญ ตามนโยบายปีแห่งการลงทุนไทย
โดยล่าสุดคณะอนุกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ซึ่งมีนายประวิช รัตนเพียร ประธานคณะอนุกรรมการฯ ได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนแก่บริษัท บางกอกโซลาร์ พาวเวอร์ จำกัด ในการขยายกิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) รวม 2 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 193 ล้านบาท เพื่อผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้ทั้งหมดให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค แบ่งเป็น โครงการที่ 1 ผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ขนาด 2 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุนประมาณ 107 ล้านบาท ตั้งโรงไฟฟ้าที่ อำเภอชะอำ จังหวัด เพชรบุรี
โครงการที่ 2 ผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ขนาด 1.7 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุน 92 ล้านบาท ตั้งโรงไฟฟ้าที่อำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี โดยโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ครั้งนี้ เป็นโครงการขยายกิจการผลิตไฟฟ้าจากโครงการเดิมที่บริษัทได้ลงทุนไปแล้ว ถึง 3 โครงการ กระจายอยู่ในจังหวัดต่างๆ ได้แก่ ฉะเชิงเทรา อุดรธานี และอ่างทอง
นายสุวิทย์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ ยังได้อนุมัติการลงทุนให้แก่ Mr.Chiu,Hsing-Yao ในการผลิต ซิลิคอน เมทอล กำลังการผลิตปีละประมาณ 72,000 ตัน เงินลงทุนทั้งสิ้น 432 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมราชบุรี โดย ซิลิคอน เมทอล เป็นผลิตผลที่ได้จากการถลุงแร่ควอตซ์ และจะถูกนำไปใช้ผลิตเป็น เวเฟอร์สำหรับอุตสาหกรรมการผลิตโซลาร์เซลล์ ที่ปัจจุบันยังไม่มีผู้ผลิตในประเทศไทย และจากสถิติปี 2549 ไทยต้องนำเข้าชิ้นส่วนดังกล่าวมูลค่าถึง 1,845.4 ล้านบาท จากประเทศต่างๆ เช่น จีน บราซิล ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น ไต้หวัน อเมริกา เป็นต้น
“ผู้ผลิตที่ยื่นขอตามโครงการนี้มีประสบการณ์ในกิจการผลิต โซลาร์เซลล์ และผลิตแผ่น เวเฟอร์ในประเทศไต้หวัน โดยโครงการนี้ จะเป็นอุตสาหกรรมที่ได้จากการถลุงแร่ควอตซ์ ซึ่งมีเป็นจำนวนมากในประเทศไทย มาทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น และนำไปสกัดให้มีความบริสุทธิ์สูงมากยิ่งขึ้น เพื่อผลิตเป็นเวเฟอร์ และจำหน่ายให้แก่โรงงานผลิตโซลาร์เซลล์ ซึ่งเป็นการสนับสนุนอุตสาหกรรมผลิตพลังงานทดแทนชนิดหนึ่งที่เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายในการส่งเสริมของไทย”นายสุวิทย์ กล่าว สำหรับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนแก่กิจการซิลิคอน เมทอล ในครั้งนี้ นับเป็นสัญญาณที่ดี และมีความเป็นไปได้สูงที่จะกระตุ้นให้มีผู้สนใจเข้ามาลงทุนผลิตเวเฟอร์สำหรับโซลาร์เซลล์ เพราะไทยมีความพร้อมในเรื่องวัตถุดิบ ซึ่งจะทำให้กระบวนการผลิตจากอุตสาหกรรมโซลาร์เซล์ในประเทศไทยครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ คือ ตั้งแต่การถลุงแร่ควอตซ์ การผลิตซิลิคอนเมทอล เวเฟอร์ โซลาร์เซลล์ โซลาร์โมดูล และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit