รุกชุมชนร่วมบำบัดน้ำเสีย ณ แหล่งกำเนิด ลดภาวะโลกร้อน

12 May 2008

กรุงเทพฯ--12 พ.ค.--กทม.

กทม.เดินหน้าจัดกิจกรรมลดโลกร้อนครบ 1 ปี ใช้ยุทธศาสตร์ชุมชนลดปล่อยน้ำเสีย ไม่ทิ้งขยะ และบำบัดน้ำก่อนปล่อยสู่แหล่งน้ำ เพื่อเพิ่มออกซิเจนและลดก๊าซมีเทนในน้ำสาเหตุภาวะเรือนกระจก เพิ่มความร้อนใส่โลก

นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดกิจกรรมลดโลกร้อน “ชุมชนร่วมใจ รักษ์คูคลอง” กระตุ้นชุมชนที่อาศัยอยู่ริมคลองในกรุงเทพฯ ลดการปล่อยน้ำเสีย ไม่ทิ้งขยะลงคูคลอง และร่วมกันบำบัดน้ำเสีย ณ แหล่งกำเนิด ซึ่งเป็นอีกแนวทางสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซมีเทนจากน้ำเสียไร้ออกซิเจน สาเหตุก๊าซเรือนกระจกเช่นเดียวกับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อีกทั้งสร้างจิตสำนึกรักษาแหล่งน้ำให้อยู่อย่างยั่งยืน พร้อมดีเดย์กลุ่มเขตในพื้นที่กรุงเทพฯ ร่วมพัฒนาคูคลอง สานต่อกิจกรรมลดภาวะโลกร้อนของกรุงเทพมหานครทุกวันที่ 9 ของทุกเดือน

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กทม. ร่วมกับเครือข่ายพันธมิตร 36 เครือข่ายรณรงค์ลดภาวะโลกร้อนอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 9 พ.ค. 50 และกำหนดให้วันที่ 9 ของทุกเดือนเป็นวันจัดกิจกรรมลดภาวะโลกร้อนประจำเดือน ซึ่งในวันนี้เป็นวันครบรอบ 1 ปีของการดำเนินการ โดยจัดกิจกรรมขึ้นบริเวณมหาวิทยาลัยราชภัฎพระนครและชุมชนคลองบางบัว เดือนที่ผ่านมาได้ร่วมกับมูลนิธิชัยพัฒนาจัดโครงการกังหันน้ำชัยพัฒนาจำนวน 80 เครื่อง ใช้ในการเติมอากาศในคูคลองต่างๆ ปัจจุบัน กทม. มีโครงการต้นแบบคลองใสประมาณ 80 คลอง โดยคลองในพื้นที่กรุงเทพชั้นในใช้วิธีผันน้ำดีไล่น้ำเสีย ซึ่งชุมชนในโซนกรุงเทพเหนือได้แก่ ชุมชนในเขตบางเขน เขตหลักสี่ และเขตพื้นที่ใกล้เคียง ถือเป็นโครงการนำร่องและเป็นชุมชนต้นแบบของโครงการซึ่งจะมีการขยายผลไปยังทุกชุมชน โดยมีการส่งเสริมการให้ความรู้แก่ประชาชนในชุมชน ส่งเสริมให้ชุมชนมีการดักไขมันก่อนปล่อยน้ำลงคูคลอง ส่งเสริมให้โรงงาน สถานประกอบการ และร้านอาหารที่อยู่ริมแม่น้ำลำคลองบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยลงคูคลอง ซึ่งแม่น้ำลำคลองถือเป็นเส้นเลือดที่สำคัญก็ขอเชิญชวนให้ทุกท่านช่วยกันอนุรักษ์แม่น้ำลำคลองให้ใสสะอาดต่อไป

โอกาสนี้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ได้เยี่ยมชมการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่และชุมชนร้อยกรอง และเยี่ยมชุมชนคลองบางบัว ซึ่งเป็นชุมชนที่มีการบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยลงสู่คลอง เพื่อเป็นตัวอย่างให้ชุมชนต่างๆ นำไปเป็นแนวทางในการปฏิบัติต่อไป

กรุงเทพมหานคร จัดกิจกรรม “ชุมชนร่วมใจ รักษ์คูคลอง” เพื่ออนุรักษ์ฟื้นฟูคูคลองของกรุงเทพฯ ซึ่งมีมากถึง 1,165 สาย ความยาวประมาณ 2,284 กิโลเมตร พร้อมทั้งดึงการมีส่วนร่วมของชุมชนริมคลองให้ตระหนักถึงความสำคัญและร่วมมือกันรักษาแหล่งน้ำให้สะอาด เนื่องจากน้ำเสียก่อให้เกิดก๊าซมีเทน สาเหตุก๊าซเรือนกระจกส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อน ที่สำคัญน้ำเสียส่วนใหญ่มาจากครัวเรือน 70% ที่เหลือเป็นน้ำเสียจากพาณิชยกรรมและภาคอุตสาหกรรม ซึ่งส่งผลให้คุณภาพน้ำคูคลองส่วนใหญ่ในกรุงเทพมหานครเน่าเสีย มีคลองเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่อยู่ในอิทธิพลของแม่น้ำเจ้าพระยาที่ทำให้ค่าออกซิเจนละลายน้ำได้ในระดับมาตรฐาน โดยปัจจุบันแนวทางที่กรุงเทพมหานครดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำเสีย ได้แก่ การส่งเสริมการลดปริมาณของเสียลงแหล่งน้ำ และใช้น้ำอย่างประหยัด ไม่ทิ้งขยะและมีการบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยทิ้งลงท่อระบายน้ำสาธารณะ รณรงค์ให้มีการบำบัดน้ำเสีย ณ แหล่งกำเนิดน้ำเสีย การนำน้ำดีไล่น้ำเสีย การนำน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วมาใช้ประโยชน์เพื่อประหยัดพลังงาน และการบำบัดน้ำเสียโดยใช้ระบบธรรมชาติ เป็นต้น

นอกจากนี้ กรุงเทพมหานคร มีระบบบำบัดน้ำเสียในพื้นที่กรุงเทพฯ ปัจจุบันสามารถบำบัดน้ำเสียได้สูงสุด 1,017,700 ลบ.ม.ต่อวัน หรือประมาณร้อยละ 42 ของปริมาณน้ำเสียที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ ดังนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่ประชาชนทุกคนโดยเฉพาะอย่างยิ่งชุมชนริมคลองจะต้องลดการผลิตน้ำเสีย ณ แหล่งกำเนิดในบ้านของตน และไม่ทิ้งขยะลงในคูคลอง ในอนาคตหากโครงการบำบัดน้ำเสียรวมของกรุงเทพมหานครอีก 3 โครงการ ได้แก่ โครงการบำบัดน้ำเสียคลองเตย โครงการบำบัดน้ำเสียธนบุรี และโครงการศูนย์ศึกษาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบางซื่อ แล้วเสร็จ จะสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการบำบัดน้ำเสียชุมชนได้รวม 1,802,700 ลบ.ม.ต่อวัน หรือประมาณร้อยละ 64 ของปริมาณน้ำเสียที่เกิดขึ้นทั้งหมดภายในปี 2555 ซึ่งหากสามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมาย จะสามารถลดการปล่อยก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นสาเหตุเรือนกระจกเทียบเท่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 0.17 ล้านตันต่อปี ในพ.ศ.2555และคาดว่ากทม.จะค่อยๆ ฟื้นฟูสภาพน้ำให้มีปริมาณออกซิเจนละลายน้ำเพียงพอสำหรับสิ่งมีชีวิตให้สามารถดำรงชีพได้