กรุงเทพฯ--30 พ.ค.--วีโร่ พับลิครีเลชั่นส์
• ตำรวจพบซอฟต์แวร์เถื่อนติดตั้งในคอมพิวเตอร์กว่า 50 เครื่อง
• บริษัทถูกปรับ และธุรกิจต้องหยุดชะงักจากการใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์
• ต่อเนื่องจากโครงการรวมใจใช้ซอฟต์แวร์แท้แห่งชาติ
เจ้าหน้าที่ตำรวจไทยดำเนินการเพื่อปราบปรามซอฟต์แวร์เถื่อนอย่างต่อเนื่อง โดยกองปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี (บก.ปศท.) เข้าจับกุมโรงงานอุตสาหกรรมในจังหวัดราชบุรี และลำพูน รวมทั้งบริษัทออกแบบสถาปัตย์ในกรุงเทพฯในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ของบริษัทซึ่งเป็นสมาชิกของกลุ่มพันธมิตรซอฟต์แวร์ (บีเอสเอ) เมื่อสัปดาห์ก่อน
พ.ต.อ. ศรายุทธ พูลธัญญะ รองผู้บังคับการบก. ปศท. กล่าวถึงการจับกุมครั้งล่าสุดนี้ว่า “ตำรวจเอาจริงกับการปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ขององค์กรธุรกิจในประเทศไทย การละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์นั้นผิดกฏหมาย เราจะทำทุกวิถีทางเพื่อให้องค์กรธุรกิจปฏิบัติตามกฏหมายซึ่งรวมถึงการเข้าจับกุมด้วย”
“นับตั้งแต่ต้นปีมานี้ เราได้ดำเนินการจับกุมธุรกิจที่ต้องสงสัยว่าใช้ซอฟต์แวร์เถื่อนไปทั้งสิ้น 18 ครั้ง
พบคอมพิวเตอร์ที่มีซอฟต์แวร์เถื่อนติดตั้งอยู่จำนวน 700 เครื่อง รวมมูลค่าซอฟต์แวร์ที่ถูกละเมิดทั้งสิ้นราว 86 ล้านบาท”
พ.ต.อ. ศรายุทธ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า “บริษัทต่างๆ ที่ถูกจับกุมจะต้องถูกสอบสวน เมื่อสรุปสำนวนและรวบรวมหลักฐานได้เพียงพอแล้ว ตำรวจจะส่งเรื่องขึ้นศาล หากพบว่าผิดจริง ทั้งบริษัท และผู้บริหารจะต้องถูกปรับ”
การศึกษาของไอดีซีระบุว่า หากประเทศไทยลดการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ลงได้ 10 เปอร์เซ็นต์ภายใน 4 ปี จะก่อให้เกิดการจ้างงานทางด้านไอทีเพิ่มขึ้น 2,100 ตำแหน่ง การเติบโตทางเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่า 30,000 ล้านบาท และจัดเก็บภาษีรายได้เพิ่มขึ้น 1,650 ล้านบาท จากที่คาดการณ์ไว้ในปัจจุบัน ตัวเลขเหล่านี้ได้รับการกล่าวถึงโดยกรมทรัพย์สินทางปัญญาในโครงการรวมใจใช้ซอฟต์แวร์แท้แห่งชาติ ที่เพิ่งเปิดตัวไปไม่นานนี้ เพื่อรณรงค์ให้ปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาด้านซอฟต์แวร์ และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี
โฆษกคณะกรรมการกลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ประจำประเทศไทย นางสาวศิริภัทร ภัทรางกูร กล่าวว่า “บีเอสเอขอขอบคุณ บก.ปศท. เป็นอย่างยิ่งที่ดำเนินการปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในประเทศไทยอย่างจริงจัง เป็นเรื่องน่าตกใจที่บริษัทหนึ่งที่ถูกจับกุมเป็นบริษัทออกแบบสถาปัตย์ เนื่องจากในวงการนี้ความคิดสร้างสรรค์ และทรัพย์สินทางปัญญานับว่ามีค่าสูงยิ่ง คนย่อมคิดว่าในเมื่อบริษัทนี้ดำเนินธุรกิจสร้างสรรค์ทรัพย์สินทางปัญญาในรูปแบบของงานออกแบบสถาปัตยกรรม บริษัทก็คงจะต้องเคารพในทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่นเช่นกัน”
สำหรับผู้ใดที่มีข้อมูลของการละเมิดลิขสิทธิ์ในองค์กรธุรกิจสามารถรายงานเบาะแสดังกล่าวได้ที่สายด่วน โทร. 02-711-6193 หรือ 1-800-291-005 และสามารถได้รับเงินรางวัลสูงสุดถึง 250,000 บาท ขึ้นอยู่กับมูลค่าของซอฟต์แวร์ที่ถูกละเมิด เมื่อคดีดำเนินไปจนถึงที่สุด ข้อมูลเพิ่มเติมสามารถดูได้จาก www.bsa.org
“ทุกสายที่โทรเข้ามารายงานการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ผ่านทางสายด่วนนี้ ถือเป็นความลับสุดยอด และจะไม่มีการเปิดเผยตัวตนของผู้รายงาน ทางบีเอสเอพร้อมมอบเงินรางวัลให้แก่บุคคลที่ให้ข้อมูลที่สามารถนำไปสู่การจับกุมองค์กรธุรกิจที่ใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์” นาวสาวศิริภัทรกล่าว
เกี่ยวกับบีเอสเอ
กลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ (www.bsa.org) เป็นผู้นำแถวหน้าที่ทุ่มเทให้กับการส่งเสริมโลกดิจิตอลที่ปลอดภัยและ ถูกกฎหมาย บีเอสเอเป็นกระบอกเสียงของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เชิงพาณิชย์และคู่ค้าฮารด์แวร์ทั่วโลกต่อหน้ารัฐบาล ของประเทศต่างๆ และในตลาดการค้าระหว่างประเทศ สมาชิกบีเอสเอ ประกอบด้วยผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม ซอฟต์แวร์ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมที่เติบโตอย่างรวดเร็วที่สุดในโลก บีเอสเอสนับสนุนนวัตกรรมเทคโนโลยี ผ่านโครงการเพื่อการศึกษาและนโยบายที่ส่งเสริมการปกป้องลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ การรักษา ความปลอดภัยบนโลกไซเบอร์การค้า และอีคอมเมิร์ส
สมาชิกบีเอสเอ รวมถึง อโดบี, อาจิเลนท์ เทคโนโลยี, อัลเทียม, แอปเปิ้ล, ออโต้เดสค์, อาวิด, เบนลี่ ซิสเต็มส์, บอร์แลนด์, ซีเอ, คาร์เดนซ์ ดีไซน์ ซิสเต็มส์, ซิสโค ซิสเต็มส์, ซีเอ็นซี ซอฟต์แวร์/มาสเตอร์แคม, คอเรล, เดล, อีเอ็มซี, ฟรอนท์ไลน์ พีซีบี โซลูชั่นส์ (ในเครือออร์โบเท็ค วาเลอร์ คัมปานี), เอชพี, ไอบีเอ็ม, อินเทล, ไอนัส เทคโนโลยี, แมคอาฟี, ไมโครซอฟท์, ไมเจ็ท, มินิแทบ, โมโนไทพ์ อิเมจิ้ง, พีทีซี, เคิร์ค, เควสท์ ซอฟต์แวร์, เอสเอพี, ซีเมนส์ พีแอลเอ็ม ซอฟต์แวร์, โซลิดเวิร์กส์, เอสพีเอสเอส, ไซเบส, ไซแมนเทค, ไซนอปซิส, เทคล่า, ไทยซอฟท์แวร์เอ็นเตอร์ไพรส์, เดอะ แมธเวิร์กส์ และ เทรนด์ ไมโคร สมาชิกบีเอสเอในประเทศไทยคือไทยซอฟต์แวร์ เอ็นเตอร์ไพร์ส
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ
+66 (0) 2684-1551
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit