เผยยอดจับบริษัทใช้ซอฟต์แวร์เถื่อน มูลค่ากว่า 100 ล้านบาท!

07 Jul 2008

กรุงเทพฯ--7 ก.ค.--วีโร่ พับลิครีเลชั่นส์

กองปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี (บก.ปศท.) เผยยอดการจับกุมการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในองค์กร ตั้งแต่มกราคม 2551 ถึงปัจจุบัน ว่าได้ทั้งสิ้น 30 ราย คิดเป็นมูลค่าโดยประมาณกว่า 100 ล้านบาท

คุณศิริภัทร ภัทรางกูร โฆษกคณะกรรมการกลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ (บีเอสเอ) ประจำประเทศไทย กล่าวให้ความเห็นกับเรื่องนี้ว่า “บีเอสเอขอแสดงความยินดีกับทีมปราบปรามของ บก. ปศท. ในความพยายามเพื่อลดการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ ซึ่งตัวเลขการจับกุมที่มีสูงถึง 100 ล้านบาทนี้ ถือเป็นความสำเร็จอย่างมาก ทั้งนี้บีเอสเอพร้อมสนับสนุนทีม ปศท. อย่างเต็มที่ในการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาของนักพัฒนาซอฟต์แวร์”

พ.ต.อ. ศรายุทธ พูลธัญญะ รองผู้บังคับการ บก.ปศท. กล่าวว่า ปศท. จะประสานงานกับบีเอสเอ ในการปราบปรามผู้ที่ทำการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์

“สำหรับยอดการจับกุมกว่า 100 ล้านบาทนี้ ทีมปราบปรามต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการติดตามคดี เพื่อจับกุมบริษัทที่ทำการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์เหล่านั้น เพราะถือว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฏหมายลิขสิทธิ์ไทย” พ.ต.อ. ศรายุทธ กล่าว

ภายในสิ้นปี 2551 นี้ บก. ปศท. มีโครงการที่จะปราบปรามบริษัทที่ทำการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ทั่วประเทศ โดยในขณะนี้ ปศท. มีรายชื่อบริษัทที่ทำการละเมิดอยู่แล้วจำนวนหนึ่ง

กฏหมายลิขสิทธิ์ไทยได้ระบุไว้ว่า หากบริษัทใดบริษัทหนึ่งถูกจับกุมในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ ผู้บริหารจะต้องถูกดำเนินคดีตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ซึ่งมีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน - 4 ปี หรือปรับตั้งแต่ 100,000 - 800,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มร. ดรุณ ซอว์นีย์ ผู้อำนวยการฝ่ายปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ ประจำภูมิภาคเอเชียของบีเอสเอเปิดเผยว่า จากการที่ บีเอสเอ และ บก.ปศท. ได้ร่วมมือกันเพื่อปราบปรามผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ประเภทองค์กรนั้น ถือว่าได้รับความสำเร็จในการดำเนินการเป็นอย่างมาก

“โครงการสายด่วนฮอทไลน์ (โทร. 02-711-6193 และ 1-800-291-005 หรือ www.bsa.org) ได้รับการตอบรับอย่างดีจากสาธารณชน ในการโทรแจ้งเบาะแส นับตั้งแต่เดือน มกราคม – มิถุนายน 2551 ซึ่งขั้นตอนในการดำเนินการ ก็คือ หลังจากที่บีเอสเอได้รับเบาะแส และจัดทำรายงานครบถ้วนแล้ว เราจะส่งข้อมูลต่อไปยัง บก. ปศท. เพื่อเข้าจับกุมบริษัทที่ทำการละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งทางบีเอสเอเอง รู้สึกชื่นชมกับการประสานงานที่แข็งขันของ บก.ปศท. และพร้อมสนับสนุนแนวทางในการต่อต้านการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในประเทศไทยอย่างเต็มที่” มร. ซอว์นีย์ กล่าว

คุณศิริภัทร กล่าวเพิ่มเติมว่า “นอกจากการสนับสนุนภาครัฐในการจับกุมผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ประเภทองค์กรแล้ว ทางบีเอสเอจะพยายามให้ความรู้ และแนะนำให้บริษัทต่างๆ ได้ทราบถึงความเสี่ยงในการใช้ซอฟต์แวร์เถื่อน รวมถึงเน้นย้ำ และสร้างความตระหนักถึงผลกระทบของซอฟต์แวร์เถื่อนที่มีต่อภาคธุรกิจไอที รวมถึงเศรษฐกิจของไทย ทั้งนี้ ด้วยความร่วมมือระหว่างภาครัฐ และเอกชน จึงได้มีการจัดสัมมนาให้ความรู้เรื่องการบริหารสินทรัพย์ประเภทซอฟต์แวร์ (Software Assets Management หรือ SAM) ขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมายสูงสุดเพื่อยกระดับความสามารถของภาคธุรกิจไอทีไทยในอนาคต

ผลการศึกษาล่าสุดจากไอดีซี โดยการเปิดเผยของบีเอสเอ ระบุว่าอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์บนเครื่องพีซีของไทย ลดลง 2% เหลือ 78% ในขณะที่อัตราการละเมิดเฉลี่ยของภูมิภาคเอเชีย คือ 59% นอกจากนี้ ยังระบุว่าหากประเทศไทยลดการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์บนพีซีลงได้ 10 เปอร์เซ็นต์ ภายใน 4 ปี จะทำให้เกิดการจ้างงาน 2,100 ตำแหน่ง มีการเติบโตทางเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่า 30,000 ล้านบาท และจัดเก็บภาษีรายได้เพิ่มขึ้น 1,650 ล้านบาท

เกี่ยวกับบีเอสเอ

กลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ (www.bsa.org) เป็นผู้นำแถวหน้าที่ทุ่มเทให้กับการส่งเสริมโลกดิจิตอลที่ปลอดภัยและ ถูกกฎหมาย บีเอสเอเป็นกระบอกเสียงของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เชิงพาณิชย์และคู่ค้าฮารด์แวร์ทั่วโลกต่อหน้ารัฐบาล ของประเทศต่างๆ และในตลาดการค้าระหว่างประเทศ สมาชิกบีเอสเอ ประกอบด้วยผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม ซอฟต์แวร์ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมที่เติบโตอย่างรวดเร็วที่สุดในโลก บีเอสเอสนับสนุนนวัตกรรมเทคโนโลยี ผ่านโครงการเพื่อการศึกษาและนโยบายที่ส่งเสริมการปกป้องลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ การรักษา ความปลอดภัยบนโลกไซเบอร์ การค้าและอีคอมเมิร์ส

สมาชิกบีเอสเอรวมถึง อโดบี, แอปเปิ้ล, ออโต้เดสค์, อาวิด, เบนลี่ ซิสเต็มส์, บอร์แลนด์, ซีเอ็นซี ซอฟต์แวร์/มาสเตอร์แคม, คอเรล, แมคอาฟี, ไมโครซอฟท์, ไมเจ็ท, มินิแทบ, โมโนไทพ์ อิเมจิ้ง, พีทีซี, เคิร์ค, เควสท์ ซอฟต์แวร์, เอสเอพี, ซีเมนส์ พีแอลเอ็ม ซอฟต์แวรโซลิดเวิร์กส์, ไซเบส, ไซแมนเทค และ เดอะ แมธเวิร์กส์ สมาชิกบีเอสเอในเอเชียรวมถึง อาจิเลนท์ เทคโนโลยี, อัลเทียม,ฟรอนท์ไลน์ พีซีบี โซลูชั่นส์ (ในเครือออร์โบเท็ค วาเลอร์ คัมปานี), ไอนัส เทคโนโลยี, ไมเจ็ท, มินิแทบ, เอสพีเอสเอส, เทคล่า และ เทรนด์

ไมโคร สมาชิกบีเอสเอในประเทศไทย คือ ไทยซอฟต์แวร์ เอ็นเตอร์ไพร์ส