กรุงเทพฯ--16 ก.ค.--มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์
สมาคมโภชนาการฯ แนะเด็กไทยควรได้รับน้ำตาล 4-8 ช้อนชาต่อวันเพื่อใช้เป็นแหล่งพลังงานในร่างกาย ล้างความเชื่อผิดๆ ในการบริโภคน้ำตาล ชี้สารอาหารประเภทแป้งและไขมันส่งผลกระทบให้เกิดโรคอ้วนมากกว่าน้ำตาล ด้าน สพฐ.ระบุหากเด็กได้รับน้ำตาลน้อยกว่าความต้องการของร่างกาย จะส่งผลต่อพฤติกรรมเด็กมีความก้าวร้าวมากขึ้น ขณะที่ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลชี้ การบริโภคไขมันและเกลือเกินขนาดมีอันตรายมากกว่าการบริโภคน้ำตาล
นายสง่า ดามาพงษ์ อุปนายกสมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทยและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ขณะนี้สังคมไทยมีความเชื่อผิดๆ ในเรื่องของการบริโภคน้ำตาลที่ผู้บริโภคเชื่อว่า เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคอ้วน ซึ่งในความเป็นจริงนั้น สาเหตุที่สำคัญที่ทำให้คนไทยมีปัญหาจำนวนผู้ที่เป็นโรคอ้วนเพิ่มขึ้น มาจากการบริโภคไขมันและเกลือที่มีอยู่ในอาหารมากเกินต่อความต้องการของร่างกาย ขณะที่น้ำตาลมีผลทำให้ผู้บริโภคเกิดภาวะโรคอ้วนน้อยกว่าเมื่อเทียบกับไขมันและเกลือที่ได้จากการบริโภคอาหารในแต่ละมื้อ
ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ระบุว่าในแต่ละวันร่างกายควรได้รับน้ำตาลในปริมาณ 10% ของปริมาณพลังงานที่ใช้ในแต่ละวัน หรือจากข้อมูลเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน ที่เปิดเผยข้อมูลว่า การบริโภคน้ำตาลทรายของเด็กไทยควรจะไม่เกิน 4-8 ช้อนชาต่อวัน คิดเป็นสัดส่วนเพียง 5% ของปริมาณพลังงานที่ใช้ต่อวัน ซึ่งยังทำให้เด็กไทยยังสามารถได้รับน้ำตาลจากการบริโภคน้ำตาลจากแหล่งอื่น เช่น จากการรับประทานอาหารในแต่ละมื้อ เป็นต้น
“คนไทยยังมีความเข้าใจที่ผิดๆ ในการบริโภคน้ำตาลว่า เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคอ้วน ทั้งที่จริงแล้วสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนไทยอ้วนมาจากการบริโภคไขมันและเกลือมากเกินความต้องการของร่างกายและถือเป็นอันตรายต่อสุขภาพมากกว่าการบริโภคน้ำตาลทราย” นายสง่า กล่าว
ขณะที่ ดร.พิมพ์พิมล ธงเธียร ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวว่า ทัศนคติของผู้ปกครองที่ห้ามเด็กรับประทานน้ำตาลของขนมหวานในปัจจุบัน เพราะเกรงว่าจะส่งผลกระทบให้เด็กเกิดภาวะโรคอ้วนนั้น ได้ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมการแสดงออกของเด็กไทยที่มีความก้าวร้าวต่อผู้อื่นมากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมา น้ำตาลที่อยู่ในรูปของอาหารหรือขนมหวานที่เด็กรับประทานส่วนหนึ่ง จะเข้าไปช่วยปรับอารมณ์ความรู้สึกของเด็กที่ช่วยให้เด็กมีความสุขจากการรับประทานอาหารเพิ่มขึ้น หากผู้ปกครองสามารถดูแลให้เด็กรับประทานขนมหวานเพื่อให้ได้รับสารอาหารประเภทน้ำตาลในปริมาณที่เหมาะสมกับร่างกาย ก็จะช่วยในเรื่องของภาวะทางอารมณ์ของเด็กให้ดีขึ้น
ทั้งนี้ ในส่วนของการให้ความรู้ในเรื่องของการบริโภคน้ำตาลที่เหมาะสมต่อความต้องการของร่างกายนั้น ทางสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้มีการจัดหลักสูตรการเรียนการสอนให้กับเด็กตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงระดับประถมศึกษา เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับเด็กได้รับรู้ในเรื่องการบริโภคน้ำตาลให้เหมาะสมกับความต้องการของร่างกายในแต่ละวัย
ด้าน นายณัฏฐปัญญ์ ศิริวิริยะกุล ผู้แทน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย กล่าวว่า ขณะนี้ สมาคมฯต้องการให้ข้อมูลทำความเข้าใจกับผู้บริโภคคนไทย ในเรื่องของการบริโภคน้ำตาลที่ถูกต้องและเหมาะสมกับความต้องการน้ำตาลของร่างกายในแต่ละวัน เนื่องจากที่ผ่านมา สังคมไทยมีความเชื่อผิดๆ ในเรื่องของการบริโภคน้ำตาลว่า เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะโรคอ้วน ทั้งที่ความเป็นจริงสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดโรคอ้วนมาจากสารอาหารประเภทไขมัน แป้งและเกลือมากกว่าน้ำตาลอย่างที่สังคมได้เข้าใจ
“หากพิจารณาตัวเลขการบริโภคน้ำตาลทรายของคนไทยจะพบว่า ในแต่ละปีจะมีการบริโภคอยู่ที่ 29-30 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ซึ่งถือว่าต่ำเมื่อเทียบกับการบริโภคน้ำตาลจากประเทศในแถบยุโรปและสหรัฐอเมริกาที่มีการบริโภคน้ำตาลอยู่ที่ 50-60 กิโลกรัมต่อปี หรือประเทศบราซิล ที่มีการบริโภคน้ำตาลสูงถึง 60 กิโลกรัมต่อคนต่อปี” นายณัฏฐปัญญ์กล่าว
อย่างไรก็ตาม หากเทียบกับการบริโภคน้ำตาลของประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านในทวีปเอเชียจะพบว่าสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นผลมาจากผู้ประกอบการไทยและต่างประเทศได้เข้ามาใช้ความได้เปรียบในเรื่องของวัตถุดิบที่ไทยสามารถผลิตน้ำตาลได้จำนวนมาก จึงได้มีการเข้ามาตั้งโรงงานในการผลิตขนมขบเคี้ยวเพื่อส่งไปจำหน่ายยังต่างประเทศ เป็นผลให้ความต้องการบริโภคน้ำตาลเฉลี่ยต่อคนต่อปีของคนไทยสูงที่สุดในประเทศเพื่อนบ้านในแถบทวีปเอเชียด้วยกัน
อนึ่ง บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด เป็นองค์กรที่จะช่วยส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของประเทศไทย ด้วยข้อมูลข่าวสาร การวิเคราะห์อย่างถูกต้อง และสื่อสารความเป็นจริงให้สังคมและภาครัฐได้ร่วมกันพัฒนาอุตสาหกรรมฯ อย่างยั่งยืน
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
บริษัท มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด
วารุณี คำไชย โทร: 0-2248-7967-8 ต่อ 23 หรือ 08-1496-6762
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit