เคพีเอ็มจี แนะผู้ประกอบการนำเข้า-ส่งออกสินค้าระวังอาจต้องจ่ายค่าปรับสูงถึง 4 เท่า ของราคาสินค้าหากไม่รายงานให้กรมศุลกากรทราบถึงสินค้าที่นำเข้ามาในประเทศ

31 Jul 2008

กรุงเทพฯ--31 ก.ค.--สปาร์ค คอมมิวนิเคชั่นส์

จากการสัมมนาในเรื่อง “การจัดการความเสี่ยงด้านภาษีศุลกากร และการใช้สิทธิประโยชน์เพื่อลดค่าอากร” ซึ่งจัดโดย บริษัท สำนักภาษี เคพีเอ็มจี ภูมิไชย จำกัด เมื่อไม่นานมานี้ เผยให้เห็นว่านโยบายการค้าเสรีในปัจจุบันช่วยเพิ่มปริมาณการค้าระหว่างประเทศได้มากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการก็ต้องเผชิญกับการตรวจสอบจากกรมศุลกากรที่เพิ่มมากขึ้น หากผู้ประกอบการมิได้เตรียมการเพื่อรองรับเรื่องดังกล่าว ก็อาจต้องรับความเสี่ยงทางศุลกากรโดยอาจจะต้องชำระค่าปรับในจำนวนเงินที่สูง

การสัมมนาดังกล่าวระบุว่า ปัจจุบันนี้รัฐบาลมีมาตรการส่งเสริมการเปิดเสรีทางการค้ามากขึ้นเพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงขององค์การการค้าโลก (WTO) และข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างประเทศ (FTA) ซึ่งยังผลให้ระดับอัตราอากรโดยทั่วไปลดลง รัฐบาลยังดำเนินนโยบายส่งเสริมให้การนำเข้าและส่งออกสินค้าทำได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยการลดระยะเวลาในการตรวจปล่อยสินค้าที่ท่าลง โดยมีเพียงแต่การสุ่มตรวจสินค้าเท่านั้น เพื่อเก็บภาษีให้ครบถ้วนกรมศุลกากรจึงจำเป็นต้องนำมาตรการในการเพิ่มการตรวจสอบภาษีอากรให้เข้มงวดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเพิ่มการตรวจสอบหลังการนำเข้า ซึ่งหากตรวจพบความผิดของผู้นำเข้า ก็อาจจะมีผลให้ผู้นำเข้ามีโอกาสถูกเปรียบเทียบปรับในอัตราสูงถึง 4 เท่าของมูลค่าสินค้านำเข้าโดยรวมอากรขาเข้าแล้ว กรณีนี้จึงถือเป็นความเสี่ยงของบริษัทหากมิได้เตรียมการไว้ล่วงหน้า

ประเด็นที่เจ้าพนักงานศุลกากรมักเพ่งเล็งเป็นพิเศษและมักทำให้เกิดข้อโต้แย้งได้เสมอ ได้แก่ ค่าสิทธิและค่าธรรมเนียม ซึ่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 132 ระบุว่า ค่าสิทธิและค่าธรรมเนียมใบอนุญาตที่เกี่ยวข้องกับของที่นำเข้า ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม อันเป็นเงื่อนไขในการขายของนั้น ต้องนำมารวมไว้ในราคาซื้อขายของที่นำเข้า นอกจากนี้ ประเด็นอื่นๆ ที่มักเป็นข้อโต้แย้ง ได้แก่ การจัดหาเครื่องมือและแม่พิมพ์ การบริการทางวิศวกรรม การนำเข้าโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และเริ่มมีการตรวจสอบเกี่ยวกับ การตั้งราคาในกรณีที่ผู้ขายและผู้นำเข้ามีความสัมพันธ์กัน (Transfer Pricing) เป็นต้น

นอกจากนั้น ในการสัมมนาดังกล่าวยังกล่าวถึงสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรต่างๆ อาทิ บริษัทที่ขอใช้สิทธิประโยชน์จากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ก็จะช่วยยกเว้นภาษีนิติบุคคลและภาษีอากรขาเข้า อีกทั้งช่วยในเรื่องการถือครองที่ดินของบริษัทต่างด้าว รวมถึงการขอใบอนุญาตทำงานของผู้เชี่ยวชาญชาวต่างประเทศ หรือ บริษัทที่มุ่งเน้นในการส่งออกและขอใช้สิทธิประโยชน์จากเขตปลอดอากรก็จะช่วยยกเว้นภาษีอากรขาเข้า อีกทั้ง เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้มาตรา 19 ทวิ ซึ่งต้องมีขั้นตอนในการขอคืนภาษีอากรแล้ว การยกเว้นสิทธิทางภาษีอากรในเขตปลอดอากรก็จะช่วยเรื่องกระแสเงินสดของบริษัทได้ รวมทั้งการซื้อวัตถุดิบหรือรับบริการจากผู้ผลิต ผู้จำหน่าย หรือผู้ให้บริการในประเทศไทยก็จะเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราศูนย์ เป็นต้น

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่

สปาร์ค คอมมิวนิเคชั่นส์

วรางคณา พวงศิริ

Account Manager

โทรศัพท์: 0-2653-2717-9 โทรสาร 0-2653-2720

เกี่ยวกับ เคพีเอ็มจี

เคพีเอ็มจี เป็นผู้ให้บริการสอบบัญชี ภาษีและบริการให้คำปรึกษาอื่น ๆ ซึ่งมีเครือข่ายอยู่ใน 145 ประเทศทั่วโลก และมีบุคลากรกว่า 123,000 คน

เคพีเอ็มจีแต่ละแห่งเป็นอิสระต่อกันในทางกฏหมายและการดำเนินงาน

เกี่ยวกับ เคพีเอ็มจี ประเทศไทย

เคพีเอ็มจี ในประเทศไทยเป็นสมาชิกเครือข่ายของเคพีเอ็มจีซึ่งให้บริการสอบบัญชี ภาษี และให้คำปรึกษาอื่น ๆ