ทีมฟุตบอลหุ่นยนต์ไทย “พลาสมา ซี” คว้าแชมป์โลก จากการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ชิงแชมป์โลก 2008

28 Jul 2008

กรุงเทพฯ--28 ก.ค.--ซีเกท เทคโนโลยี

ทีมฟุตบอลหุ่นยนต์พลาสมา ซี (Plasma-Z) จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดย บริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด และสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย คว้าแชมป์โลก สามารถโค่นทีมแชมป์เก่าอย่าง ทีมซีเอ็มดรากอน (CMDragons) จากมหาวิทยาลัยคาร์เนอกี้ เมลอน (Carnegie Mellon University) จากประเทศสหรัฐอเมริกาด้วยคะแนน 4 ต่อ 2 ชนะขาดลอย ในการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ขนาดเล็ก หรือโรโบคัพ ซอกเกอร์ สมอลล์ ไซส์ ลีก (Robocup Soccer Small Size League) ในงานแข่งขันหุ่นยนต์ชิง

แชมป์โลก เวิร์ล โรโบคัพ 2008 (World RoboCup 2008) ณ เมืองซูโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 14-21 กรกฎาคม ที่ผ่านมา สมาชิกทีมพลาสมา ซี ซึ่งคว้ารางวัลแชมป์โลก จากการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ชิงแชมป์โลก 2008 ประกอบด้วยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. มานพ วงศ์สายสุวรรณ หัวหน้าทีมนิสิตภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาทีม และสมาชิกจำนวนกว่า 10 คน โดยมีนายธีระพล วัธนเวคิน เป็นหัวหน้าทีม

นายธีระพลกล่าวว่า “ในการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศครั้งนี้ สมาชิกในทีมทุกคนมีความตั้งใจแน่วแน่และมุ่งมั่นที่จะครองแชมป์โลกให้ได้ซึ่งจุดแข็งของทีมเราคือ “การทำงานเป็นทีม” ช่วยกันคิดและผลักดันจนประสบความสำเร็จ ผลงานในครั้งนี้พิสูจน์ว่าเยาวชนไทยทำได้จริงๆ แม้แต่คู่แข่งอย่างซีเอ็มดรากอน และศาสตราจารย์ด้านหุ่นยนต์จากมหาวิทยาลัยดังๆหลายแห่งให้การยอมรับ และถือว่าการแข่งขันในครั้งนี้เป็นการแข่งขันที่ดีที่สุดครั้งหนึ่งในการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ชิงแชมป์โลก 2008

ทีมที่เข้าร่วมการแข่งขันจะต้องประดิษฐ์หุ่นยนต์ที่ใช้ระบบ การมองเห็น (อัตโนมัติหรือควบคุมแบบไร้สายด้วยคอมพิวเตอร์) ขนาดเล็กทีมละ 5 ตัว เพื่อแข่งขันฟุตบอลซึ่งมีเวลาทั้งหมด 30 นาที แบ่งเป็นครึ่งแรก 15 นาทีและครึ่งหลัง 15 นาที ทีมที่ทำประตูได้มากกว่าจะเป็นผู้ชนะ

รศ.ดร. บุญสม เลิศหิรัญวงศ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า มหาวิทยาลัย ได้ให้การสนับสนุน กิจกรรมของชมรมนักประดิษฐ์ ซึ่งประดิษฐ์หุ่นยนต์เข้าร่วมการแข่งขัน ชมรมเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญ ต่อการพัฒนาหุ่นยนต์เตะฟุตบอลอัจฉริยะอย่างต่อเนื่อง นิสิตที่เข้าร่วมการแข่งขันครั้งนี้มีทักษะในการประยุกต์ใช้ความรู้ด้านวิศวกรรมต่อการออกแบบและบังคับหุ่นยนต์อย่างเชี่ยวชาญ นอกจากนี้ ประสบการณ์การแข่งขันในระดับนานาชาติ จะส่งผลให้นิสิตเกิดทักษะในการทำงานเป็นทีม รู้จักแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และเกิดการพัฒนาศักยภาพของตนต่อไป การแข่งขันนี้ แสดงให้เห็นว่า การปลูกฝังทักษะต่างๆ ให้แก่เยาวชนไทย ก็สามารถเป็นกำลังสำคัญในการสร้างบุคลากรทาง ด้านเทคโนโลยีรุ่นใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นอยู่เสมอในโลกปัจจุบัน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ นายกสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย กล่าวว่า “ตลอดระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมา ทีมตัวแทนประเทศไทยมีการพัฒนาขึ้นเป็นลำดับ ในทุกๆด้าน อาทิเช่น ความสามารถในการยิงลูกบอลให้เร็วขึ้นและแรงขึ้นกว่าเดิม การเพิ่มความแม่นยำในการรับส่งลูกบอล และการเพิ่มขีดความสามารถพิเศษให้หุ่นยิงลูกบอลโด่งได้แม่นยำอีกด้วย ขณะที่ด้านคอมพิวเตอร์ ได้มีการพัฒนารูปแบบการเล่นให้ทันกับแผนการเล่นของฝ่ายตรงข้ามได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น และเป็นที่มาของความสำเร็จอย่างงดงามของทีมพลาสมา ซี ในการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ชิงแชมป์โลก 2008 และสิ่งที่น่าภูมิใจคือในปีนี้ เราได้ส่งทีมเข้าแข่งขันทั้งหมด 3 ทีม โดยทีมสกูบ้าจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นอีกหนึ่งทีมที่สามารถคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดันที่สองมาได้เช่นกัน นับเป็นภาพความสำเร็จของเยาวชนไทยและเป็นภาพลักษณ์ของประเทศไทยที่ทำให้เกิดการยอมรับของนานาชาติ ว่าไทยมีศักยภาพในระดับชั้นนำของโลก

สมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย บริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด และมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ผลัดกันเป็นเจ้าภาพในการจัดการแข่งขัน ร่วมกันจัดการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทย ขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2545 และส่งทีมตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ชิงแชมป์โลกทุกปีอย่างต่อเนื่อง

อาจารย์ปัญญา เหล่าอนันต์ธนา ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า “การที่ทีมสกูบ้าจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และทีมไข่นุ้ย จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีโอกาสเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ชิงแชมป์โลกในปีนี้ ถือเป็นการเปิดโลกทัศน์ของทีมฟุตบอลหุ่นยนต์ไทยอย่างแท้จริง ประสบการณ์ต่างๆ จากการแข่งขันมีส่วนทำให้ทั้งสองทีมมีพัฒนาการที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจนจากการเข้าแข่งขันในเวทีโลกในระหว่างการแข่งขันได้เพียงไม่กี่วัน จากผลสำเร็จในครั้งนี้ทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ก็จะสนับสนุนให้มีการแข่งขันลักษณะนี้ให้มากขึ้น เพื่อพัฒนาศักยภาพของเยาวชนไทยให้เพิ่มมากขึ้นในทุกๆ ด้านต่อไป

นางสาวศิริรัตน์ เอี่ยวผดุง ผู้จัดการโรงงาน บริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ซีเกทรู้สึกภาคภูมิใจ ที่ทีมหุ่นยนต์จากประเทศไทยสามารถคว้าชัยชนะมาได้ โดยใช้เวลาในการพัฒนาทีมเพียง 6 ปี ซึ่งถือว่าน้อยมากสำหรับเทคโนโลยีการทำงานระบบอัตโนมัติ ซีเกทในฐานะผู้ให้การสนับสนุนมาตั้งแต่เริ่มต้น ตระหนักดีว่าเยาวชนไทยเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว และเชื่อว่าการจัดการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ในประเทศเพื่อคัดเลือกทีมไปแข่งในเวทีโลกเป็นความจำเป็นต่อการพัฒนาเยาวชน และวันนี้ก็เป็นบทพิสูจน์ว่าประสบผลสำเร็จจริง

“ซีเกทให้การสนับสนุนการจัดการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทยและการเข้าร่วมการแข่งขันในระดับนานาชาติ อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เริ่มต้นจวบจนถึงปัจจุบัน ซึ่งกล่าวได้ว่า การเป็นผู้สนับสนุนการแข่งขันทั้งในระดับประเทศและในระดับนานาชาติเป็นหนึ่งในโครงการสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของเยาวชนไทยที่สร้างสรรค์ที่สุดเท่าที่เคยมีมา”

ซีเกทมีนโยบายให้การสนับสนุนกิจกรรมเพื่อสังคมในทุกชุมชนที่ซีเกทเข้าไปดำเนินธุรกิจ โดยหวังว่าเราจะมีส่วนช่วยพัฒนาเยาวชน ตลอดจนชุมชนและประเทศนั้นๆ ผ่านกิจกรรมอันหลากหลายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาทักษะด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ ตลอดจนเทคโนโลยีหุ่นยนต์ โดยเยาวชนจะได้มีโอกาสพัฒนาศักยภาพผ่านกิจกรรมต่างๆหรือแม้จะเป็นเพียงการจุดประกายการเรียนรู้ที่สำคัญจากกิจกรรมเหล่านี้ การใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ รู้จักการแบ่งเวลาจากการเรียนมาทำกิจกรรมกับกลุ่มเยาวชนด้วยกัน ก่อให้เกิดความสามัคคี และใช้พลังความคิดสร้างสรรค์เพื่อทำงานเป็นหมู่คณะ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่าความสามารถทางวิชาการ”

การแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ขนาดเล็กหรือโรโบคัพ ซอกเกอร์ สมอลล์ ไซส์ ลีก (Robocup Soccer Small Size League) เป็นการแข่งขันประเภทหนึ่งของงานเวิร์ลโรโบคัพ ซึ่งจัดเป็นประจำทุกปี โดยหมุนเวียนจัดในประเทศต่างๆทั่วโลกซึ่งในปีนี้จัดขึ้นที่ เมืองซูโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน มีทีมเข้าแข่งขันจำนวน 17 ทีม จาก 8 ประเทศทั่วโลก ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา เยอรมนี เม็กซิโก ฟินแลนด์ อิหร่าน และไทย

บริษัทซีเกท

ซีเกทคือผู้นำทั่วโลกในการออกแบบ การผลิตและการตลาดฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์และโซลูชั่นสำหรับบันทึกข้อมูลจากการนำเสนอผลิตภัณฑ์สำหรับระบบปฏิบัติการต่าง ๆ รวมทั้งองค์กร เครื่องคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ เครื่องคอมพิวเตอร์ มือถือ (Mobile Computing) อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า (Consumer Electronics) และโซลูชั่นที่มียี่ห้อ (Branded Solutions) รูปแบบการดำเนินธุรกิจของซีเกทช่วยเสริมสร้างความเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีและการผลิตระดับโลก เพื่อส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และมีคุณภาพในระดับชั้นนำของอุตสาหกรรมไปยังลูกค้าทั่วโลก ด้วยเป้าหมายในการเป็นผู้นำในการนำผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดเป็นรายแรกในตลาดทั้งหมดที่เรามีส่วนร่วม บริษัทฯ มี ความมุ่งมั่นในการส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่ได้รับรางวัล การให้การสนับสนุนแก่ลูกค้าและมีความน่าเชื่อถือเพื่อตอบสนองความต้องการบันทึกข้อมูลที่เพิ่มขึ้นตลอดเวลาในโลก ท่านสามารถพบซีเกทได้ทั่วโลกและค้นหาข้อมูลซีเกทเพิ่มเติมที่ www.seagate.com

ข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ

หรือนางสาวขวัญจิต สุดสวัสดิ์ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด

โทรศัพท์ 0-2715-2919 Email: [email protected]

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net