จนท. ผู้ต้องหา เหยื่อ พยาน? มุมมองสิทธิมนุษยชนในกระบวนการยุติธรรมไทยและสากล

28 Jul 2008

กรุงเทพฯ--28 ก.ค.--กรมสอบสวนคดีพิเศษ

ในงานสัมมนาโครงการส่งเสริมและพัฒนากระบวนการยุติธรรมไทย ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) จัดขึ้นเมื่อวันที่ 24-25 กรกฎาคม 2551 ณ โรงแรมอมารี แอร์พอร์ตฯ โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจด้านสิทธิมนุษยชนแก่พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ และบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมของกระทรวงยุติธรรม เกี่ยวกับหลักสิทธิมนุษยชนที่เป็นมาตรฐานสิทธิมนุษยชนสากลของสหประชาชาติ และสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ในการปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยไม่เกิดการล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชน จากกระบวนการสอบสวนเพื่อค้นหาความจริง

ดร.คณิต ณ นคร ประธานกรรมการการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวในการบรรยายเรื่อง “สิทธิมนุษยชนในกระบวนการยุติธรรม” โดยระบุว่า กระบวนการยุติธรรมไทยได้พัฒนามาจากระบบไต่สวนที่ไม่แยกอำนาจหน้าที่การสอบสวนฟ้องร้องกับการพิจารณาพิพากษาออกจากกัน การตรวจสอบความจริงในระบบไต่สวนจึงมีชั้นเดียว คือ การตรวจสอบโดยศาล ในระบบไต่สวน “ผู้ถูกกล่าวหา” เป็น “กรรมในคดี” จึงขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน ในขณะที่กระบวนการยุติธรรมสมัยใหม่ซึ่งเป็นระบบกล่าวหา ได้แยกอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบความจริงออกเป็น 2 ขั้นตอนคือ การตรวจสอบความจริงในชั้นเจ้าพนักงาน และการตรวจสอบความจริงในชั้นศาล โดยกฎหมายได้กำหนดให้ผู้ต้องหามีสิทธิต่าง ๆ ในการต่อสู้ทางคดีซึ่งสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้วิธีพิจารณาคดีอาญาที่ดีต้อง มีความเป็นเสรีนิยม มีความเป็นประชาธิปไตย และเป็นการกระทำเพื่อสังคม ให้สังคมได้รับรู้ ตระหนักและเห็นว่ากระบวนการนี้เป็นกระบวนการที่ถูกต้อง อีกทั้งนัยยะที่สำคัญในตัวกฎหมายประกอบด้วย 2 หลักสำคัญ คือ เป็นกฎหมายที่รักษาความสงบเรียบร้อยและเป็นกฎหมายที่เป็นการคุ้มครองสิทธิ ถ้าเข้าใจอย่างนี้แล้วการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนก็จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะการตรวจสอบความจริงที่สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนในชั้นเจ้าพนักงาน จึงต้องคำนึงถึงสิทธิของผู้ถูกกล่าวหาเสมอ ต้องเริ่มจากการพิจารณาว่า การกระทำดังกล่าวนั้นเป็นความผิดอาญาหรือไม่ และเป็นความผิดฐานใด พนักงานสอบสวนต้องรวบรวมพยาน หลักฐานทั้งปวงเพื่อยืนยันการกระทำนั้นต่อศาล

อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติบทบาทการตรวจสอบในการออกหมายค้นและการขอหมายจับของศาล ซึ่งเป็นการพิจารณาตามหลักเกณฑ์และความจำเป็นของการขอออกหมายค้น หมายจับ ยังไม่แสดงถึงความเป็นเสรีนิยมในด้านการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเท่าที่ควร และหลายส่วนก็ยังไม่เป็นไปตามกฎหมายเท่าที่ควร อย่างเรื่องของการขอหมายค้น หมายจับ รวมทั้งความสมบูรณ์ของการแจ้งข้อกล่าวหาซึ่งยังไม่สมบูรณ์นัก การแจ้งข้อกล่าวหาที่สมบูรณ์จะต้องแจ้งว่าการกระทำของเขาคืออะไร และผิดกฎหมายอย่างไร ตรงจุดนี้เราควรพัฒนาเรื่องการเคารพสิทธิของผู้ถูกกล่าวหาให้มากขึ้น ซึ่งน่าจะทำให้อาชีพนายประกันและบริษัทประกันเสรีภาพที่เข้ามาหากินในขั้นตอนการขอประกันตัวของผู้ต้องหา และได้ผลประโยชน์มูลค่ามหาศาลจากการประกันเสรีภาพ ซึ่งระบบอยางนี้เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เป็นการซ้ำเติมผู้ถูกกล่าวหาที่เป็นประชาชนยากจน กระทรวงยุติธรรมจึงต้องเข้าไปดูแลแก้ไข

“ตามกฎหมายกระบวนการยุติธรรมไทยในปัจจุบันสามารถคุ้มครองสิทธิมนุษยชนดีพอสมควร แต่ทางปฏิบัติยังมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนบ่อยครั้ง การปฏิรูปกฎหมายต้องทำพร้อมกัน 3 อย่าง คือ ปฏิรูปตัวบทกฎหมาย ปฏิรูปการบังคับใช้กฎหมาย และปฏิรูปความคิดของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม ผมคิดว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษหน่วยงานใหม่ เป็นมิติใหม่ของสังคมไทย ที่จะปฏิรูปความคิดของคนในองค์กรได้ และจะทำให้เป็นที่เชื่อถือศรัทธาของประชาชนได้” ดร. คณิต กล่าว Mr.Homayuan Alizadeh Regional Repressentative, Office of High Commissioner for Human Rights : OHCHR บรรยายเรื่อง Human Rights : The Road to Justice” โดยกล่าวว่า ในการทำให้เกิดการเคารพสิทธิมนุษยชน ดำเนินไปได้ด้วยดี จะต้องคำนึงถึงคนยากจน และผู้ทุพพลภาพ เพราะกลุ่มคนเหล่านี้มักจะถูกละเลย ฉะนั้นจะต้องมีกระบวนการที่มีประสิทธิภาพ ต้องมีกฎเกณฑ์เพื่อการดำเนินการและมีแนวทางที่ละเอียดที่จะดำเนินไปสู่กระบวนการยุติธรรมที่ถ่องแท้ ดังนั้นการสร้างสังคมยุติธรรมคนในสังคมนั้นจะต้องมีสิทธิมนุษยชนที่เท่าเทียมกันทุกคน

Dr.Friedrich Hamburger Ambassador Head of Delegation, EU Delegation บรรยายเรื่อง The Role of international Cooperation to Promoting and Protecting Human Rights” โดยกล่าวว่า ตนได้ยินบ่อยครั้งเรื่องการที่ผู้ต้องหาหรือผู้เกี่ยวข้องในคดีไม่ได้รับการเคารพสิทธิมนุษยชนอย่างเหมาะสม และเข้าใจว่าวัฒนธรรมความเชื่อที่แตกต่างกันของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่งผลกระทบกับเรื่องนี้โดยเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งตนเชื่อว่ากลุ่มประเทศเหล่านี้กำลังปรับตัวให้สอดคล้องกับหลักการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ซึ่งปัจจุบัน สมาชิกสหภาพยุโรปและอื่น ๆ ราว 110 ประเทศ ได้มีการยกเลิกโทษประหารชีวิตไปแล้ว และในกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปยังได้มีการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เพื่อปรับปรุงการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเทศสมาชิกให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ซึ่งใน ปี 2006 ได้มีกฎระเบียบการค้าระหว่างประเทศซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนไว้ว่า จะไม่มีการซื้อสินค้าจากประเทศที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือประเทศที่ยังมีการลงโทษประหารชีวิตอยู่ นอกจากนี้ในประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปได้มีการกำหนดจุดยืนของตัวเองในเวทีระหว่างประเทศไว้โดยมีเป้าหมายในการพยายามคุ้มครองสิทธิมนุษยชนด้วย

นายชัชชม อรรฆภิญญ์ อัยการผู้เชี่ยวชาญพิเศษ รักษาการอัยการพิเศษ ฝ่ายกิจการต่างประเทศ สำนักงานต่างประเทศ สำนักอัยการสูงสุด กล่าวว่า การละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นได้มากที่สุดในคดีอาญา ทั้งนี้เนื่องจากการรับโทษในคดีอาญาของผู้ต้องหาแต่ละประเภทล้วนกระทบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็น ปรับ ยึดทรัพย์ จำคุก ประหารชีวิต นอกจากนั้นระหว่างการดำเนินคดีก็คล้ายกับว่าเจ้าพนักงานจะมีดาบอาญาสิทธิที่จะไปจับกุม หรือถามคำถามที่ปกติเราจะไม่สามารถถามคนอื่นได้เลย แต่เมื่อสวมบทพนักงานสอบสวนแล้วเขาสามารถถามคำถามเหล่านั้นได้ จึงเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนขึ้นได้ ดังนั้นการคุ้มครองสิทธิกับการดำเนินคดีสามารถทำควบคู่กันได้ แต่ต้องถามก่อนว่า การคุ้มครองสิทธินั้นสิทธิของใคร เพื่ออะไร และทำอย่างไร และต้องคำนึงว่าผู้ที่จะต้องได้รับการคุ้มครองสิทธิคือ ผู้ต้องหา ผู้เสียหายหรือเหยื่อ และพยาน การคุ้มครองสิทธินั้นเป็นไปเพื่อค้นหา “ความจริง” ซึ่งจะเป็นเกราะปกป้องทั้งสามฝ่าย ในกระบวนการค้นหาความจริงของกระบวนการยุติธรรม

สำหรับบทบาทอัยการกับการคุ้มครองสิทธิในกระบวนการค้นหาความจริง ทั้งในคดีอาญา คดีแพ่ง และคดีปกครองนั้น อัยการมีบทบาทเข้าไปเกี่ยวข้องทั้งสิ้น รวมทั้งในส่วนคดีอาญาพิเศษในความรับผิดชอบของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในเรื่องการคุ้มครองสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนในรัฐธรรมนูญมาตรา 40(5) และยังมีกฎหมายอื่นๆที่กล่าวถึงการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของบุคคลอื่นไว้

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ

งานเผยแพร่-ประชาสัมพันธ์ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) โทร.0-2270-1350 ต่อ 113