กรุงเทพฯ--24 ก.ค.--มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ
ผศ.ดร.สมประสงค์ สัตยมัลลี
เครือข่ายนักวิจัย ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.)
มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.)
www.thainhf.org
หนึ่งในคำตอบว่าทำไมระบบขนส่งสาธารณะบ้านเรายังย่ำแย่ เหมือนทำๆ ไปเพื่อคนด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจนั้นก็คือว่า ผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องไม่เคยใช้ระบบขนส่งสาธารณะเลย จึงไม่เคยเข้าใจหัวอกประชาชนที่ใช้บริการขนส่งสาธารณะที่ต้องทนกับสภาพชำรุดทรุดโทรมไม่พร้อมใช้งานของสถานีรถโดยสาร ป้ายจอด หรือกระทั่งรถเมล์ที่ฝากชีวิตและทรัพย์สิน
ทั้งนี้ด้วยในเชิงนโยบายแล้ว การกำหนดระบบขนส่งสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ นั้นมักจะดำเนินไปในแบบไม่คิดรอบคอบรอบด้าน และที่สำคัญไม่มีการพิจารณาถึงประโยชน์อย่างแท้จริงของผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงอย่างผู้ใช้บริการ ดังนั้นไม่ว่ารัฐจะจ้างที่ปรึกษาที่ดีเลิศอย่างไร ผลการศึกษาก็จะถูกชี้นำโดยปัจจัยที่ทุกคนมองไม่เห็น เช่น กรณีการนำรถโดยสารสาธารณะ 6,000 คันที่ใช้เชื้อเพลิง NGV เข้ามาใช้ในประเทศไทยในขณะที่ปัจจุบัน ขสมก. เองก็มีรถโดยสารอยู่แล้วประมาณ 2,000 คัน
ทั้งๆ ที่การนำเข้ารถโดยสารถึง 6,000 คันนั้นไม่ใช่โครงการขนาดเล็ก ต้องใช้เงินลงทุนมหาศาลมากแม้จะเป็นแค่การเช่าก็ตาม แต่แล้วรัฐบาลก็กลับดำเนินการอย่างเงียบๆ รายละเอียดหาแทบไม่ได้ ไม่มีการวางแผนหรือคิดอย่างเป็นระบบ จึงเกิดคำถามมากมายในสังคมว่าเช่นนี้แล้วผลประโยชน์ของผู้ใช้บริการคืออะไร การมีระบบขนส่งสาธารณะที่ดีจะเป็นไปได้อย่างไร เป็นระบบที่มีความปลอดภัยหรือความสะดวกสบายมากน้อยแค่ไหน
รวมทั้งสังคมยังคลางแคลงใจในความน่าเชื่อถือของนโยบายนำเข้ารถโดยสารที่ใช้ระบบเชื้อเพลง NGV ว่านอกจากไม่มีการพิจารณาปัจจัยด้านความปลอดภัย ชนิดต้องรอให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงเสียก่อนถึงจะคิดออก ตลอดจนขาดการวางแผนการดำเนินงานอย่างมั่นคงและเป็นระบบแล้ว ยังไม่มีความชัดเจนเลยว่าตัวเลข 6,000 คันนั้นมาจากฐานคิดอะไร
ไม่เพียงเท่านั้นขณะคลอดโครงการนี้เคยคำนวณเวลาในการเติมเชื้อเพลิง NGV บ้างไหมว่าหากแต่ละคันใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง (1 ถังใช้เวลา 15 นาที) ร้อยละ 80 ของจำนวนรถนำไปใช้ในระบบแต่ละวันจึงต้องการเวลาเติมเชื้อเพลิงไม่ต่ำกว่า 4,800 ชั่วโมงเลยทีเดียว และที่สำคัญสุดคือประเทศไทยเราเสียหายมหาศาลในการสร้างโอกาสการจ้างงานและสร้างองค์ความรู้ใหม่จาการทำวิจัยระบบเชื้อเพลิง NGV ในรถโดยสารสาธารณะ
ซึ่งอันที่จริงแล้วมีการนำเข้ารถโดยสารที่ใช้เชื้อเพลิง NGV แล้วจำนวนหนึ่งถึงไม่มากนัก แต่ก็สามารถทำลายระบบความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมประกอบรถโดยสารที่ประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในผู้มีความสามารถด้านนี้อยู่แล้ว และจะเก่งขึ้นมากถ้าผู้มีอำนาจมีวิสัยทัศน์ไกลกว่านี้ การนำเข้ารถโดยสาร 6,000 คันจึงน่าเสียดายการจ้างงานในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำแบบนี้ เพราะอย่างน้อยๆ ก็ดีกว่าปล่อยให้การจ้างงานและเงินบาทเดินทางออกนอกประเทศ
เนื่องด้วยกระบวนการผลิตรถโดยสารมากถึง 6,000 คันนั้นสามารถมอบดอกผลทางธุรกิจและคุณภาพที่เราควบคุมได้เองในทุกขั้นตอนการสร้าง ตั้งแต่การประกอบตัวรถโดยสาร โครงสร้างรถ เบาะผู้โดยสาร อุปกรณ์อิเล็กทรอนิคส์ อุปกรณ์ประดับรถ จนกระทั่งสามารถก้าวขึ้นมาเป็นผู้ส่งออกสู่ภูมิภาคนี้ได้ด้วย อย่างไรก็ตาม คนส่วนใหญ่มักหาเหตุผลมาสนับสนุนความคิดของตนเพื่อให้สิ่งที่กระทำดูดีได้เสมอ การใช้เงินภาษีมหาศาลไปเช่าซื้อรถเมล์ ขสมก. จึงมีการอ้างเหตุผลต่างๆ นาๆ น่าอนาถยิ่ง ขณะที่ระบบขนส่งสาธารณะของเมืองไทยก็จะยังคงล้มลุกคลุกคลานอีกยาวนานแน่นอน!