ปีสากลว่าด้วยดาวเคราะห์โลก International Year of Planetary Earth (IYPE)

01 Feb 2008

กรุงเทพฯ--1 ก.พ.--

ความเป็นมา

จากการประชุมสมาคมธรณีวิทยาสากล (International Union of Geological Sciences : IUGS) ประจำปี 2543 ได้มีการพิจารณาข้อเสนอแนวคิดในการประกาศปีสากลว่าด้วยดาวเคราะห์โลก (International Year of Planet Earth : IYPE) เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือจากองค์กรทางด้านธรณีวิทยาทั่วโลกในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่อแสดงให้ทุกภาคส่วนของสังคมได้เห็นถึงความสำคัญและคุณประโยชน์ของธรณีวิทยา และองค์ความรู้ทางด้านธรณีวิทยาที่เกี่ยวข้องกับโลก

ต่อมาในการประชุมคณะกรรมการบริหาร IUGS สมัยที่ 48 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2544 เห็นชอบให้มีการศึกษาความเป็นไปได้ของการประกาศจัดกิจกรรมปีสากลว่าด้วยดาวเคราะห์โลก โดย Earth Science Division ของ UNESCO ให้การสนับสนุน และเสนอให้สมัชชาสหประชาชาติ (United Nations General Assembly) เป็นผู้ดำเนินการในการประกาศปีสากลว่าด้วยดาวเคราะห์โลก

และปี 2545 คณะกรรมการด้านวิชาการธรณีวิทยา (Science Programme Committee) ของสมาคมธรณีวิทยาสากล (IUGS) ได้จัดทำแผนการดำเนินงานที่มีหัวข้อหลักด้านวิชาการธรณีวิทยา โดยสมาคมธรณีวิทยาสากล (IUGS) และสหประชาชาติ (United Nations) คัดเลือกเหลือ 8 หัวข้อ เป็นหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับ น้ำบาดาล (Groundwater) ภูมิอากาศ (Climate) สุขอนามัย (Health) ใต้พิภพ (Deep Earth) เมืองใหญ่ (Megacities) ทรัพยากรธรณี (Resources) ภัยพิบัติ (Hazard) มหาสมุทร (Ocean) ต่อมาในปี พ.ศ. 2547 สมาคมปฐพีวิทยาสากล (International Union of Soil Science) เสนอหัวข้อเพิ่มเกี่ยวกับดิน (Soil) และคณะกรรมการธรณีวิทยาแห่งชาติของเยอรมัน ฝรั่งเศส และออสเตรีย เสนอหัวข้อเพิ่มเกี่ยวกับชีวิต (Life) ซึ่งในเดือนสิงหาคม 2547 มีการพิมพ์และแจกจ่ายกำหนดการรายละเอียดของกิจกรรมต่างๆ ภายใต้หัวข้อภูมิอากาศ สุขอนามัย ใต้พิภพ และทรัพยากรธรณี ในขณะเดียวกัน คณะกรรมการเผยแพร่ผลงานทางธรณีวิทยา (Outreach Programme Committee) ได้จัดทำเว็บไซต์ www.esfs.org เผยแพร่กำหนดการเกี่ยวกับกิจกรรมทางด้านธรณีวิทยาต่างๆ ซึ่งเปิดกว้างโดยเชิญชวนให้บุคคลทั่วไปและองค์กรต่างๆ เข้าร่วมกิจกรรมได้

นอกจากนี้ สมัชชาสหประชาชาติ (United Nations General Assembly) ได้มีมติเมื่อครั้งประชุมสมัยที่ 68 เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2548 ประกาศให้ปี 2551 เป็นปีสากลว่าด้วยดาวเคราะห์โลก และกำหนดระยะเวลาการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของปีสากลว่าด้วยดาวเคราะห์โลกไว้ 3 ปี ตั้งแต่มกราคม 2550 - ธันวาคม 2552

ทั้งนี้ ประเทศสมาชิกสหประชาชาติรวมถึงประเทศไทยได้รับเชิญให้สนับสนุน และเข้าร่วมในกิจกรรมนี้ รายละเอียดเพิ่มเติม ดูได้จาก http://www.yearofplanetearth.org ประเทศไทยเข้าร่วมโครงการ IYPE ในเดือนเมษายน 2550 โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการแห่งชาติของปีสากลว่าด้วยดาวเคราะห์โลก (National Committee of the International Year of Planet Earth) โดยมีอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี เป็นประธานกรรมการ ผู้อำนวยการกองอนุรักษ์และจัดการทรัพยากรธรณี เป็นเลขาธิการ ผู้แทนจากหน่วยราชการและสถาบันต่างๆ ด้านธรณีวิทยาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภาครัฐและเอกชน เป็นกรรมการ โดยคณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบในการวางแผน ดำเนินกิจกรรม ติดตามผลการดำเนินงาน และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของปีสากลว่าด้วยดาวเคราะห์โลก ส่งเสริมให้หน่วยราชการและสถาบันต่างๆ ทั้งภาครัฐบาลและเอกชนเข้าร่วมในกิจกรรม และแต่งตั้งคณะทำงานตามความจำเป็น