เมนูอาหารกลางวันคลิกพลิกวิกฤตทุพโภชนาการเด็กไทย

13 Feb 2008

กรุงเทพฯ--13 ก.พ.--มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ

ความไม่สมดุลทางภาวะโภชนาการทั้งภาวะโภชนาการเกินและภาวะขาดโภชนาการกลายเป็นวิกฤตที่กำลังกระหน่ำเด็กไทยในทุกช่วงอายุอย่างหนัก ทั้งยังจะทวีคูณความรุนแรงขึ้นอีกมากหากยังไม่แก้ไขโดยด่วนเสียแต่วันนี้ ด้วยในแต่ละวันเด็กวัยเจริญเติบโตจำต้องการสารอาหารในปริมาณเพียงพอต่อการพัฒนาทางร่างกายและสมองเพื่อจะให้พวกเขาสามารถสนุกสนานกับการเรียนและทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้

ในทางตรงข้ามถ้าได้รับสารอาหารในปริมาณไม่สอดคล้องต่อความต้องการของร่างกาย ไม่ว่าจะปริมาณมากหรือน้อยเกินไปก็จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อพัฒนาการทางร่างกายและสมอง ด้วยมากเกินไปก็จะทำให้เด็กกลายเป็นโรคอ้วนและโรคเบาหวาน ขณะที่น้อยเกินไปร่างกายก็จะเติบโตช้า สมองพัฒนาช้า ตลอดจนเจ็บป่วยบ่อย ๆ

อาหารมื้อกลางวันในโรงเรียนที่มักจะสร้างปัญหา ‘ทุพโภชนาการ’ ให้แก่เด็กไทยอย่างมากมายเนื่องด้วยมีสารอาหารไม่เหมาะสมต่อความต้องการของร่างกายและสมอง ถึงแม้ว่าทางภาครัฐจะจัดสรรงบประมาณโครงการอาหารกลางวันโรงเรียนมาให้ แต่สุดท้ายก็ไม่อาจถ้วนทั่วเด็กทุกคนในโรงเรียน

อย่างไรก็ตามงบประมาณไม่ได้เป็นปัจจัยชี้ขาดว่าอาหารมื้อกลางวันในโรงเรียนจะด้อยคุณภาพหรือสามารถสร้างเสริมพัฒนาการทางร่างกายและสมองของเด็กได้มาก เพราะหากโรงเรียนมี ‘คู่มือโปรแกรมอาหารกลางวันสำหรับโรงเรียน’ แล้ว เงินไม่มากนักก็สามารถจัดสำรับอาหารกลางวันที่มีปริมาณสารอาหารเพียงพอต่อความต้องการทางร่างกายและสมองของเด็กๆ ได้

ด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์อาหารกลางวันสำหรับโรงเรียนที่ร่วมกันจัดทำโดยเครือข่ายวิจัยสุขภาพ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการอำนวยความสะดวกให้โรงเรียนสามารถจัดอาหารกลางวันซึ่งเป็นมื้อสำคัญสำหรับเด็กๆ ได้อย่างมีคุณภาพและเพียงพอเหมาะสมต่อความต้องการของเด็กในวัยเจริญเติบโต

โปรแกรมอาหารกลางวันนี้จะช่วยให้ผู้ดูแลการจัดอาหารกลางวันในโรงเรียนสามารถจัดเมนูหมุนเวียนที่มีคุณค่าสารอาหารครบถ้วนตรงตามแต่ละช่วงวัยของเด็กจากตำรับอาหารที่สถาบันวิจัยโภชนาการได้จัดปริมาณอาหารต่อคนต่อมื้อไว้แล้วได้อย่างสะดวกสบายและหลากหลาย ด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์นี้ใช้งานง่าย ใช้เวลาไม่นานนักในการทำความเข้าใจชุดคำสั่งใช้งาน

แรกแค่คลิกปุ่มเริ่มจัดอาหาร ใส่จำนวนนักเรียน และใส่ระดับชั้นอนุบาลหรือประถมศึกษา ตามด้วยคลิกปุ่มเริ่มจัดอาหารอีกครั้ง เพียงเท่านี้ก็จะได้เมนูอาหารกลางวันที่เหมาะสมต่อพัฒนาการทางร่างกายและสมองของเด็กๆ แล้ว โดยสามารถเลือกชุดอาหารที่จัดไว้แล้วตามหลักโภชนาการได้ทั้งแบบชุดอาหารประจำสัปดาห์และแบบจัดด้วยตัวเองที่จะปรับเปลี่ยนเมนูอาหารในบางวันที่ไม่ต้องการให้เป็นเมนูที่เลือกใหม่ได้เองโดยไม่เสียคุณภาพและความพอเพียงของสารอาหารที่เหมาะสมต่อช่วงวัยนั้นๆ ของเด็ก

มากกว่านั้น โปรแกรมนี้จะทำให้ผู้ดูแลการจัดอาหารกลางวันไม่ต้องเวียนหัวกับการคำนวณค่าใช้จ่ายจากการจัดซื้อวัตถุดิบในการประกอบอาหารที่มักจะผันผวนตามราคาตลาดอยู่เสมอๆ ซึ่งจะยุ่งยากมากในการกำหนดงบประมาณหรือจัดเมนูทั้งสัปดาห์ เนื่องด้วยโปรแกรมนี้จะเอื้อให้ผู้ดูแลการจัดอาหารกลางวันสามารถทราบทั้งงบประมาณค่าวัตถุดิบอาหาร/คน/มื้อ ตามราคากลางที่ประมาณการเอาไว้ และปริมาณวัตถุดิบทั้งหมดในการประกอบอาหารที่ต้องจัดหาให้เพียงพอต่อจำนวนเด็กที่ต้องให้บริการ

ทั้งนี้เพื่อความสะดวกในการใช้โปรแกรมการจัดอาหารกลางวันนี้ ผลการคำนวณในส่วนของรายการอาหาร เมนูอาหาร ชุดอาหารประจำสัปดาห์ จะแปลงออกมาเป็นคะแนนเพื่อให้ผู้ใช้เข้าใจง่าย เช่น พลังงาน ไขมัน และโปรตีนอยู่ระหว่าง 9-12 คะแนน จะเป็นคะแนนที่เหมาะสม แต่ถ้าสูงกว่านั้นจะทำให้เด็กเป็นโรคอ้วนได้ ในขณะเดียวกันหากสารอาหารอื่นๆ สูงกว่า 7 คะแนน ก็อยู่ในข่ายรับได้ไม่อันตราย

การจัดอาหารกลางวันมื้อสำคัญในโรงเรียนได้อย่างเหมาะสมและถูกต้องตามหลักโภชนาการผ่านโปรแกรมจัดอาหารกลางวันสำหรับโรงเรียนเช่นนี้น่าจะช่วยให้ดัชนีชี้วัดพัฒนาการทางร่างกายและสมองของเด็กไทยโดยรวมสูงขึ้นได้

อนึ่ง ปัจจุบันมี 4 โรงเรียนนำร่องที่นำโปรแกรมนี้ไปใช้แล้ว คือ โรงเรียนเทศบาลบ้านบางเหนียว จังหวัดภูเก็ต โรงเรียนเทศบาล 4 (วัดโพธาวาส) จังหวัดสุราษฎร์ธานี โรงเรียนเทศบาล 1 (สังขวิทย์) และโรงเรียนเทศบาล 6 (วัดตันตยภิรม) จังหวัดตรัง โดยโรงเรียนที่สนใจสามารถดาวน์โหลดโปรแกรมนี้ได้ที่ www.trf.or.th/www.thainhf.org