ดูแลสุขภาพดีสูงวัยอายุยืน

21 Jan 2008

กรุงเทพฯ--21 ม.ค.--TCELS

น.พ.กฤษฎา ศิรามพุช แพทย์เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์อายุรวัฒน์ อาจารย์นิสิตปริญญาเอก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง“เวชศาสตร์อายุรวัฒน์ (Anti aging Medicine) ซึ่งเป็นศาสตร์ใหม่ทางการแพทย์เพื่ออายุยืนอย่างไม่มีโรค เปิดเผยว่าศาสตร์สาขานี้กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วในสหรัฐอเมริกา เพื่อให้บริการดูแลการถนอมวัยก่อนที่จะเข้าสู่วัยสูงอายุให้มีสุขภาพดี ซึ่งปัญหาทั่วโลกในอีกไม่กี่ปีนี้จะมีผู้สูงอายุมากทั่วโลก ซึ่งในประเทศไทยก็เช่นกัน สำนักงานสถิติแห่งชาติได้จัดให้ประเทศไทยเข้าสู่โครงสร้างประเทศสูงอายุเหมือนกับแถบยุโรปแล้ว เนื่องจากมีประชากรที่มีอายุ 60 ปี ถึงกว่าร้อยละ 10 และประชากรเด็กลดลงเหลือเพียงร้อยละ 20 ซึ่งสัดส่วนประชากรสูงอายุกำลังเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ แต่ผู้สูงอายุไทยส่วนใหญ่จะมีปัญหาสุขภาพ โดยเฉพาะโรคประจำตัวเช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง เนื่องจากขาดการดูแลตั้งแต่ต้น โดยหลักการของเวชศาสตร์อายุรวัฒน์ก็คือ การใช้เทคโนโลยีล่าสุด หรือความรู้ทางการแพทย์ใหม่ ๆ ทุกด้าน ในการชะลอความชราหรือความเสื่อมออกไป แต่ขณะเดียวกันสุขภาพก็ต้องดีด้วย เนื่องจากการรักษาในอนาคตจะรักษาถึงขั้นระดับเซลล์ซึ่งเป็นหน่วยพื้นฐานของเนื้อเยื่อหรืออวัยวะ และทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบหลายระบบรวมกัน และเทคโนโลยีทางการแพทย์สามารถประเมินสุขภาพในระดับเซลล์และแก้ไขได้

ในปี พ.ศ.2339 มนุษย์มีอายุขัยเฉลี่ยเพียง 25 ปี เท่านั้น แต่ต่อมาอีก 100 ปี อายุเพิ่มเป็น 48 ปี ในปี พ.ศ.2539 อายุขัยเฉลี่ยเพิ่มเป็น 70-80 ปี ในประเทศพัฒนาแล้ว ส่วนประเทศไทย ขณะนี้ผู้ชายอายุ 68 ผู้หญิงอายุ 72 ปี จะเห็นว่าอายุขัยของคนเพิ่มขึ้นอย่างเด่นชัด ผู้เชี่ยวชาญทางเวชศาตร์อายุรวัฒน์ ได้คาดทำนายว่า มนุษย์จะมีอายุขัยถึง 120 - 150 ปี ได้แน่นอน ก่อนที่จะถึง พ.ศ.2593 หรืออีกใน 42 ปี ข้างหน้านี้ แต่สาเหตุที่ทำให้แก่เร็วยังมีปัจจัยอย่างอื่นได้อีก เช่น นอนดึก หรือแม้แต่การอาหารพื้นเมืองอย่างปลาร้าก็มีผลทำให้แก่เร็วด้วย สำหรับสัญญาณ ความชราที่สังเกตได้ง่ายจากอาการเหล่านี้คือ รู้สึกเหนื่อยเพลีย เหมือนหมดไฟหรือแบตหมดแม้จะนอนมากก็รู้สึกว่านอนไม่พอ นอนหลับไม่สนิท คิดช้า กินน้อยแต่อ้วนมาก มีโรคเรื้อรังรุมเร้าอย่างน้อย 1 โรค เช่นไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ไขข้อเสื่อม ขี้ลืมบ่อย จดจำสิ่งต่าง ๆ ได้สั้นลง หากดูใบหน้าจะสังเกตเห็นตีนกา ริ้วรอย ผิวหน้าเริ่มหยาบ รูขุมขนเริ่มใหญ่ หน้าไม่เปล่งปลั่งเหมือนตอนวัยรุ่น และหากเจาะเลือดตรวจสุขภาพมา จะพบผลเลือดบางอย่าง สูงหรือต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ หากมีอาการเหล่านี้แม้แต่เพียงข้อเดียว แสดงว่ากำลังเข้าสู่วัยชรา และจะเสื่อมลงเรื่อย ๆ หากไม่แก้ไข

ด้านน.พ.ธงชัย ทวิชาชาติ ผู้อำนวยการ TCELS ผู้สูงอายุไทยส่วนใหญ่ จะป่วยเป็นโรคประจำตัวเพราะชีวิตในวัยหนุ่มสาวทำงานหนักมาตลอดบางคนอายุแค่ 60 ปี แต่หน้าแก่เหมือน 80 ปี จึงต้องการให้คนหนุ่มสาว เตรียมตัวก่อนแก่ ตั้งแต่อายุ 45 ปี ขึ้นไป โดย TCELS จะพัฒนารูปแบบ เพื่อให้เป็นแกนหลักของชาติ เตรียมคนเหล่านี้ให้สอดคล้องกับแผนดูแลผู้สูงอายุของไทย ว่าจะทำอะไรบ้างในการชะลอความชรา ภายใต้หลักการอายุ 60 ปี แต่แข็งแรงเหมือนวัย 45 ปี โดยในวันที่ 24 มกราคม นี้ TCELS จะเสนอโครงการการดูแลคนชรา เข้าสู่ที่ประชุมเอเปก ที่ประเทศเปรู ซึ่งไทยวางแผนจะสร้างระบบการดูแลผู้สูงอายุที่อยู่ในบ้านและในวัด ในลักษณะพนักงานสุขภาพชุมชน ซึ่งจะต้องเร่งทำ เพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับการบริการที่ดี