ผลวิจัยระบุ 7 เคล็ดลับ ช่วยรักษาความทรงจำให้ยืนยาว ย้ำการกินอาหารถูกหลักโภชนาการ และการออกกำลังกายมีส่วนสำคัญ

31 Jan 2008

กรุงเทพฯ--31 ม.ค.--เนสท์เล่

ศูนย์วิจัยเนสท์เล่ สวิตเซอร์แลนด์ แสดงรายงานผลการศึกษาวิจัยของ ดร. สเตฟานี สติวเดนสกี้ แห่งโรงเรียนแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยพิสเบอร์ก และเป็นหนึ่งในสมาชิกของสมาคมผู้สูงอายุของอเมริกันและร่วมจัดงานประชุมวิชาการเรื่อง “ความทรงจำที่ยืนยาว” ระบุว่าสมองมีพัฒนาการอย่างเต็มที่ในช่วงวัยรุ่น สามารถต้านการเสื่อมของความจำลงได้ ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับการสร้างมวลกระดูกในช่วงวัยรุ่นที่สามารถช่วยป้องกันการหักของกระดูกในวัยชราลงได้เช่นกัน

ดร. สติวเดนสกี้ เปิดเผยข้อมูลจากการศึกษาว่า “วิธีการที่ทำให้สมองมีสุขภาพที่ดีในวัยชรามีหลายองค์ประกอบ อาทิเช่น การออกกำลังกาย และให้มีสติอยู่ตลอด รวมทั้งการดำเนินชีวิตเพื่อให้มีสุขภาพที่ดี แต่ทว่าสิ่งสำคัญก็คือ เซลล์สมองมีพัฒนาการมากในช่วงต้นของชีวิต โดยทุกคนจะมีส่วนของเนื้อเยื่อสมองหรือพื้นที่ความจำจำนวนมาก มีหลักฐานแสดงให้เห็นชัดเจนว่าการสร้างเซลล์สมองขณะที่มีอายุน้อยมีส่วนป้องกันการเสื่อมลงของเซลล์สมองที่อาจจะเกิดขึ้นในแต่ละวัน ดังนั้นแม้เมื่อเข้าสู่วัยชราสมองก็ยังจะสามารถทำงานต่อได้ กระบวนการสร้างสมองพบว่าเหมือนกับการสร้างกระดูก โดยเมื่อการสร้างกระดูกในขณะที่มีอายุน้อยนั้นมีความแข็งแรง ถ้าเกิดมีการสูญเสีย ก็จะทำให้สูญเสียกระดูกเพียงเล็กน้อยโดยไม่ถึงจุดที่ทำให้กระดูกหัก”

นอกจากนี้ ดร.สติวเดนสกี้ ยังได้ให้เคล็ดลับในการรักษาสติปัญญาในวัยชราให้มีความเฉียบคมอยู่ตลอดเวลา ซึ่งประกอบด้วย 1. การกินอาหารให้ถูกหลักโภชนาการ โดยเลือกอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวต่ำแต่อุดมไปด้วยผักและผลไม้ รวมทั้งกลุ่มวิตามินบีที่เป็นประโยชน์ต่อสมอง ควรรับประทานปลาหลายๆ ครั้งต่อสัปดาห์ โดยเฉพาะปลาที่มีกรดไขมันชนิดโอเมก้า-3 เช่น ปลาแซลมอนและปลาทูน่า 2. การออกกำลังกายเป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นการเดิน การเต้นรำ การขี่จักรยาน การว่ายน้ำหรือการทำสวน โดยควรทำอย่างน้อยครั้งละ 30 นาที เป็นเวลา 3 ครั้งต่อสัปดาห์ การออกกำลังกายจะช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปสู่สมองมีผลช่วยทำให้สมองมีสุขภาพและทำงานได้ดีอยู่ตลอดเวลา และยังอาจมีผลช่วยในกระบวนการสร้างเซลล์สมองใหม่ให้เจริญได้ดีด้วย 3. การไปพบแพทย์เป็นประจำและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ เพราะปัญหาด้านสุขภาพหลายๆปัญหา เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคซึมเศร้า และการรับประทานอาหารที่ไม่ถูกต้อง จะทำให้สติปัญญาลดความเฉียบคมลง ดังนั้นการตรวจร่างกายเป็นประจำจึงมีความจำเป็นมากที่จะช่วยทำให้สามารถรักษาสุขภาพให้ดีอยู่ตลอด 4. นอนหลับให้เพียงพอ การนอนหลับที่น้อยกว่าวันละ 7-8 ชั่วโมง ทำให้ความจำและการมีสมาธิทำได้ยากขึ้น 5. ลดความเครียดลง ความเครียดนั้นมีผลทำให้สมาธิลดลง รวมทั้งลดการเรียนรู้และความจำลงด้วยเช่นกัน ความเครียดยังทำให้นอนหลับไม่เพียงพอ โดยพบว่าการออกกำลังกาย การสวดมนต์ และการทำสมาธิช่วยลดความเครียดลงได้เป็นอย่างดี 6. การคิด และการใช้สมอง ยิ่งเราใช้สมองมากขึ้นเท่าไร ก็ยิ่งทำให้สมองทำงานได้ดีขึ้น ควรหากิจกรรมต่างๆ ทำ เช่น การอ่านหนังสือ เล่นเกมคอร์สเวิร์ด การเข้าร่วมอภิปรายกลุ่ม การเข้าเรียนพัฒนาตนเองในคอร์สต่างๆ การสมัครเรียนเปียโน หรือ การสมัครเรียนภาษา เป็นต้น 7. การเข้าสังคม การใช้เวลาร่วมกับผู้อื่นจะช่วยทำให้สมองเกิดการตื่นตัว เช่น การพบเพื่อนใหม่ ๆ การเข้าร่วมเป็นสมาชิกหรืออาสาสมัคร หรือทำงานนอกเวลา

รวบรวมข้อมูลและเผยแพร่ : ศูนย์วิจัยเนสท์เล่ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

และศูนย์ผู้บริโภคเนสท์เล่ ประเทศไทย

โทร. 0-2657 8657 e-mail: [email protected]