กรุงเทพฯ--17 เม.ย.--สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย
นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย ยืนยันขอให้กระทรวงพาณิชย์อนุมัติการขึ้นราคาอาหารสัตว์ตามที่สมาชิกได้ร้องขอเพื่อให้เป็นไปตามกลไกตลาด และระบุว่าในฐานะนายกสมาคมฯต้องดูแลภาพรวมของอุตสาหกรรมผู้ผลิตอาหารสัตว์ สมาชิกและผู้ประกอบการอื่นๆ รวมแล้วกว่า 1,000 ราย ทั้งรายย่อย รายกลางและรายใหญ่ จึงต้องขอวอนให้รัฐบาลเร่งพิจารณาอย่างถ้วนถี่ ไม่เช่นนั้นจะส่งผลกระทบทั้งระบบ เท่ากับเป็นการทำลายผู้ประกอบการรายย่อยและรายกลาง จนกระทั่งนำไปสู่การผูกขาดจากจำนวนผู้ประกอบการผลิตอาหารสัตว์รายใหญ่ที่จะยังยืนอยู่ได้เพียงไม่กี่ราย ขณะที่สมาชิกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ทุกบริษัท ต่างยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่าจะไม่ลดคุณภาพสินค้า แม้ปัจจุบันนี้จะต้องแบกรับภาระต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์อย่างแสนสาหัส จากราคาข้าวโพด กากถั่วเหลือง รำขาวและปลายข้าว ในตลาดโลกพุ่งที่สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์
โดยราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในตลาดชิคาโก มีราคาซื้อขายล่วงหน้าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 6.00 เหรียญสหรัฐต่อบุชเชล ส่วนราคาเฉลี่ยของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศไทย ปี 2546 อยู่ที่ 5.46 บาทต่อกิโลกรัม ปี 2550 อยู่ที่ 7.99 บาทต่อกิโลกรัม โดยเมื่อเทียบตัวเลขราคาระหว่างปี 2550 กับ 2546 แล้วพบว่า ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สูงขึ้นถึง 46.25% ส่วนรำขาวก็มีราคาสูงขึ้น จากกิโลกรัมละ4.86บาทเมื่อปี 2546 เป็นกิโลกรัมละ 9.29 บาทในปี 2551 สูงขึ้น 91.15% และปลายข้าวก็มีราคาสูงขึ้น จากกิโลกรัมละ 6 บาทเมื่อปี 2546 เป็นกิโลกรัมละ 13.13 บาทในปี 2551 สูงขึ้นถึง 118.83% ซึ่งเป็นไปตามภาวะราคาข้าวที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์เช่นกัน นอกจากนี้วัตถุดิบอาหารสัตว์ที่สำคัญอีกตัวหนึ่งคือกากถั่วเหลือง ที่มีราคาซื้อขายล่วงหน้าในตลาดชิคาโกพุ่งสูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 194.65 เมื่อปี 2546 เพิ่มขึ้นเป็นกิโลกรัมละ 348.01 บาทในปี 2551 สูงขึ้นถึง 78.79% แต่วัตถุดิบตัวนี้ภาคปศุสัตว์ของไทยยังต้องแบกรับภาษีนำเข้าซ้ำเติมเข้าไปอีก โดยทางสมาคมได้เรียกร้องให้รัฐบาลลดภาษีนำเข้ากากถั่วเหลืองจาก 4% เป็น 0% แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่ได้รับการพิจารณา ส่งผลให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ยังคงต้องจ่ายภาษีนี้ต่อไปอย่างไม่มีกำหนด รวมถึงการขอลดภาษีวัตถุดิบอื่นๆ ที่สามารถใช้ทดแทนกันได้ เช่น กากเมล็ดทานตะวัน กากเนื้อมะพร้าว เปลือกถั่วเหลือง ก็ยังไม่ได้รับการพิจารณาเช่นกัน
“ผมไม่ต้องการให้เกิดการผูกขาดในระบบ โดยรัฐเป็นผู้กระทำเสียเอง เพราะการควบคุมราคาอาหารสัตว์ให้จำหน่ายในราคาเดิมตั้งแต่ปี 2547 สวนทางกับภาวะราคาวัตถุดิบเช่นนี้เป็นการบิดเบือนกลไกการตลาดอย่างยิ่ง อีกทั้งภาครัฐก็ไม่ได้ดำเนินใดๆ เพื่อช่วยต่อลมหายใจให้ผู้ประกอบการเลย ถ้าปล่อยไว้เช่นนี้ไปเรื่อยๆ จะส่งผลกระทบอย่างหนักต่อผู้ประกอบการรายย่อยและรายกลางจนอาจถึงขั้นต้องเลิกกิจการจนเหลือผู้ประกอบการรายใหญ่เพียงไม่กี่รายซึ่งไม่เป็นผลดีต่ออุตสาหกรรมโดยรวม” นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยกล่าวทิ้งท้าย
สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย โทร.02-675-6263-4
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit