สถาบันอาหาร ชี้ ดาวเด่นอาหารปี 2551 Superfoods และ Superfruit

12 Mar 2008

กรุงเทพฯ--12 มี.ค.--โปรคอมมิวนิเคชั่นส์ แอนด์ คอนซัลแตนท์

สถาบันอาหารแนะผู้ประกอบการอาหารไทยปรับตัวให้ทันกระแสโลก เพิ่มส่วนผสมที่ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ เสริมสร้างสุขภาพผู้บริโภค ควบคู่คุณภาพ และมาตรฐานผลิตภัณฑ์ นักวิเคราะห์ตลาด ระบุชัด ปี 2551 ผู้บริโภคนิยมอาหารที่มีส่วนผสมพิเศษเพื่อสุขภาพ superfoods และ Superfruit มาแรง ถั่วเหลือง ,กรดไขมันโอเมก้า, โปรไบโอติก, ไฟเบอร์ ยังเป็นสินค้าดาวเด่นต่อเนื่องจากปี 2550 ผลไม้สีแดง ม่วง น้ำเงิน ที่มีสารต่อต้านอนูมูลอิสระกลุ่มไฟโตฟีนอลิก ได้รับความนิยมสูง ข้อมูลงานวิจัยหลายสำนักชี้ ผู้บริโภคในอเมริกา-ยุโรป อ่านฉลากก่อนตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เปิดเผยว่า การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมอาหารของไทยนอกเหนือจากการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ แล้ว สิ่งที่ผู้บริโภคทั่วโลกกำลังให้ความสนใจไม่ใช่แค่อาหารอีกแล้ว แต่ที่มากกว่านั้นคือ ในอาหารนั้นมีส่วนผสมอะไรบ้างที่จะให้มูลค่าเพิ่มที่เสริมสร้างสุขภาพของผู้บริโภคนอกเหนือจากโภชนาการพื้นฐาน เช่น กินแล้วช่วยเพิ่มความจำ ไม่อ้วน ไม่เกิดโรคเบาหวาน โรคหัวใจฯ แนวโน้มเหล่านี้ไม่ใช่กระแสระยะสั้นๆ เพราะมันกลายเป็นกระแสโลกที่ยังต่อเนื่องไปอีกนาน สอดคล้องกับนโยบายการป้องกันก่อนเกิดโรคของสาธารณสุขทั่วโลก ดังนั้นผู้ผลิตอาหารไทยนอกเหนือจากการพัฒนา ผลิตภัณฑ์บนพื้นฐานความคิดเดิมแล้วนั้น สิ่งที่ไม่ควรมองข้าม คือ การเพิ่มส่วนผสมที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์และทำให้สุขภาพดีขึ้นเข้าไปในสินค้าของตน นักวิเคราะห์ตลาดได้ให้มุมมองทิศทางที่จะเกิดขึ้นในปี 2551 ที่น่าสนใจใน 4 หัวข้อคือ 1. ทิศทางเปลี่ยน (Trend shift) งานวิจัยของ datamonitor ให้ข้อมูลว่า 65% ของผู้บริโภคที่พยายามจะบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้นไม่เคยสนใจที่จะลดการบริโภคอาหารลง หรือยอมรับในการบริโภคอาหารประเภทไขมัน น้ำตาล เกลืออย่างพอประมาณ สอดคล้องกับงานวิจัยของเนเธอร์แลนด์ที่ระบุว่าผู้บริโภคพยายามค้นหาอาหารที่มีส่วนผสมพิเศษ หรือ ผลไม้ต่างถิ่น ผลไม้ที่มีคุณสมบัติพิเศษ อาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ มากกว่าอาหารคุณภาพชั้นเยี่ยม ส่วนผสมใดที่ช่วยในเรื่องความจำ ผิวพรรณ ความงาม ป้องกันโรคจะได้รับความสนใจเป็นพิเศษ เรียกว่า superfoods

การขายสินค้าอาหารในอนาคตจึงไม่ใช่ขายแค่คุณภาพและมาตรฐาน สิ่งที่เหนือกว่าคือ ต้องมีมูลค่าเพิ่มต่อสุขภาพอยู่ในอาหารนั้นด้วย 2. สินค้าที่มีทิศทางเติบโตในปีที่แล้วยังแรงต่อเนื่องในปีนี้ ถือว่าเป็นส่วนผสมระดับ ดาวเด่น ได้แก่ ถั่วเหลือง ,กรดไขมันโอเมก้า, โปรไบโอติก, ไฟเบอร์ 3. สีแดง สีม่วง สีน้ำเงิน มาแรง สารต่อต้านอนูมูลอิสระกลุ่มไฟโตฟีนอลิก ที่รู้จักกันในนามของ แอนโทไซยานิน ซึ่งมาจากผลไม้ที่มีสีแดง สีม่วง และสีน้ำเงิน มีงานวิจัยของ USDA ระบุว่าส่งผลต่อการทำงานของสมอง โดยผลไม้ที่กำลังได้รับความนิยมและขนานนามว่าเป็น superfruit เช่น ทับทิม เห็นได้จากมีผลิตภัณฑ์ออกใหม่ที่มีส่วนผสมของทับทิมเพิ่มขึ้นมากกว่า 500% ในช่วง 3 ปี(2548-2550) ที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังมีผลไม้ต่างถิ่นอย่าง acai และ goji ซึ่งเป็น

ผลไม้ตระกูลเบอรร์รี่ Camu camu จากแถบอเมริกาใต้ที่ได้รับความนิยมสูงมากเช่นกัน และ 1 ใน ซูเปอร์ฟรุตนั้น ก็มี มังคุดไทย รวมอยู่ด้วย นอกจากนี้ผลไม้ที่รู้จักกันดีและมีสีแดง ม่วง และน้ำเงิน ที่ได้รับความนิยมมาก ได้แก่ มะเขือเทศ แครอต แครนเบอร์รี่ องุ่น บลูเบอร์รี่ เคอแรนต์ ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ที่แนะนำสู่ตลาดจะอยู่ในรูปเครื่องดื่ม หลังจากที่บูมมากๆ ในอเมริกาช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ขณะนี้กำลังเริ่มเข้าสู่ตลาดอังกฤษและสหภาพยุโรป ซึ่งในไทยเองก็เริ่มพบเห็นผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของผลไม้เหล่านี้เพิ่มมากขึ้นช่วงปลายปี 2550 และ 4. ผู้บริโภคอ่านฉลากเพื่อเลือกสิ่งที่ดีที่สุด ข้อมูลงานวิจัยหลายสำนัก พบว่าผู้บริโภคทั้งในอเมริกาและยุโรปจะอ่านฉลากและใช้ข้อมูลโภชนาการบนบรรจุภัณฑ์เพื่อการตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ โดยคำนึงถึง 2 ปัจจัยหลัก คือ ให้ผลดีต่อสุขภาพและสะดวกในการบริโภค โดยผู้บริโภครุ่นใหม่จะเปิดใจมากขึ้นในการ ยอมรับส่วนผสมที่มาจากแหล่งต่างๆ ที่ไม่ปกติหรือส่วนผสมที่มีนวัตกรรม หรืออาหารของต่างเชื้อชาติ ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ผู้ผลิตจะเกิดการควบคุมตนเอง โดยลดส่วนผสมที่ไม่พึงประสงค์สำหรับผู้บริโภคลง เช่น ไขมันชนิดทรานส์ เกลือ น้ำตาล ปลอดภัยจากสารเคมีตกค้าง รวมทั้งผู้กระจายสินค้าโดยตรงสู่ผู้บริโภคเช่นห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ จะนำมากำหนดเป็นกลยุทธ์ของห้าง และกำหนดเป็นเงื่อนไขบังคับที่เข้มงวดกว่ากฎหมายให้ผู้ที่ต้องการขายสินค้าทำตาม

“จากข้อมูลทิศทางตลาดโลกข้างต้น หากย้อนกลับมาดูผลิตภัณฑ์อาหารที่ไทยส่งออก สัดส่วนของการ ส่งออกอาหารแปรรูปมีประมาณร้อยละ 52 โดยประมาณ 90-95% ยังไม่มีการพัฒนาไปสู่สินค้าในลักษณะเพิ่มคุณค่าด้านสุขภาพ เรายังเป็นเพียงการแปรรูปปกติ ซึ่งผู้มีบทบาทในการเพิ่มมูลค่าอีกขั้นหนึ่งก็คือ บริษัทผู้นำเข้าเพื่อนำไปแปรรูปต่อของแต่ละประเทศ สินค้าที่อาจได้รับผลกระทบในระยะยาวสำหรับกระแสการบริโภค เพื่อสุขภาพที่เห็นได้ชัดคือ น้ำตาล แนวโน้มการบริโภคน้ำตาลของประเทศที่พัฒนาแล้วค่อนข้างทรงตัวเนื่องจากอัตราเพิ่มของประชากรต่ำ ปริมาณบริโภคต่อหัวที่ค่อนข้างสูงอยู่แล้ว และกระแสสุขภาพ แต่การเติบโตของตลาดเป็นผลจากการบริโภคเพิ่มขึ้นของประเทศกำลังพัฒนาอย่างจีน อินเดีย บราซิล เม็กซิโก เอเชีย ฯลฯ ที่ประชากรมี รายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้น ทำให้ความต้องการโดยรวมของตลาดยังเพิ่มขึ้น ดังนั้นผู้ส่งออกอาหารของไทยหากคิดจะเพิ่มมูลค่าที่เหนือกว่าและทำตลาดบนควรให้ความสนใจกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองตลาดในประเทศพัฒนาแล้วที่จะหันไปใช้สารให้ความหวานอื่นๆ ทดแทนน้ำตาลมากขึ้นด้วย แต่หากจะขายสินค้าแบบ mass ก็เน้นตลาดในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งก็จะมีคู่แข่งขันจำนวนมาก” นายยุทธศักดิ์กล่าว

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดอีกสินค้าที่ไทยมีความได้เปรียบด้านวัตถุดิบสูงแต่ยังขาดการนำนวัตกรรมเข้าไปใช้ คือ สินค้าข้าว ปัจจุบันไทยยังส่งออกในลักษณะข้าวสารเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่นวัตกรรมได้ก้าวหน้าไปถึงการผลิตสตาร์ชจากข้าว แป้งข้าว และโปรตีนจากข้าว เพื่อนำไปใช้เป็นส่วนผสมอาหารหลายชนิด เนื่องจากสรรพคุณของข้าวที่ไม่มีกลูเตนและสารภูมิแพ้ และไม่มีกลิ่นรสไปรบกวนลักษณะเด่นของอาหารอื่นๆ ที่นำไปใช้เป็นส่วนผสม แต่ช่วยเรื่องระบบการย่อย ทำให้ละลายเร็วขึ้น เพิ่มคุณลักษณะเด่นทดแทนไขมันและสารเคลือบมัน ให้ความรู้สึกของครีมที่ละเอียด ใช้เป็นสารเพิ่มความข้นหนืดฯ ในต่างประเทศนิยมนำไปใช้ในอาหารหลายชนิดเช่น อาหารสำหรับทารก ซอส น้ำเกรวี่ ซุป พุดดิ้ง อาหารเช้าแบบแท่ง ขนมขบเคี้ยว เป็นต้น สำหรับไทยซึ่งเป็น

ผู้ผลิตข้าวในลำดับต้นๆ ของโลก มีโรงงานแปรรูปสตาร์ชจากข้าวไม่ถึง 10 โรง มูลค่าส่งออก สตาร์ชจากข้าวปีละประมาณ 5.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นส่วนแบ่งประมาณ 7% ขณะที่จีน สหรัฐอเมริกา เยอรมนี มาเลเซีย กลับมีส่วนแบ่งมากกว่าไทย สำหรับโปรตีนหรือกรดอะมิโนจากข้าวนั้นแทบไม่ต้องกล่าวถึง หากเป้าหมายของไทยคือการก้าวขึ้นเป็นผู้ส่งออกอาหารชั้นนำของโลก ทิศทางเหล่านี้ไม่ควรถูกมองข้าม เพราะเรามีความพร้อมเรื่องวัตถุดิบ ขาดก็แต่การนำมาใช้ให้คุ้มค่า และความเร็วในการแข่งขัน ซึ่งความเร็วจะเกิดขึ้นได้ต้องมาจากทุกฝ่ายร่วมมือกันอย่างเข้มแข็ง

รายละเอียดเพิ่มเติม : บริษัท โปรคอมมิวนิเคชั่นส์ แอนด์ คอนซัลแตนท์ จำกัด

สุขกมล งามสม โทรศัพท์ 0 89484 9894, 0 2691 6302-4, 0 2274 4961-2

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net