กรุงเทพฯ--21 มี.ค.--กระทรวงพลังงาน
วันนี้ (21 มีนาคม 2551) พลโทหญิง พูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เป็นประธานในพิธีขนานเครื่องโรงไฟฟ้าจะนะ เข้าสู่ระบบการจ่ายไฟฟ้า โดยมีนายสมบัติ ศานติจารี ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ให้การต้อนรับ และมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชนที่เกี่ยวข้อง สื่อมวลชน ตลอดจนประชาชนชาว จ. สงขลา ที่ร่วมกันเป็นสักขีพยานในงานพิธี
พลโทหญิง พูนภิรมย์ฯ กล่าวว่า โรงไฟฟ้าจะนะแห่งนี้ เป็นโรงไฟฟ้าแห่งแรกที่ใช้เชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติ ที่ได้จากแหล่งพื้นที่พัฒนาร่วมไทย – มาเลเซีย (Malaysia – Thailand Joint Development Area : JDA) เพื่อเป็นการเสริมความมั่นคงในระบบไฟฟ้าในภาคใต้ พร้อมรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ นับเป็นโรงไฟฟ้าต้นแบบที่ได้นำกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนมาใช้ทั้งก่อนก่อสร้าง ระหว่างก่อสร้าง และก่อสร้างแล้วเสร็จ โดยได้รับฟังข้อวิตกกังวลของชุมชน นำมาพิจารณาการออกแบบโรงไฟฟ้า เพื่อลดผลกระทบที่อาจมีต่อสิ่งแวดล้อม และให้สอดคล้องกับความต้องการและวิถีชีวิตชุมชนมากที่สุด
นอกจากนี้ เมื่อโรงไฟฟ้าจะนะ ได้เข้าระบบไฟฟ้าเชิงพาณิชย์แล้ว ชุมชนจะได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิต และดูแลสิ่งแวดล้อมต่อเนื่อง ในรูปแบบของกองทุนพัฒนาชุมชนพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า ทั้งนี้เพื่อให้การพัฒนาชุมชนบริเวณรอบโรงไฟฟ้า ดำเนินไปด้วยความต่อเนื่อง รวมทั้งจะเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนรอบโรงไฟฟ้าให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดย กฟผ. ได้ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพที่เหมาะสมกับความต้องการของชุมชน และตรงกับวัตถุดิบของชุมชนในท้องถิ่น สามารถประกอบอาชีพได้อย่างยั่งยืน
นายสมบัติ ศานติจารี ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า โรงไฟฟ้าจะนะ เป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม ขนาดกำลังผลิตติดตั้ง 731 เมกะวัตต์ ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงในอัตราสูงสุด 130 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ใช้เงินลงทุนประมาณ 16,900 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วย เครื่องผลิตไฟฟ้ากังหันแก๊ส จำนวน 2 เครื่อง เครื่องผลิตไอน้ำจำนวน 2 เครื่อง และเครื่องผลิตไฟฟ้ากังหันไอน้ำ จำนวน 1 เครื่อง สำหรับการผลิตไฟฟ้าเพื่อให้ทันต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้
ปัจจุบัน กฟผ. ได้ให้การสนับสนุนชุมชนอย่างเป็นรูปธรรมแล้วหลายโครงการ เช่น การพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคม ปีละ 5.1 ล้านบาท โดยสนับสนุนตามความต้องการของชุมชน การอนุรักษ์และส่งเสริมอาชีพประมง ปีละ 700,000 บาท รวมถึงบริจาคเงินก่อตั้งมูลนิธิประมงคลองนาทับ 20 ล้านบาท เพื่อให้เป็นหลักประกันว่าคลองนาทับจะไม่เกิดผลกระทบ ด้านน้ำ เนื่องจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า ด้านการศึกษาได้มอบทุนการศึกษาปีละ 352,000 บาท โครงการห้องเรียน สีเขียว พัฒนาด้านคุณภาพชีวิตชุมชน เช่น การปลูกป่าชายเลน จำนวน 200 ไร่ โครงการแว่นแก้ว ออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ค่ายเยาวชน กฟผ. อีกทั้งมอบทุนเพื่อสนับสนุนการสร้างห้องผ่าตัดผู้ป่วยฉุกเฉิน และหออภิบาลผู้ป่วยวิกฤตให้โรงพยาบาลสงขลานครินทร์จำนวน 150 ล้านบาท
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit