กรุงเทพฯ--27 ก.ย.--สสส.
มูลนิธิหมอชาวบ้าน ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีเสวนาเรื่อง “ก้นกรองแค่ซองเดียว” ขึ้น ณ มูลนิธิหมอชาวบ้าน เพื่อเปิดเวทีให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง ผู้สนใจ และสื่อมวลชนได้มาร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น และประสบการณ์ด้านยาสูบ
ที่ผ่านมาแม้สังคมไทยจะตื่นตัวกับปัญหาพิษภัยที่เกิดจากบุหรี่ มีการรณรงค์ และประชาสัมพันธ์กันมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีมาตรการออกกฎหมายในการควบคุมการบริโภคยาสูบมาหลายฉบับ ทั้งการห้ามตั้งแสดงสินค้าบนชั้นจำหน่าย การห้ามสูบบุหรี่ในสถานที่ราชการ จนมาถึงสถานที่สาธารณะ แต่ก็ยังมีผู้ที่ได้รับผลกระทบจากบุหรี่อีกหลายอาชีพที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงพิษภัยจากบุหรี่ได้
นายแพทย์ชูชัย ศุภวงศ์ ผู้เขียนกรณีศึกษา : สองทศวรรษการควบคุมการบริโภคยาสูบ (พ.ศ.๒๕๒๙ – ๒๕๔๙) หัวข้อสำคัญหนึ่งในโครงการจัดทำเอกสารวิชาการเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพ ได้ชี้ช่องในการทำงานเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพ หากจะให้สำเร็จต้องอาศัยประชาชนโดยการทำงานเป็นเครือข่ายเชื่อมโยงซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก พร้อมทั้งแนะการใช้มาตรา ๔๔ ในรัฐธรรมนูญมาสนับสนุนคุ้มครองกลุ่มเสี่ยงซึ่งเป็นคนทำงานในผับบาร์และแหล่งบันเทิงยามค่ำคืนให้ปลอดภัยจากควันบุหรี่มือสอง
ขณะเดียวกันฝ่ายที่ทำงานบำบัดผู้สูบบุหรี่โดยตรง อย่างสถาบันธัญญารักษ์ได้เปิดเผยตัวเลขที่น่าตกใจของนักเรียนช่วงอายุ ๑๑-๑๙ ปีที่ถูกส่งตัวเข้าบำบัดการสูบบุหรี่ในปี ๒๕๔๙ ว่ามีมากถึง ๕๗% ของจำนวนผู้เข้ารับการบำบัดทั้งหมดกว่า ๕๐๐ คน จึงจำเป็นที่จะต้องหามาตราป้องกันและควบคุมอย่างเร่งด่วน โดยจะต้องเน้นมาตรการที่โรงเรียนเป็นหลัก เพราะวัยนี้เป็นวัยที่เชื่อเพื่อน ตามเพื่อน อยากริอยากลอง และชอบจับกลุ่มไปแอบสูบบุหรี่กันในห้องน้ำหรือตามมุมตึกอาคารเรียน แม้ตอนนี้เรื่องบุหรี่จะถูกบรรจุไว้ในหลักสูตรการเรียนการสอนของกระทรวงศึกษาธิการแล้ว แต่ก็เป็นแค่วิชาเลือกเพียง ๑ หน่วยกิตที่ยังไม่ค่อยได้รับความสนใจจากครูอาจารย์เท่าที่ควร นอกจากนี้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เป็นดาบสองคมอย่างอินเตอร์เน็ตยังเป็นสื่อที่ชักนำเยาวชนไปสู่การสูบบุหรี่ได้โดยที่พ่อแม่-ผู้ปกครองไม่ทันระวัง
ความจริงที่เราต้องตระหนักก็คือ บุหรี่เป็นประตูไปสู่ยาเสพติดชนิดอื่น
ดังนั้น หากจะควบคุมและแก้ปัญหายาเสพติดที่จ้องเขมือบอนาคตของชาติ เราจะต้องหามุขเด็ดเผด็จบุหรี่ก่อนที่จะถึงปากเยาวชน
แต่ก็ใช่ว่าจะมุ่งตรงพุ่งเป้าไปที่บุหรี่แต่เพียงอย่างเดียว เพราะล่าสุดโจ๋ไทยหันมาเล่นบารากุ (การเสพควันระเหยของยาเส้นที่ผ่านความร้อนจากการต้มน้ำในอุปกรณ์ที่เป็นแก้วทรงสูง สามารถเสพพร้อมๆ กันได้ ๓-๔ คน) กันไม่น้อย ซึ่งจะสามารถใช้กฎหมายจับกุมเอาผิดได้หรือไม่นั้นไม่แน่ใจ แต่สำคัญที่มาตรการบำบัดและป้องกันที่จะทำให้พวกเขาเลิกยุ่งเกี่ยวกับยาสูบเหล่านี้
วงเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความคิดเห็นในเรื่องนี้กันอย่างออกรส ก่อนจะสรุปปิดท้ายอย่างเห็นพ้องต้องกันว่าการต่อสู้เพื่อสร้างเสริมสุขภาวะท่ามกลางควันโขมงของยาสูบนั้นคงไม่มีวันจบ เพราะบริษัทผู้ผลิตบุหรี่คงไม่วันยอมสยบให้กับนักรณรงค์ต่อต้านการสูบบุหรี่ ทีนี้ก็เป็นหน้าที่ของเราทุกคนล่ะ ที่จะต้องรู้ให้เท่าทันกลยุทธ์เจาะตลาดของผู้ค้าบุหรี่ที่ปรับเปลี่ยนรูป รส กลิ่น สี และทุ่มเงินทำกิจกรรมเพื่อสังคมตามโรงเรียนในชนบท
หากแต่ว่าเมื่อรู้เท่าทันเล่ห์กลคนเผาชีวิตพวกนี้แล้ว เราจะเดินหมากแก้เกมอย่างไรที่จะไม่ให้ “ก้นกรองแค่ซองเดียว” มาก่อมะเร็งร้ายในสังคมไทยอย่างที่แล้วมา
รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
อ้อม - อารดา สุคนธสิทธิ์
081-402-2050
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit