กรุงเทพฯ--25 ก.ย.--สช.
มูลนิธิหมอชาวบ้าน ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเสวนา “ก้นกรองแค่ซองเดียว” ขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ ๒๑ กันยายนที่ผ่านมา ณ มูลนิธิหมอชาวบ้าน
รศ.ดร.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ นำวงเสวนาเปิดประเด็นสิ่งที่ได้มาและเสียไปจากยาสูบ สรุปบทเรียนจากการรณรงค์ต่อต้านการสูบบุหรี่ที่ผ่านมากว่า ๒๐ ปี แม้ภาครัฐจะใช้ภาษีเป็นมาตรการในการควบคุมผู้สูบบุหรี่ โดยการเก็บภาษีเพิ่มขึ้นทำให้ราคาขายของบุหรี่สูงขึ้นเพื่อให้คนซื้อบุหรี่มาสูบน้อยลง ขณะที่บุหรี่ยี่ห้อเดิมที่ผลิตอยู่นั้นถูกเรียกเก็บภาษีเพิ่มขึ้นจนเต็มเพดานภาษีตามที่รัฐกำหนดจนไม่สามารถลดราคาลงได้ แต่บริษัทผู้ผลิตบุหรี่สามารถรับมือกับปัญหานี้ได้อย่างง่ายดายด้วยการผลิตบุหรี่ยี่ห้อใหม่ขึ้นมาตีตลาดในราคาที่ถูกกว่าเพราะเสียภาษีแค่ในอัตราเริ่มต้น อีกทั้งยังมีการย้ายโรงงานผลิตเขยิบเข้าใกล้ไทยมากขึ้นโดยมาตั้งโรงงานผลิตอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านเพื่อลดภาษีขาเข้าที่ถูกเรียกเก็บสูงถึง ๖๐% ลดลงเหลือเพียง ๕% และยังขยายกลุ่มเป้าหมายไปที่สตรีและเยาวชนเพิ่มขึ้น โดยปรุงแต่งรูป รส กลิ่น สีให้โดนใจกลุ่มเป้าหมายใหม่ และใช้กลยุทธ์ทางการตลาดรุกเข้าไปให้เงินสนับสนุนกิจกรรมสังคมด้านต่างๆ อย่างเช่น การให้งบประมาณสนับสนุนแก่โรงเรียนในต่างจังหวัด การจัดทัศนศึกษาให้ความรู้เรื่องการปลูกป่าและสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ทางร้านค้าขายปลีกยังใช้วิธีแบ่งขายให้ลูกค้าซื้อหามะเร็งมาใส่ปอดได้สะดวกขึ้นด้วย เงินภาษีจากบุหรี่ที่รัฐได้ ๓๕,๐๐๐ ล้านบาทต่อปี ยังไม่มีงานวิเคราะห์วิจัยเปรียบเทียบกับค่าดูแลรักษาผู้ป่วยจากการสูบบุหรี่ว่าคุ้มค่ากับสิ่งที่เสียไปเพียงใด
ความไม่ชัดเจนในการจัดเก็บภาษีบุหรี่ที่ประชาชนยังสงสัย ว่าเก็บภาษีเพื่อควบคุมคนสูบบุหรี่ หรือเก็บเพื่อต้องการเงินภาษีเข้ารัฐกันแน่ แม้จะมีการนำภาษีส่วนหนึ่งที่ได้จากบุหรี่ไปจัดตั้งเป็นกองทุนดำเนินงานภายใต้ชื่อสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อรณรงค์สร้างเสริมสุขภาพที่ดีให้เกิดขึ้นในสังคมไทย แต่หลายคนยังสงสัยว่าจะมีประโยชน์อะไรในเมื่อรัฐยังเปิดดำเนินการโรงานยาสูบอยู่ ถ้าอยากให้ประชาชนมีสุขภาพดีโดยไม่สูบบุหรี่ ทำไมจึงไม่ปิดโรงงานยาสูบ
ผศ.ดร.ลักขณา เติมศิริกุลชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมการบริโภคยาสูบ (ศจย.) กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า “๓๕,๐๐๐ ล้านบาทจากภาษีบุหรี่ที่รัฐจัดเก็บได้ อาจจะดูว่ามาก แต่ความจริงมันแค่ ๓% เท่านั้นเอง แต่ถ้าเราจะปิดโรงงานยาสูบ ผลกระทบที่เป็นปัญหามากกว่าเรื่องภาษีก็คือคนสูบบุหรี่ในประเทศไทยซึ่งมีอยู่ประมาณ ๑๐ ล้านคน ลองนึกดูว่าถ้าคน ๑๐ ล้านคนมาชุมนุมประท้วงจะเกิดอะไรขึ้น ตรงนี้ต่างหากที่จะต้องคิดและวางแผนให้ดี และจะทำยังไงที่ฝ่ายสาธารณสุขจะดูแลคนกลุ่มนี้ได้อย่างทั่วถึงและทำให้จำนวนผู้สูบลดลง”
ขณะที่ ดร.ชลธาร วิศรุตวงศ์ ผู้อำนวยการส่วนวิเคราะห์รายการภาษี กรมสรรพากร ในฐานะผู้วิจัยงานจัดเก็บภาษียาสูบ มองถึงผลกระทบเพิ่มเติมในเรื่องนี้ว่า “รัฐเองก็ต้องมีการวางแผนว่าจะหาเงินภาษีจากไหนมาทดแทนในส่วนนี้ ถ้าเลิกผลิตบุหรี่ ทั้งคนงานในโรงงาน เกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบ และผู้ที่มีอาชีพเกี่ยวข้องก็ได้รับผลกระทบด้วยไม่เฉพาะคนสูบบุหรี่ ๑๐ ล้านคนเท่านั้น ซึ่งในต่างประเทศเขามีการหาอาชีพทดแทนให้”
ผศ.ดร.มณฑา เก่งการพานิช รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมการบริโภคยาสูบ (ศจย.) กล่าวเสริมว่า “เราทุ่มเงินเยอะมากในการทำงาน การรณรงค์ต่างๆ แต่อัตราการสูบลดลงน้อยมาก จึงเป็นประเด็นว่าเราทำงานสำเร็จจริงหรือเปล่า และถ้าหากปิดโรงงานยาสูบในประเทศแล้ว เราจะป้องกันบุหรี่ต่างประเทศไม่ให้ทะลักเข้ามาได้ไหม”
ซึ่งในเรื่องนี้ นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ ที่ปรึกษาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ผู้เขียนกรณีศึกษา : สองทศวรรษการควบคุมการบริโภคยาสูบ (พ.ศ.๒๕๒๙ – ๒๕๔๙) หนึ่งในหัวข้อสำคัญในโครงการจัดทำเอกสารวิชาการเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพ ให้ความเห็นโดยสรุปว่า “ที่ผ่านมาเรามีแนวทางการรณรงค์ที่ดีแล้ว คือไม่กีดกันผู้สูบบุหรี่ ทำให้ได้แนวร่วมในการรณรงค์ แต่ในการที่จะทำงานด้านสร้างเสริมสุขภาพนั้นจะต้องใช้มาตรการต่างๆ ให้ครบถ้วน แค่ให้ความรู้ให้การศึกษายังไม่พอ จะต้องมีกลวิธีอื่นมาใช้ควบคู่ไปด้วย ต้องมีการวางกลไกการทำงาน และที่สำคัญคือเครือข่าย เราชนะบุหรี่ได้ด้วยการใช้เครือข่ายประชาชน ใช้เสียงของประชาชน ดังนั้นการทำงานเป็นเครือข่ายเชื่อมโยงจึงเป็นสิ่งสำคัญ”
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
อ้อม - อารดา สุคนธสิทธิ์
081-402-2050
[email protected], [email protected]
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit