กรุงเทพฯ--1 ต.ค.--แผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ
“เครือข่ายผู้ประสานงานเพื่อการให้บริการสุขภาพด้วยหัวใจ” แผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์
แผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ “ค้นคนดี” ในแวดวงสาธารณสุขเชื่อม 11 เครือข่ายนำเสนอ 1 เรื่องในดวงใจ การให้บริการด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ หวังสร้างพลังคนทำงานขับเคลื่อนระบบการให้บริการสุขภาพที่มากกว่าการรักษาโรค
เมื่อเร็ว ๆ นี้ แผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวที “เครือข่ายผู้ประสานงานเพื่อการให้บริการสุขภาพด้วยหัวใจ” เพื่อส่งเสริมให้มีการพัฒนาระบบบริการสุขภาพที่มุ่งเน้นใส่ใจในความเป็นมนุษย์ที่เป็นองค์รวม มากกว่าการมุ่งรักษาเฉพาะอาการหรืออวัยวะอย่างแยกส่วน โดยมีผู้ประสานงาน HHC ในจังหวัดต่างๆ รวม 11 จังหวัด คือ จันทบุรี เชียงราย นครราชสีมา นครสวรรค์ น่าน พะเยา พิษณุโลก ลำปาง ศรีสะเกษ สงขลา และหนองบัวลำภู ได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ดำเนินงานการให้บริการสุขภาพด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ และร่วมกันจับมือเป็นเครือข่ายกลับไปขยายผลเฟ้นหา “คนทำดี” ปฏิบัติหน้าที่ด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ ร่วมกันดำเนินการพัฒนาระบบบริการสุขภาพที่มุ่งเน้นและใส่ใจในความเป็นมนุษย์เพื่อสังคมไทย
ทั้งนี้ผู้ประสานงานแต่ละจังหวัดได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ประทับใจ “1 เรื่องในดวงใจ” ที่ให้บริการด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ อาทิ รพ.ศรีบุญเรือง โดยนพ.สุทิน คำมณีจันทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีบุญเรือง จังหวัดหนองบัวลำภู เล่าเรื่องการดูแลผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย “สถานพยาบาลใกล้บ้านใกล้ใจ” ซึ่งเริ่มจากการทำงานประจำให้เป็นงานคุณภาพ และดูว่าคนไข้มาพบแพทย์ด้วยโรคอะไร และพบว่า ในภาคอีสานเป็นมะเร็งตับกันเยอะ และส่วนใหญ่ได้รับการวินิจฉัยแล้วว่ารักษาไม่หาย ซึ่งคนไข้ส่วนหนึ่งขอกลับมารักษาที่บ้านกับโรงพยาบาลใกล้บ้าน และนอกจากมะเร็งตับก็ยังมีมะเร็งอื่น ๆ จึงเกิดเป็นการดูแลทุกมะเร็งซึ่งน่าจะดีกว่า ปัญหาที่พบบ่อยคือเรื่องความเจ็บปวดของผู้ป่วย ซึ่งต้องการการรักษาแบบองค์รวม
นพ.สุทิน บอกว่า ความรู้สึกของคนทำงานเริ่มจากทำโดยบังคับ ทำไปทำมาก็สอดคล้องกับประสบการณ์ตนเองที่แม่เสียชีวิตด้วยมะเร็งตับเหมือนกัน กรณีที่ประทับใจเป็นผู้ชายเป็นมะเร็งตับมารักษาอยู่ที่บ้านเพราะเป็นระยะสุดท้าย ที่จากเดิมเป็นคนไข้ที่หมดหวังรอวันตาย นั่ง ยืน เดินไม่ได้ ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ แต่ด้วยการดูแลแบบองค์รวมทั้งหมอ พยาบาล และครอบครัวที่เข้าใจและช่วยกันอย่างจริงใจ จนผู้ป่วยสามารถกลับมานั่ง ยืน และเดินได้ ความรู้สึกประทับใจคือเราสามารถยืดอายุคนไข้ได้อีก 3 เดือน โดยมีสุขภาพจิตดี “เราก็ช่วยได้บ้างในจุดที่คิดว่าทำได้ดีที่สุด ญาติก็รู้สึกดี”
นางชลัทธร อัญญาเนาวรัตน์ หัวหน้างานส่งเสริมสุขภาพ รพ.แม่ใจ จ.พะเยา เล่าถึงการทำงานด้วยใจความเป็นมนุษย์ว่าเป็นการบูรณาการเข้ากับงานทุกแผนก ในการทำงานการใส่ใจและติดตามเอาใจใส่ผู้ป่วยไม่เฉพาะเรื่องอาการความเจ็บป่วยทางการแต่ยังสามารถช่วยรักษาอาการทางใจของเขาด้วย ซึ่งที่พะเยามีหลายกรณีที่การใส่ใจด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์นำไปสู่การแก้ไขปัญหาเรื่องอื่น ๆ
ผู้ประสานงานจากจังหวัดนครสวรรค์ นำเสนอความโดดเด่นของกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อนของกลุ่มผู้ป่วยเบาหวานและโรคความดัน ที่ผู้ป่วยแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันเกี่ยวกับเทคนิควิธีการแก้ไขปัญหา ทุเลาอาการของโรค เช่น วิธีการคุมความดัน คุมน้ำตาล เป็นการถอดและดึงความรู้ในตัวคนมาสู่ความรู้ที่คนอื่นเอาไปใช้ได้และเขารู้สึกดีและมีคุณค่าในการได้ใช้ความรู้ในตัวช่วยเหลือผู้อื่น
นายสถิต สายแก้ว รพ.ราศีไสล จังหวัดศรีษะเกษ เล่าว่า การทำงานในปัจจุบันต้องทำทั้งในระบบและนอกระบบ แผนการขยายเครือข่ายเน้นจิตอาสา งานบริการด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์นั้น ต้องดึงตัวอย่างดี ๆ ให้กำลังใจคนทำงาน ไม่อยากให้เขารู้สึกว่าทำงานแล้วไม่มีใครเห็นคุณค่า ดร.สง่า อินทะจักร ผู้ประสานงานแผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ กล่าวว่า เรื่องเล่าความประทับใจจากการงานให้บริการด้วยหัวใจเหล่านี้คือการให้กำลังใจซึ่งกันและกัน และจะทำให้เกิดการติดตามค้นหาคนทำดีแล้วนำเรื่องราวมานำเสนอเพื่อให้เกิด “พอใจ ไว้ใจ และเกรงใจ” เกิดความเป็น “พวกเรา” ขึ้นมา และหากสามารถทำให้เกิดเป็นเครือข่ายการให้บริการด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ ซึ่งในครั้งนี้ก็เห็นแล้วว่าในทุกระดับของคนสาธารณสุขสามารถทำได้ และไม่ใช่การทำงานใหม่เพียงแต่ให้ความ
สำคัญกับคำว่าการทำงานด้วยหัวใจทำให้ดีที่สุด มีตัวอย่างให้เห็นหลายแห่ง อย่างเช่น พะเยา เชียงราย ซึ่งพบว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้ให้บริการด้วยโรคที่เห็นเฉพาะหน้า แต่ให้บริการที่ลึกลงไปถึงชุมชน ปัญหาของครอบครัวนั้น ๆ ด้วย ก็เลยเกิดการแก้ไขที่ต้นตอของปัญหา สามารถให้บริการผู้ป่วยที่ทุกทรมานมาเป็นสิบๆปีให้กลับสู่สังคมได้
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit