กรุงเทพฯ--12 ต.ค.--แผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์
“จิตอาสา” ไม่ใช่แฟชั่น กลุ่มนวัตกรรมเยาวชนเพื่อสังคม (YIY) ภายใต้การสนับสนุนจากแผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ (มสส.) ร่วมกับ ASHOKA และ ITEM จัดค่ายพัฒนาศักยภาพผู้นำเยาวชนอาสาสมัคร เพื่อสร้างการเรียนรู้เติมเต็มนอกห้องเรียน เป็นประสบการณ์ทำกิจกรรมดีๆ เพื่อสังคมไทย โดยมีนักศึกษาสมัครเข้าร่วมกว่า 30 คน ณ สาลีวิว รีสอร์ท อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี
ค่ายผู้นำเยาวชนจิตอาสาคือกระบวนการเรียนรู้นอกห้องเรียนของเยาวชนโดยผ่านการทำกิจกรรมอาสาสมัครช่วยเหลืองานชุมชนที่ชุมชนต้องการ โดยมีการแบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ กลุ่มย้ายบ่อปลา กลุ่มสร้างโรงเรือน สนามเด็กเล่น ทำความสะอาดวัดและเรียนรู้เรื่องการทำแชมพูและน้ำยาซักผ้าจากภูมิปัญญา
หลังจากได้เรียนรู้และทำกิจกรรมนี้แล้ว “ปอม” “ทร” และ “ฝน” เป็นตัวแทนสะท้อนความรู้สึกและสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ โดย “ปอม” หรือ นายขวัญชาย ดำรงขวัญ นักศึกษาชั้นปี 3 คณะมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง วัย 21 ปี กล่าวว่า การเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยเปิดทำให้มีเวลากับตัวเองมากขึ้นและคิดว่า การเข้าร่วมกิจกรรมค่ายลักษณะนี้จะเป็นการพัฒนาศักยภาพของตนเอง และเป็นการเปิดโอกาสให้กับตนเองโดยเฉพาะในการสมัครทำงานในอนาคต การเข้าค่ายอยู่ร่วมกัน ทำกิจกรรมร่วมกัน โดยที่ทุกคนมีสิทธิเต็มที่ในการทำและแสดงความคิดเห็น มีบทบาทเท่ากัน ประโยชน์มาก ๆ ที่ได้กับตัวเองจากค่ายนี้คือเรียนรู้การอยู่ร่วมกับคนอื่น เรียนรู้ความแตกต่างของแต่ละคน และไม่ตัดสินคนเพียงเพราะไม่ถูกชะตา แต่รู้จักที่จะเรียนรู้ในตัวเขาก่อน เพราะทุกคนก็มีข้อดีข้อด้อยให้เราได้เก็บมาใช้พัฒนาตนเองได้
“ปอม” ให้ทัศนคติกับคำว่า “จิตอาสา” ที่มองว่าแม้จะเป็นกระแสแต่ในมุมของ “ปอม” กลับคิดว่าจิตอาสาอยู่ที่ใจ ถ้าใจเราคิดจะช่วยต่อให้เราไม่มีเรี่ยวแรงอย่างไรก็ยังมีเรื่องอื่นให้ช่วยมากกว่าการออกแรง เมื่อชุมชนมีปัญหาเราต้องไปร่วมให้ความช่วยเหลือไม่ใช่แค่ตามกระแส ที่สำคัญจิตอาสาคือการเสียสละ ทำให้เข้าถึงคำว่าจิตอาสาได้ง่ายขึ้นและสามารถนำไปต่อยอดกับคนที่อยู่ใกล้ตัว เช่น ครอบครัว โรงเรียน ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ดี
ในขณะที่ “ทร” หรือ นายอาณัติทร ภักดีเจริญกุล อายุ 20 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) มีประสบการณ์ทำกิจกรรมสำหรับนักศึกษามาก่อน แต่คิดว่าตนเองยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร และมีข้อบกพร่องหลายอย่าง ทั้งการเป็นผู้นำและวิธีการประสานงานที่ยังไม่เป็นระบบ เอาความคิดของตนเองเป็นใหญ่ จึงอยากมาฝึกฝนตัวเองใหม่ในค่ายนี้
“ทร” เล่าว่า “กิจกรรมที่กลุ่มได้รับมอบหมายในครั้งนี้คือการย้ายบ่อปลาให้คุณยายที่อายุมากและใครครอบครัวก็มีแต่ผู้หญิง “ทร” บอกว่าครั้งแรกที่ทำกิจกรรมหลายคนทำเพราะความสนุกโดยไม่มีการคุยกันก่อนใครอยากทำอะไรก็ทำ แต่เมื่อทำไปเรื่อยๆ จะพบว่ามีบางอย่างติดขัด หน้าที่มันจะขัดกันเอง ตอนหลังได้มีการปรับแผนกันใหม่ ฝ่ายเตรียมบ่อปลาก็เตรียมไป ฝ่ายเคลียร์บ่อเก่าก็ทำไป สุดท้ายมาร่วมกันปล่อยปลาลงบ่อที่ช่วยกันทำ เกิดความรู้สึกดี ถึงแม้จะแยกกันทำงาน สุดท้ายก็ได้มาปล่อยปลาร่วมกัน เกิดความรู้สึกภาคภูมิใจร่วมกัน”
“ทร” ยังบอกว่าหลังจากนี้จะนำประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้ในครั้งนี้ โดยเฉพาะเรื่องค่านิยมที่ดีไปถ่ายทอดรุ่นพี่และรุ่นน้องสามารถทำงานร่วมกันได้พร้อมกับเรียนรู้ไปด้วยกัน งานด้านจิตอาสาไม่สามารถบังคับกันได้แต่สามารถปลูกฝังกันได้ คำว่าอาสาต้องมาจากใจ...ใจที่ อยากเห็นสังคมดีขึ้น แต่เราทำคนเดียวไม่ได้ ต้องอาศัยทีมงานที่มีอุดมการณ์เดียวกัน
ส่วน “ฝน” นางสาวสายฝน สายสุวรรณ นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต อายุ 19 ปี ที่ไม่เคยมีประสบการณ์เข้าค่ายอาสามาก่อน บอกว่า ต้องการมาฝึกฝนและเพิ่มศักยภาพด้านความเป็นผู้นำของตนเอง และไม่ผิดหวังเพราะนอกจากได้เรียนรู้สิ่งที่ต้องการ ยังได้แรงบันดาลใจที่จะกลับไปทำโครงการเรียนรู้ลักษณะนี้กับเพื่อนร่วมสถาบัน เช่น การออกนอกพื้นที่เพื่อตรวจวัดสุขภาพชาวบ้าน การให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัวต่างๆ เป็นการใช้ความรู้ที่เรามีอยู่ให้เป็นประโยชน์ต่อคนทั่วไป สิ่งที่ได้รับจากการเข้าค่ายคือการได้เรียนรู้การทำงานจริงในพื้นที่ รวมทั้งเรื่องของทฤษฏี กระบวนการคิด การเป็นผู้นำ
“ฝน” บอกว่าการใช้ชีวิตร่วมกันท่ามกลางความหลากหลายของเพื่อนร่วมค่ายที่มาจากจังหวัดต่าง ๆ นั้น “ฝน” ได้รู้จักกับเพื่อนร่วมค่ายคือ “ยา” ซึ่งเป็นชาวไทยมุสลิมมาจากภาคใต้ ตอนแรกค่อนข้างวางตัวลำบาก รู้สึกเกร็งว่าสิ่งที่เราทำจะเป็นการผิดหลักศาสนาหรือเปล่า และเราจะทำอย่างไรจึงจะรู้จักเค้ามากกว่านี้ ขณะเดียวกันก็รู้สึกได้ว่า “ยา” ก็พยายามปรับตัวไม่อยากให้เพื่อนลำบาก เพราะสุดท้ายก็คิดได้ว่าทุกคนก็คือเพื่อนร่วมค่ายที่มาเข้าค่ายนี้ด้วยใจอาสา อยากมาหาประสบการณ์ชีวิตเหมือนกันทุกคนต่างเปิดใจ และได้การเรียนรู้วัฒนธรรมซึ่งกันและกัน สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่ตนเองได้เรียนรู้ แต่ยังเป็นการสร้างสัมพันธ์ระหว่างแกนนำเยาวชน ซึ่งมาจากต่างพื้นที่ เพศ วัยและศาสนา เช่น จากจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดสงขลา และจังหวัดยะลา ทำให้เกิดการปรับตัวเองและได้เรียนรู้ซึ่งกัน ทุกคนมาด้วยใจเปิดพร้อมที่จะแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับเพื่อนร่วมค่าย และสานสัมพันธ์กันต่อไป เป็นการสร้างวัฒนธรรมการทำงานร่วมกันด้วยจิตอาสาไปขยายผลต่อไปในสถาบันการศึกษาของตนเอง หรือกิจกรรมที่ตนเองริเริ่มต่อไป
สิ่งเหล่านี้คือภาพสะท้อนของกระบวนการสร้างเยาวชนที่เริ่มด้วยความมี “ใจ” อยากจะช่วยเหลือคนอื่น จึงอาสาเข้ามาทำกิจกรรมที่ไม่ใช่แค่ความสนุกหรือการได้เพื่อนใหม่ แต่สอดแทรกกระบวนการคิดอย่างลึกซึ้งต่อการทำงานอาสาสมัคร ที่ไม่ใช่แค่เรื่องของการทำตามกระแส ซึ่งแกนนำเยาวชนจิตอาสาเหล่านี้จะนำไปขยายผลต่อ และแทรกลงไปถึงการเรียนรู้ในหลักสูตรการเรียนการสอนของสถาบันการศึกษา เพื่อสร้างเยาวชนของชาติที่ดีพร้อมต่อไป.
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit