กรุงเทพฯ--9 ต.ค.--มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์
ความป่วยไข้ ใครก็เป็นกันได้ แต่ไม่น่าเชื่อว่า “น้าเสน่ห์” ชายวัย 50 ปีเศษที่ผมหวีผมเรียบ เนื้อตัวสะอาด แต่งกายเรียบร้อย พร้อมรอยยิ้มฉาบบนใบหน้า กับ “สุชาติ” ชายหนุ่มวัยกว่า 30 ปี ท่าทางเรียบร้อยและพูดน้อย จะเคยเป็นผู้ป่วยภาวะทางจิตที่จำไม่ได้แม้แต่ตัวเอง กลายเป็นภาระของครอบครัวและชุมชน แต่ผู้ชายสองคนในวันนี้มีความแข็งแรงและมีชีวิตเช่นเดียวกับสมาชิกชุมชนคนอื่น ๆ เช่น ดูแลตนเองได้ ทำงานได้ ช่วยงานชุมชนได้ตามสมควร
เป็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในช่วงกว่า 1 ปีที่ผ่านมา จากหลายเหตุปัจจัยที่ผสานให้เกิดการปฏิบัติเพื่อ ฟื้นฟูและคืนชีวิตใหม่ให้กับผู้ป่วย เกิดเป็นเครือข่ายการดูแลสุขภาพที่เชื่อมโยงจากโรงพยาบาลสู่ชุมชน และจากชุมชนสู่โรงพยาบาล โดยมีผู้เกี่ยวข้องประกอบด้วย ครอบครัว ชุมชน และโรงพยาบาล ที่บุคคลในทั้งสามกลุ่มนี้มีความตั้งใจจริงและแสดงออกถึง “น้ำใจ”ในการปฏิบัติเพื่ออยากเห็นคนที่ตนรัก สมาชิกชุมชน และคนป่วยของหมอหายกลับมาเป็นปกติอีกครั้ง
“ปัจจุบันผู้ป่วยภาวะจิตเข้าถึงการรักษามากขึ้น ไม่ถูกเก็บอยู่ในบ้าน และมีการดูแลต่อเนื่องที่ดีจากคนในครอบครัวและชุมชน โดยมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเป็นพี่เลี้ยง” นางชลัทธร อัญญาเนาวรัตน์ หัวหน้างานส่งเสริมสุขภาพ โรงพยาบาลแม่ใจ จ.พะเยา กล่าวและว่าผู้ป่วยหลายรายเป็นการค้นพบจากการที่คนดูแลซึ่งอาจเป็นพ่อแม่หรือญาติป่วยไปหาหมอที่โรงพยาบาลแล้วเจ้าหน้าที่สอบถามสืบค้นจนรับรู้เรื่องราวที่เป็นสาเหตุเบื้องหลังของอาการเจ็บป่วยการรักษาจึงไม่ใช่เพียงโรคทางกายแต่สาวลึกไปถึงต้นตอของปัญหาและนำไปสู่การรักษาและให้ความช่วยเหลือ “ผู้ป่วย” อย่างน้าเสน่ห์ หรือ สุชาติอีกต่อหนึ่ง
หัวหน้างานส่งเสริมสุขภาพ รพ.แม่ใจ กล่าวว่า การทำเรื่องเหล่านี้ต้องใจเย็นและใช้เวลาในการสร้างความเข้าใจกับครอบครัวและชุมชนเกี่ยวกับภาวะของผู้ป่วย ความเป็นไปได้ในการรักษาและการดูแล เป็นการให้ข้อมูลอย่างรอบด้านเพื่อให้ครอบครัวและชุมชนเป็นผู้ตัดสินใจเองว่าจะเลือกทางใด
อย่างกรณี “น้าเสน่ห์” ถูกเปิดขึ้นเมื่อแม่และพ่อซึ่งอายุกว่า 85 ปีไม่สบาย แม่ที่ดูแลใกล้ชิดมาตลอดเกิดหกล้มแขนเจ็บไปหาหมอที่โรงพยาบาล และพบว่าแม่เฒ่ามีความ กังวลใจกับอาการเจ็บป่วยของตัวเองมาก เพราะกลัวว่าจะไม่สามารถดูแลลูกชายที่ไม่รู้เรื่อง จำใครไม่ได้และช่วยตัวเองไม่ได้เลย ซึ่งแม่เฒ่าและพ่อเฒ่าจำใจผูกไว้ให้อยู่ในโรงเรือนเล็ก ๆ ข้างบ้านเพื่อดูแลได้สะดวกและดูแลกันมากว่า 20 ปีแล้ว หลังจากตระเวนพาไปรักษามาหลายแห่งจนหมดหวัง แต่...หัวอกแม่ที่รักลูกแม่เฒ่าจึงไม่คิดพาไปรักษาที่ไหนอีกและขอเลี้ยงดูกันไปตามประสา
เจ้าหน้าที่และญาติ ๆ จึงใช้โอกาสนี้ช่วยกันพูดอีกครั้งให้เข้าใจจนแม่เฒ่าและพ่อเฒ่ายอมให้พา “น้าเสน่ห์” ไปรักษาอีกครั้ง และด้วยเวลาเพียงไม่กี่เดือนที่ “น้าเสน่ห์” ได้รับการรักษาได้รับยาอย่างต่อเนื่องอาการดีขึ้นเป็นลำดับจนสามารถกลับมาอยู่บ้านและอยู่ในชุมชนได้อย่างดีจนปัจจุบันที่เขาไม่เพียงดูแลตัวเองได้ แต่กลายเป็น “ลูกชายคนใหม่” ที่มีความสามารถกลับมาเป็นกำลังหลักในการดูแลพ่อเฒ่าแม่เฒ่าได้เป็นอย่างดี อย่างที่สองผู้เฒ่าบอกอย่างภูมิใจว่าเขาทำทุกอย่างในบ้าน ตั้งแต่ทำความสะอาดบ้าน ไปจนถึงการดูแลอาหารการกิน ไปจ่ายตลาด รวมทั้งไปรับยาให้ผู้สูงวัยทั้งสอง นอกจากนี้ยังช่วยงานชุมชนได้เป็นอย่างดีอีกด้วย เรียกว่าเป็นลูกชายคนใหม่ที่ดีกว่าเดิมเสียอีก
ตัวน้าเสน่ห์เองในวันนี้แม้ยังจำเรื่องราวชีวิตในช่วงที่ผ่านมาไม่ได้ แต่จำชื่อตัวเองได้แม่นยำ รู้ว่าเกิดวันเดือนปีอะไร จำคนรอบข้างและญาติพี่น้องได้ ท่องบทสวดมนต์ได้อย่างคล่องแคล่ว ที่สำคัญเขามีความหวังว่าเมื่อฟื้นฟูตัวเองได้เต็มที่จะลงมือ “ทำนา” เป็นอาชีพเลี้ยงตัว และบอกว่าฤดูทำนาคราวหน้าจะไปช่วยญาติทำดูก่อน กรณีน้าเสน่ห์ ไม่ใช่อยู่ดี ๆ ก็เกิดปาฎิหารย์เปลี่ยนได้ในปริบตา แต่มาจากปัจจัยดี ๆ หลายอย่างตั้งแต่การมีเครือข่ายการดูแลของคนสาธารณสุขที่ดี ที่ไม่เพิกเฉย ทั้งโรงพยาบาลแม่ใจที่ประสานกันอย่างดีกับสถานีอนามัย ต.ป่าแฝก ในการติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด
นางสมจิตร ทุ่งพรวน หัวหน้าสถานีอนามัยตำบลป่าแฝก เล่าว่าการทำงานต้องเตรียมทั้งครอบครัวและชุมชน กรณีนี้ “น้าเสน่ห์”โชคดีที่ครอบครัวเข้าใจและดูแลด้วยความรักไม่ทอดทิ้ง ขณะที่ชุมชนเองก็ให้ความร่วมมือและพร้อมรับกลับสู่ชุมชน ช่วยเหลือดูแล และเปิดพื้นที่ทางสังคมให้ได้เข้าร่วมทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชุมชน เช่น งานวัด งานบุญต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งการเป็นตัวแทนชุมชนในส่วนของกลุ่มผู้พิการ และโชคชั้นสองของลุงเสน่ห์คือ แม้จะสูญเสีย “ชีวิต”ที่ควรดำเนินไปในช่วงที่ผ่านมา แต่ลุงกลับเป็นคนที่มีสุขภาพแข็งแรงไม่มีโรคประจำตัวใด ๆ
ขณะที่เรื่องของ “สุชาติ” เกิดขึ้นที่ ต.แม่สุก อ.แม่ใจ จ.พะเยา “สุชาติ” เคยเป็นคนเสียสติขนาดแก้ผ้าเดินโทง ๆ ไปทั่วหมู่บ้านเป็นที่หวาดกลัวของคนในชุมชน สุชาติอยู่สองคนกับพ่อสูงอายุและหูตึง แต่ก็ยังต้องทำนา รับจ้างเลี้ยงวัว หาเลี้ยงปากท้องทั้งของตนเองและลูกชายอย่างเหนื่อยยาก ความยากจนและสื่อสารกันไม่ค่อยจะรู้เรื่อง ทำให้ไม่ได้รับยาสม่ำเสมอ อาการจึงไม่ดีขึ้นเป็นอย่างนี้มานับสิบปี
เรื่องของสุชาติถูกหยิบยกมาสู่เวทีชุมชน การยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือจากคนในชุมชนซึ่งเป็นเพื่อนบ้านที่อาสาเข้ามาช่วยกันประสานกับเจ้าหน้าที่อนามัยและโรงพยาบาลพาตัวสุชาติไปรักษาและกลับมาอยู่ในชุมชน โดยมี อบต.แม่สุก จัดสรรเงินค่ายาและค่าใช้จ่ายในการดูแล ที่ขนาดว่าถ้าหลับอยู่ก็ต้องปลุกให้ลุกขึ้นมากินยา และในช่วงกว่า 1 ปีที่ผ่านมาสุชาติดีขึ้นมาก สามารถอยู่ร่วมในชุมชนได้อย่างสมาชิกคนหนึ่ง ไปช่วยงานที่วัดเป็นประจำ เป็นนักกีฬาของชุมชน ช่วยพ่อทำนา เกี่ยวหญ้าให้วัวก็ทำได้ และไม่ว่าสุชาติจะไปที่ไหนก็จะมีคนในชุมชนช่วยกันสอดส่องดูแล
กรณีของสุชาติเป็นความมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้นจากการที่คนในชุมชนยื่นมือ “อาสา” เข้ามาช่วยเหลือ และดูแล ให้เขากลับมาเป็นสมาชิกที่สมบูรณ์ของชุมชนแม้ต้องใช้เวลานานก็ตาม เพราะตระหนักแล้วว่าหาก “ชุมชน” เมินเฉยต่อผู้ป่วยผลร้ายไม่เพียงผู้ป่วยอาการแย่ลง แต่ภาวะไม่รู้ตัว ไม่รู้ดีชอบของผู้ป่วยอาจเป็นอันตรายต่อคนในชุมชนเอง
“อย่างเด็ก ๆ เราบอกเราคุยกันมาก่อน และให้เป็นข้อปฏิบัติเลยว่า ห้ามล้อสุชาติ เพราะอาจไปกระตุ้นให้อาการเขากำเริบได้” นายเลื่อนและนางเข็มทอง สองสามีภรรยาบ้านใกล้เคียงที่มาดูแลสุชาติบอก เช่นเดียวกับ ผู้ใหญ่บ้าน เจ้าหน้าที่สาธารณสุข เจ้าหน้าที่อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) และเจ้าหน้าที่ อบต. ที่ช่วยกันยืนยันถึงการสร้างความเข้าใจร่วมกันของคนทั้งชุมชนและทุกวัยช่วยกันดูแล เป็นชุมชนตัวอย่างที่สร้าง “ชีวิตใหม่” ให้สุชาติ
อย่างไรก็ตาม การประคับประคองให้ ผู้ป่วยกลับมามีชีวิตปกติได้นั้นต้องใช้เวลาและค่าใช้จ่ายต่อเนื่องพอสมควร ซึ่งลำพังหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งก็คงไม่สามารถทำได้ตลอด อย่างกรณีสุชาติ อบต.ก็มีข้อจำกัดในการจัดสรรเงินดูแล ดังนั้นหากมีองค์กรใดหรือผู้ใดประสงค์ให้ความช่วยเหลือเพื่อร่วมกัน “คืนคนดี”ให้สังคม ก็สามารถประสานไปที่ชุมชนโดยตรงหรือผ่าน อบต.แม่สุก(โทรศัพท์ 054-499468), สถานีอนามัย ต.แม่สุก หรือจะผ่านมาทางโรงพยาบาลแม่ใจ จ.พะเยาก็ได้ ไม่ว่ากรณีของน้าเสน่ห์ หรือสุชาติ ยืนยันได้ว่า “น้ำใจ”ที่ร่วมกันทำเป็นเหมือนยาวิเศษที่ฟื้นชีวิตคนคนหนึ่งที่อาจจะสูญเสียไปแล้วให้กลับคืนมาได้ และชุมชนก็มีพลัง มีองค์ความรู้และศักยภาพที่จะดูแลได้ดี โดยมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเป็นพี่เลี้ยง เป็นเครือข่ายการดูแลสุขภาพที่สร้าง “ชีวิตใหม่” ให้ผู้ป่วยโดยไม่ต้องไปแออัดในโรงพยาบาล เหล่านี้คือแง่งามของการให้บริการสุขภาพด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ ซึ่งบุคลากรสาธารณสุขแห่งโรงพยาบาลแม่ใจ จ.พะเยา ได้ทำให้เห็นแล้วว่าเพียงเติม “ความใส่ใจในความเป็นมนุษย์”ลงในงานประจำที่ทำอยู่นั้นให้ผลเกินคาดและเกินคุ้มจริง ๆ .
บทความโดย ศศิธร อบกลิ่น แผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ โทร.0-22701350 ต่อ 113
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit