กรุงเทพฯ--24 ต.ค.--มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์
“ทำความดีโดยไม่มีเงื่อนไข ช่วยเหลือผู้อื่นด้วยใจ โดยไม่หวังผลตอบแทน” คำขวัญที่เป็นดั่งคำปณิธานของอาสาสมัครโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า(อส.รพ.) ที่ใช้ยึดถือเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานเพื่อช่วยเหลือด้านสุขภาพของประชาชนตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี
“คนไข้ที่ถือบัตรคิวเบอร์ที่ 10 มาชั่งน้ำหนัก วัดความดันได้แล้วค่ะ” อาสาสมัครวัยกลางคนเอ่ยเรียกคนไข้ที่นั่งรอตรวจอย่างเป็นกันเอง ท่ามกลางบรรยากาศจอแจและสีหน้าร้อนรนปนทุกข์ของคนที่มาโรงพยาบาลในตอนเช้า อาสาสมัคร ณ จุดนี้จึงช่วยจัดลำดับคิวการตรวจให้เป็นไปอย่างเรียบร้อย เช่นเดียวกับอีกจุดบริการใกล้กัน เมื่อสังเกตเห็นผู้ป่วยหน้าตาร้อนรนกระวนกระวายเมื่อรอนานยังไม่ได้ตรวจ เราจะได้ยินเสียง “ใจเย็นๆนะพ่อหนุ่ม เดี๋ยวลุงเข้าไปดูให้ว่าประวัติมาหรือยัง” คือคำพูดปลอบใจและพร้อมช่วยเหลืออย่างแข็งขันของคุณลุง คุณป้า จิตอาสาที่มุ่งมั่นปฏิบัติภารกิจในแต่ละวันด้วยใจไม่ต่างจากเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาล “พี่ปึ๊ด” หรือ พ.ท. สรศักดิ์ รอดโต ประธานอาสาสมัครโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า บอกว่า คนที่จะเข้ามาเป็นอาสาสมัครต้องเตรียมอย่างเดียวคือ “ใจ” เพราะถ้ามีใจที่พร้อมจะให้ การทำงานของ อส.รพ .จะมีศักยภาพและมีความสุข
พ.ท.สรศักดิ์ ก้าวเข้าสู่การเป็นอาสาสมัครด้วยแรงบันดาลใจที่อยากทำงานเสียสละเพื่อสังคมโดยไม่หวังค่าตอบแทน โดย “พี่ปึ๊ด” บอกว่า ตนเองรับหน้าที่ช่วยในส่วนของห้องยา คอยดูแลช่วยเหลือคนไข้ที่มารอรับยา ทุกวันจันทร์และอังคาร เจ้าหน้าที่จัดยาอยู่ในห้องด้านในขณะที่คนไข้รอรับยาอยู่ข้างนอก ฉะนั้นความตึงเครียด ความทุกข์ใจของคนไข้ที่นั่งรอยานานเป็นชั่วโมงเจ้าหน้าที่ไม่สามารถรับรู้ได้หรอก เราจึงต้องช่วยแนะนำ พูดคุยกับคนไข้ให้ผ่อนคลายอารมณ์ เพื่อให้เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกัน
ครั้งหนึ่งมีคนไข้รอรับยาจำนวนมาก ที่นั่งไม่เพียงพอ คนไข้จึงต้องยืนรอ เผอิญหันไปเห็นคนไข้คนหนึ่งยืนโอนเอนอยู่ ซึ่งจำได้ว่าคนไข้คนนี้เป็นโรคความดันโลหิตสูงซึ่งมารับยาประจำทุกเดือน จึงรีบวิ่งเข้าไปพยุงซึ่งเป็นจังหวะที่คนไข้ล้มลงและหมดสติในทันที ในใจก็นึกว่าโชคดีจริงๆที่เข้ามารับทัน เพราะหากคนไข้ล้มศีรษะฟาดพื้นเท่ากับมีโอกาสเส้นเลือดในสมองแตกทีเดียว รู้สึกดีใจมากตอนที่คนไข้ฟื้นเพราะสิ่งที่เราทำคือการได้ช่วยชีวิตคนคนหนึ่งไว้ได้ จากเหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ทุกครั้งที่ปฏิบัติงานต้องคอยสังเกตและคอยดูคนไข้ตลอด และในกระเป๋าเสื้อตัวเองจะมีถุงอาเจียน ยาดม ยาหม่อง เตรียมไว้สำหรับเวลาฉุกเฉิน”
พ.ท. สรศักดิ์ เล่าต่อว่า หลังจากช่วยงานหน้าห้องจ่ายยาได้ระยะหนึ่ง เริ่มสังเกตุว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่จะรู้สึกเบื่อและหงุดหงิด จึงทดลองนำระนาดมาเล่นทุกวันพุธ ปรากฏว่าได้ผลดีมาก คนไข้เริ่มผ่อนคลาย บางคนก็ฮัมเพลง กระดิกเท้าไปตามจังหวะดนตรี หลังๆคนไข้เริ่มมีการขอเพลง เคยมีคนไข้เขียนใส่กระดาษมาบอกว่าได้ฟังดนตรี โรคหายไป 70 % แล้วที่เหลืออีก 30 % รอหมอตรวจให้ สิ่งเหล่านี้คือคุณค่าทางใจที่หาซื้อไม่ได้ เวลาที่ได้เห็นคนไข้ยิ้มแล้วมีความสุข เมื่อจิตเป็นกุศลก็ทำให้ร่างกายมีภูมิต้านทาน มีสุขภาพกายสุขภาพใจดีไปด้วย เช่นเดียวกับ ป้าหยี หรือ นาง ยุพิน ด่านตระกูล เจ้าของร้านเสริมสวยวัย 60 ปี ที่มีร้านอยู่ไม่ไกลโรงพยาบาล แม้ต้องดูแลร้านเป็นงานประจำแต่ “ป้าหยี” ก็ยินดีเสียสละมาทำหน้าที่อาสาสมัครจิตอาสา “นักประชาสัมพันธ์”ส่วนหน้าที่ดูจะเข้ากับบุคลิกช่างเจรจาของป้าหยี “ ป้าชอบปฏิบัติการเชิงรุก เวลาคนไข้เดินเข้ามาแล้วมีทีท่าหันซ้าย หันขวา จะเข้าไปสอบถามเลยว่า มีอะไรให้ช่วยมั้ยคะ ให้นั่งรับหรือรอคอยให้คนไข้เข้ามาถามไม่ได้หรอก เพราะคนไข้ส่วนใหญ่ไม่ค่อยกล้าถาม ยิ่งเฉพาะคนแก่ที่มาคนเดียวไม่มีลูกมีหลานมาด้วย ก็จะรีบเข้าไปถามว่า มาตรวจอะไร แล้วก็พาเขาไปส่งที่ห้องตรวจ คนไข้บางคนถึงกับยื่นเงินให้ บอกว่ารู้สึกดีที่มีคนมาช่วย แต่เราก็จะไม่รับ เจอกันวันหลังคนไข้นำพระมาให้ สิ่งเหล่านี้ทำให้เราสุขใจ รู้สึกว่าเราไม่ใช่คนแก่ที่ไร้ค่าแต่ยังสร้างสิ่งดีๆและช่วยเหลือสังคมได้ ”
ด้าน นพ. ดุลวิทย์ ตปนียากร รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ด้านบริหาร (ประธานกรรมการ อส.รพ. ฝ่ายโรงพยาบาล) กล่าวว่า สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างกิจกรรมในโครงการอาสาสมัครโรงพยาบาลพระนั่งเกล้าเท่านั้น โดยปัจจุบันมีประชาชนเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครโรงพยาบาลกว่า 80 คน ล้วนเป็นบุคลากรที่มีคุณค่า มีความรู้ความสามารถมาจากหลากหลายสาขาอาชีพ และอายุ ตั้งแต่วัยทำงานไปจนถึงวัยกว่า 70 ปี อยู่ประจำจุดปฏิบัติงานตามหน่วยงานต่างๆ ในโรงพยาบาล เช่น งานห้องบัตร งานประชาสัมพันธ์ ห้องสังคมสงเคราะห์ ห้องฝากครรภ์ ห้องจริยธรรม ห้องฉีดยา-ทำแผล หรือห้องนวดแผนไทย เป็นต้น ซึ่งงานที่อาสาสมัครแต่ละคนได้รับต้องเป็นงานที่ถนัดและมีความพึงพอใจ
การทำงานของอส.รพ.ไม่เพียงช่วยแบ่งเบาภาระงานบางส่วนที่ไม่ต้องใช้ความรู้ความสามารถด้านวิชาชีพเฉพาะเท่านั้น แต่อส.รพ.ยังมีบทบาทสำคัญช่วยเติมเต็มช่องว่างระหว่างเจ้าหน้าที่และผู้รับบริการได้เป็นอย่างดี เปลี่ยนบรรยากาศที่เคยเต็มไปด้วยความอึดอัด มาเป็นสังคมที่เต็มไปด้วยการช่วยเหลือเกื้อกูลระหว่างเพื่อนมนุษย์ สร้างรอยยิ้มและความรู้สึกดีๆให้เกิดขึ้นโรงพยาบาล
การมีโอกาสได้เห็น การทำดีช่วยเหลือผู้อื่นโดยไม่มีเงื่อนไขของเหล่าจิตอาสาโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า สะท้อนให้เห็นความชัดเจนของการให้บริการสุขภาพด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์ ที่ไม่จำกัดเฉพาะบุคลากรแพทย์ พยาบาล ในโรงพยาบาลแต่ยังรวมถึงการเปิดโอกาสให้ผู้มีใจ”อาสา”ในชุมชนได้นำความรู้ความสามารถที่หลากหลายมาช่วยกันสร้างสุข ลดทุกข์ ในโรงพยาบาลให้กับทั้งผู้ให้และผู้รับ เป็นตัวอย่างสังคมจิตอาสาที่อยากให้เกิดขึ้นในทุกโรงพยาบาล.///
เรื่องและภาพประกอบโดย งานสื่อสารธารณะฯ แผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์
โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โทร.0-22701350-4 ต่อ 113,103
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit