แผนงานโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตยาสูบแห่งใหม่

22 Oct 2007

กรุงเทพฯ--22 ต.ค.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง

เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2550 ว่าคณะรัฐมนตรีอนุมัติแผนงานโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตยาสูบแห่งใหม่ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1. อนุมัติให้โรงงานยาสูบฯ ดำเนินการโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตยาสูบแห่งใหม่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมหรือเขตอุตสาหกรรม ห่างจากกรุงเทพมหานครในรัศมีไม่เกิน 200 กิโลเมตร ภายในวงเงินลงทุนของโครงการฯ ประมาณ 16,200 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินโครงการ 5 ปี (ปี 2551 - 2555) ทั้งนี้ สำหรับเงินลงทุนค่าสินค้าและบริการที่นำเข้าจากต่างประเทศ เห็นควรอนุมัติในหลักการให้โรงงานยาสูบฯ เบิกจ่ายเงินในวงเงินลงทุนที่เปลี่ยนแปลงซึ่งเป็นผลจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราจากต่างประเทศ ตามอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่เกิดขึ้นจริง และจัดหาผู้รับดำเนินการโดยวิธีประกวดราคา ดังนี้ - ประกวดราคาในต่างประเทศ สำหรับการก่อสร้างอาคาร สิ่งก่อสร้าง ระบบสาธารณูปโภค และเสริมการผลิต - ประกวดราคาสากล (International Competitive Bidding) สำหรับการจัดหาเครื่องจักรและอุปกรณ์

2. อนุมัติในหลักการให้กระทรวงการคลังเป็นผู้พิจารณาให้โรงงานยาสูบกันเงินนำส่งรายได้แผ่นดินภายใต้กรอบภาระของสัญญา โดยพิจารณาความเหมาะสมเป็นปี ๆ เริ่มจากผลกำไรของปีงบประมาณ 2551 เป็นต้นไป ภายในกรอบวงเงินลงทุนโครงการที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ ทั้งนี้ การกันเงินดังกล่าวควรพิจารณาให้สอดคล้องกับภาระที่โรงงานยาสูบจะต้องจ่ายจริง และสถานการณ์การเงินของของโรงงานยาสูบ โดยคาดว่าจะให้โรงงานยาสูบกันเงินนำส่งรายได้แผ่นดินจากผลกำไรประจำปี เพิ่มเติมอีกจำนวน 9,349.98 ล้านบาท ประกอบด้วย ปีงบประมาณ 2551 จำนวน 4,664.00 ล้านบาท และปีงบประมาณ 2552 จำนวน 4,685.98 ล้านบาท ซึ่งรวมกับวงเงินที่ได้กันไว้แล้วจำนวน 6,850.02 ล้านบาท เป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 16,200 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง

ความเห็นของกระทรวงการคลัง

เป็นการทบทวนแผนงานเดิมของโรงงานยาสูบจากการสร้างโรงงานผลิตยาสูบ 2 แห่ง เป็นการสร้างโรงงานผลิตยาสูบแห่งเดียวในภาคกลางในพื้นที่ที่เหมาะสมด้านการขนส่ง มีระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการรองรับ จะลดปัญหาและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และไม่มีปัญหาการต่อต้านจากชุมชนเนื่องจากอยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมหรือเขตอุตสาหกรรม และโรงงานยาสูบจะสามารถลดต้นทุนการผลิตได้จากการบริหารจัดการด้านการขนส่งเชื่อมโยงแหล่งวัตถุดิบ แหล่งผลิตและแหล่งกระจายสินค้าได้อย่างเหมาะสม

ตามข้อมูลของโรงงานยาสูบเกี่ยวกับประเทศที่มีผู้ผลิตเครื่องจักรในขบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพ เป็นที่ยอมรับ มีข้อจำกัด เนื่องจากมีเพียงด้านละ 2 – 3 รายในตลาดโลก ซึ่งหากโรงงานยาสูบจะหาผู้รับเหมาก่อสร้างและติดตั้งเครื่องจักรเบ็ดเสร็จ จะทำให้มีผู้เข้ามาประกวดราคาน้อยราย ซึ่งจะไม่เป็นผลดีกับโรงงานยาสูบ ดังนั้น เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและได้ผู้ที่มีความรู้ ความชำนาญเป็นผู้รับดำเนินการ จึงเห็นสมควรอนุมัติให้โรงงานยาสูบจัดหาผู้รับดำเนินการโดยวิธีประกวดราคาตามแนวทางที่โรงงานยาสูบเสนอ

ผลกระทบของการมีมติคณะรัฐมนตรี 1. พื้นที่ดินที่ตั้งโรงงานเดิมประมาณ 312 ไร่ สามารถส่งมอบเพื่อการสร้างสวนสาธารณะ “เบญจกิติ ” ส่วนที่ 2 ได้ภายในปี 2554 2. ที่ดินตามโครงการเดิม ณ จังหวัดเชียงใหม่ เนื้อที่ประมาณ 304 ไร่ จะใช้ทดลองและเพาะพันธุ์ยาสูบชนิดใหม่ ๆ และพัฒนาเป็นศูนย์เพาะพันธุ์ยาสูบระดับภูมิภาค (Region) เพื่อยกระดับเกษตรกรไทย 3. พื้นที่ดินที่ตั้งโรงงานใหม่ ประมาณ 210 – 250 ไร่ และที่ดินสำหรับสร้างอาคารที่พักอาศัยและพื้นที่สันทนาการ รวมประมาณ 20 ไร่ 4. มีโรงงานผลิตบุหรี่พร้อมระบบสาธารณูปโภค และสิ่งสนับสนุนอื่นๆ สำหรับการผลิต 32,000 ล้านมวนต่อปี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตบุหรี่ และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันกับบุหรี่ต่างประเทศ และลดการบริโภคบุหรี่มวนเอง