ผู้นำเข้าอังกฤษตรวจลิสเทอเรียในอาหาร แบบโอเวอร์สแตนดาร์ดและไม่เป็นธรรม นายกกุ้งไทยหวั่นประเทศเสียเปรียบการค้าในเวทีโลก

18 Oct 2007

กรุงเทพฯ--18 ต.ค.--สมาคมกุ้งไทย

นายสมศักดิ์ ปณีตัธยาศัย นายกสมาคมกุ้งไทย (Somsak Paneetatyasai, President of Thai Shrimp Association) เปิดเผย ภายหลังการสัมมนาวิชาการ เรื่อง “ลิสเทอเรีย โมโนซัยโตจีเนส (Listeria monocytogenes – ข้อกำหนดต่างประเทศกับผลกระทบต่ออุตสาหกรรมฯ)” ว่า ปัจจุบันทั่วโลกให้ความสนใจกับเชื้อลิสเทอเรียในอาหารค่อนข้างมาก ซึ่งเชื้อในกลุ่มลิสเทอเรียนี้มีอยู่หลายสายพันธุ์ แต่มีเชื้อที่ก่อโรคได้เพียงสายพันธุ์เดียว คือ ลิสเทอเรีย โมโนซัยโตจีเนส หรือ แอล. โมโน (L. mono) และการที่จะกำจัดเชื้อลิสเทอเรียทุกสายพันธุ์มิให้ปนเปื้อนในอาหารเลยนั้น เป็นไปได้ยากมาก ดังนั้น กลุ่มประเทศผู้นำเข้าอาหารอย่างสหรัฐอเมริกา ญีปุ่น อียู และอื่นๆ จึงใช้มาตรการตรวจสอบเชื้อชนิดนี้ในมาตรฐานเดียวกัน นั่นคือ ต้องไม่พบเชื้อลิสเทอเรียสายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดโรค (L. mono) ต่อการตรวจสอบตัวอย่างสินค้าอาหาร 25 กรัม ก็จะสามารถส่งอาหารนั้นเข้าไปยังประเทศผู้นำเข้าได้

” แต่จู่ๆ อังกฤษซึ่งเป็นประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปหรืออียู กลับปฏิเสธมาตรฐานสากลที่ปฏิบัติอยู่ในกลุ่ม และหันไปใช้ข้อกำหนดที่ตัวเองตั้งขึ้น โดยสมาคมผู้นำเข้าอาหาร หรือผู้ค้าอาหารสหราชอาณาจักร (อังกฤษ) ถือว่าเป็นมาตรฐานที่ไม่สอดคล้องกับการกำหนดมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศที่ต้องใช้พื้นฐานข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ มากำหนดเป็นมาตรฐานอาหาร” นายสมศักดิ์กล่าว

มาตรฐานโอเวอร์สแตนดาร์ดที่ประเทศอังกฤษนำมาใช้อยู่ในขณะนี้คือ ถ้ามีการตรวจพบเชื้อกลุ่มลิสเทอเรีย ไม่ว่าเป็นชนิดใดหรือสายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดโรคหรือไม่ก็ตาม จะถูกปฏิเสธและห้ามนำเข้าประเทศอังกฤษทั้งหมด ซึ่งส่งผลบกระทบโดยตรงต่ออุตสาหกรรมการส่งออก รวมถึงเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งและไก่ด้วย

ทั้งนี้ ประเทศไทยในฐานะผู้ส่งออกเกษตรอาหารรายใหญ่ของโลก จึงควรตระหนัก และมีความตื่นตัวในเรื่องนี้รวมทั้ง ผสานความร่วมมือทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน ให้มีการทำงานด้านนี้อย่างจริงจัง มิฉะนั้นแล้วประเทศไทยจะตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบในเวทีการค้าโลก

นายสมศักดิ์ ปณีตัธยาศัย

นายกสมาคมกุ้งไทย

โทร. 081-8302448