กรุงเทพฯ--23 ส.ค.--กระทรวงยุติธรรม
เพราะ “เงินทอง”เป็นของบาดใจ การฟ้องร้องในหมู่ญาติพี่น้องจึงมีให้เห็นเสมอ ๆ จึงไม่แปลกที่ในจำนวนผู้ร้องขอรับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดีจากกองทุนยุติธรรมส่วนใหญ่จะเป็นการฟ้องร้องคดีแพ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินมรดก
“เรณู ” ช่างเสริมสวยวัย 44 ปี คือตัวอย่าง เรณูฟ้องร้องน้องต่างบิดาที่ไม่ยอมแบ่งทรัพย์มรดกจากการตายของมารดาตามสิทธิที่คิดว่าเธอควรได้รับ แต่ปัญหาคือ ไม่มีความรู้ ไม่เข้าใจกฎหมาย และในการฟ้องร้องต้องมีค่าใช้จ่ายไม่ว่าจะเป็นค่าธรรมเนียมศาล ค่าจ้างทนายความ หรืออื่นๆ ที่เธอไม่รู้ การเลิกร้างกับสามีอย่างกะทันหันเพราะสามีมีเมียน้อย คือจุดพลิกผันสำคัญในชีวิต จากเคยที่พอมีพอกินก็ไม่พอใช้จ่าย เมื่อบ้านต้องเช่า ร้านเสริมสวยก็เช่า ไหนค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อีก เมื่อตัดสินใจฟ้องร้องรายจ่ายที่เกิดขึ้นทันทีคือ ค่าเดินทางขึ้นล่องระหว่างสมุทรปราการกับสระบุรีสถานที่ฟ้องร้อง ไปติดต่อเรื่องแต่ละครั้งต้องปิดร้านปิดบ่อยๆ ลูกค้าก็หาย รายได้ก็หด เธอเครียดมาก และไม่รู้จะหาทางออกอย่างไร บ่ายหน้าไปหาใครก็พากันเมินเพราะคิดว่าต้องมายืมเงินแน่.... ยิ่งคิดก็ยิ่งกลุ้ม....ความกดดันที่ได้รับทำให้บางครั้งเธอคิดฆ่าตัวตาย
แต่แล้วเมื่อคิดได้ อย่างไรเสียต้องเดินหน้าต่อไป เธอตัดสินใจไปที่กระทรวงยุติธรรมจึงได้รับคำแนะนำในการขอรับความช่วยเหลือด้านค่าใช้จ่ายในกระบวนการยุติธรรมจากกองทุนยุติธรรม โดยเป็นการอนุมัติเงินค่าธรรมเนียมศาล และช่วยจ้างทนายความให้ ตอนนี้คดีของเธอกำลังเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาลแล้ว เช่นเดียวกับ “ประพันธ์ศักดิ์ ” ชาวจังหวัดร้อยเอ็ดวัย 31 ปี อดีตพนักงานบริษัทที่ไม่เคยสนใจเรื่องมรดก กระทั่งเปิดปัญหาชีวิตตกงานกลับไปอยู่บ้านจึงพบว่า โฉนดบ้านและที่ดินที่เป็นส่วนแบ่งมรดกที่ได้รับจากการเสียชีวิตของพ่อ ถูกน้องสาวนำไปจำนองและนำเงินไปใช้ส่วนตัวโดยไม่มีการจัดแบ่งให้กับให้กับพี่น้องอื่นตามสิทธิที่ควรได้ เมื่อทวงถามก็ได้รับการบ่ายเบี่ยงมาตลอด
ในการสู้คดีเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมครั้งนี้ ตนไม่มีเงินทุนที่จะเป็นค่าใช้จ่ายดำเนินการเลยเพราะว่างงานอยู่ ได้ทราบจากตำรวจจังหวัดร้อยเอ็ดว่าสามารถติดต่อขอรับการสนับสนุนค่าเนินการเกี่ยวกับค่าทนายความและค่าธรรมเนียมศาลได้จากกองทุนยุติธรรม จึงไปติดต่อที่สำนักงานยุติธรรมจังหวัดร้อยเอ็ด และได้รับความช่วยเหลือเรื่องค่าธรรมเนียมศาลและค่าทนายความ ตอนนี้มีการจ้างทนายความ และคดีกำลังเข้าสู่กระบวนดำเนินการพิจารณาของศาล การติดต่อก็ไม่ได้ยุ่งยากเพราะเมื่อไปที่สำนักงานยุติธรรมจังหวัดก็มีการสอบถามซักถามเรื่องราวตรวจสอบความถูกต้อง ทำตามกระบวนการทุกอย่างซึ่งก็ใช้เวลาไม่นาน ประพันธ์ศักดิ์คาดหวังว่าหากได้รับส่วนแบ่งจากทรัพย์มรดกก้อนก็จะนำมาใช้เป็นทุนในการดำเนินชีวิตและประกอบอาชีพเปิดร้านขายหนังสือ เพราะเห็นว่าเด็กปัจจุบันไม่ค่อยอ่านหนังสือ สนใจซีดีกันมาก มีร้านซีดี ดีวีดีเปิดอยู่เต็มไปหมด จึงอยากจะทำตรงนี้
“จากที่ไม่เคยสนใจเรื่องกฎหมาย พอมาเป็นคดีความทำให้สนใจและคิดว่าความรู้กฎหมายเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ควรรู้ อย่างเรื่องกองทุนยุติธรรมนี่ผมนำเอกสารไปแจกผู้ใหญ่บ้านไปบอกต่อให้กับคนในหมู่บ้าน ว่ามีความช่วยเหลือ มีช่องทางสำหรับคนยากคนจนที่เดือดร้อนในเรื่องการต่อสู้ทางกฎหมาย จะได้ไม่ต้องไปผจญชะตากรรมอย่างไม่รู้อิโหน่อิเหน่” ประพันธ์ศักดิ์บอก
จาก 2 กรณีตัวอย่างแสดงให้เห็นว่าการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมจำเป็นต้องมีค่าใช้จ่ายในรูปตัว “เงิน” แต่การช่วยเหลือด้านกฎหมายที่หลายหน่วยงานดำเนินการอยู่มักเป็นไปในลักษณะการให้คำปรึกษา แนะนำ อาทิ คลินิกยุติธรรม ของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ การมีทนายอาสาของสภาทนายความ เหล่านี้เป็นต้น กระทรวงยุติธรรมจึงจัดตั้ง กองทุนยุติธรรม ขึ้น เพื่อให้มีอีกช่องทางหนึ่งในการให้การช่วยเหลือแก่ประชาชน โดยเฉพาะในรูปของตัวเงินซึ่งเป็นสิ่งสำคัญประการหนึ่งในการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
“เพราะสำหรับประชาชนที่ยากจนนั้น เมื่อถูกดำเนินคดีไม่ว่าจะเป็นคดีแพ่ง คดีอาญา หรือคดีปกครอง จะเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ยากกว่าคนที่มีฐานะร่ำรวย เพราะว่าการดำเนินคดีเหล่านี้ต้องมีค่าใช้จ่าย กองทุนยุติธรรมจึงเป็นช่องทางหนึ่งในการให้ความช่วยเหลือและคุ้มครองสิทธิในการดำเนินคดีของคนยากจนที่ไม่มีเงินค่าใช้จ่ายในการสู้คดีในกระบวนการยุติธรรม” นี่คือนโยบายหลักที่ นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้เน้นย้ำในการดำเนินงานกองทุนยุติธรรม เพื่อความยุติธรรมโดยเสมอภาค
นายวิศิษฎ์ วิศิษฎ์สรอรรถ ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า กองทุนยุติธรรม ได้วางหลักเกณฑ์กว้าง ๆในการให้ความช่วยเหลือ โดย 4 เรื่องหลักที่พิจารณาเป็นลำดับแรก ๆ คือ ค่าธรรมเนียมศาล ค่าจ้างทนายความ ค่าประกันตัว และค่าใช้จ่ายกรณีการพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์ เป็นต้น แต่ในกรณีนอกเหนือจากนี้ก็สามารถยื่นเรื่องขอรับการสนับสนุนจากกองทุนฯได้ หากเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือต้องการให้กระบวนการยุติธรรมเยียวยา โดยสรุปคือกรณีใดก็ตามที่ประชาชนรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมและไม่สามารถขอรับความช่วยเหลือจากที่ไหนได้ก็สามารถมายื่นเรื่องที่กองทุนได้ แต่...กองทุนยุติธรรมไม่ใช่กองทุนสงเคราะห์ เน้นการพิจารณาช่วยเหลือคนยากจนที่เดือดร้อนก่อน และพิจารณาเป็นราย ๆ ไป ไม่ใช่ขออะไรมาแล้วต้องให้ทั้งหมด ที่สำคัญต้องมีแนวโน้มชนะคดีหรือเป็นผู้บริสุทธิ์จริง และเป็นการให้ความช่วยเหลือที่ไม่ซ้ำซ้อนกับกรณีที่มีการช่วยเหลือตามกฎหมายอื่นอยู่แล้ว
ค่าใช้จ่ายที่ได้รับการอนุมัติจะจ่ายให้กับศาลหรือทนายความโดยตรงตามที่ระเบียบกำหนด ไม่มีการจ่ายเงินให้กับผู้ร้องขอโดยตรง เพื่อป้องกันมิให้ผู้ขอรับความช่วยเหลือนำเงินไปใช้เพื่อการอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง
นายวิศิษฎ์ กล่าว เพื่อให้การดำเนินงานของกองทุนตรงตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการช่วยเหลือคนยากจนซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ คณะกรรมการบริหารกองทุนยุติธรรมจึงกำหนดเงื่อนไขว่าต้องเป็นผู้มีรายได้ต่อปีไม่ถึง 100,000 บาท โดยจะพิจารณาให้กับคนกลุ่มนี้ก่อน แต่สำหรับคนที่มีรายได้เกินกว่านี้ก็สามารถเข้ามาพึ่งพากองทุนนี้ได้
ทั้งนี้กระทรวงยุติธรรมได้กำหนดช่องทางการรับเรื่องไว้หลายช่องทางเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงความช่วยเหลือได้ง่ายและสะดวกที่สุด อาทิ ทางจดหมาย การยื่นตัวตนเอง โดยในกรุงเทพฯติดต่อได้ที่กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กรณีต่างจังหวัดง่ายที่สุดคือการไปติดต่อที่สำนักงานยุติธรรมจังหวัดทั่วประเทศ หรือเข้าไปดูรายละเอียดที่ ศูนย์บริการประชาชน โทร.0-2502-0800 และสามารถดาวน์โหลดข้อมูลได้จากเว็บไซต์ www.moj.go.th
สำหรับกิจกรรมหรือการกระทำที่กองทุนฯจะพิจารณาให้ความช่วยเหลือเป็นลำดับแรก ๆ อาทิ ในคดีแพ่งส่วนใหญ่เป็นค่าจ้างทนายความและค่าธรรมเนียมศาล ซึ่งหลายกรณีจะขอควบมาทั้งสองอย่าง เพราะหากเป็นกรณีการฟ้องคดีแบบมีทุนทรัพย์ศาลกำหนดให้ต้องมีการวางเงินค่าธรรมเนียมศาล ซึ่งปัจจุบันคิดในอัตราร้อยละ 2.5 ของทุนทรัพย์ที่ฟ้องแต่สูงสุดไม่เกิน 1 แสนบาท ในกรณีนี้เราจึงเคยได้เห็นข่าว “แม่เร่ขายไตเพื่อจะเอาเงินไปฟ้องเรียกค่าเสียหายแทนลูก” เหล่านี้เป็นต้น เป็นเงื่อนไขทางกฎหมายที่กำหนดมาเพื่อไม่ให้มีการกลั่นแกล้งกัน ส่วนกรณีคดีอาญามักเป็นการขอเงินประกันตัวหรือการปล่อยตัวชั่วคราว เป็นการช่วยเหลือสำหรับคนที่มีรายได้น้อยและรู้สึกว่าตัวเองอยู่ในเกณฑ์ที่จะปล่อยตัวชั่วคราวเพื่อสู้คดีแต่ไม่มีเงิน อย่างไรก็ตามกรณีนี้ต้องมีการพิจารณาตรวจสอบอย่างรอบคอบว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ ถูกกลั่นแกล้ง ไม่ใช่ผู้ที่ทำความผิดซ้ำ หรือเคยต้องโทษมาก่อน
ผอ.สำนักงานกิจการยุติธรรม กล่าวว่า ในฐานะฝ่ายเลขาฯ คณะกรรมการบริหารกองทุนยุติธรรม ซึ่งได้รับมอบอำนาจในการพิจารณาคำขอของผู้ร้องขอว่าควรได้รับการอนุมัติหรือไม่ เพื่อลดความทุกข์ของผู้ร้องขอจึงกำหนดว่าหลังจากรับคำขอแล้วคณะกรรมการฯจะใช้เวลาในการพิจารณาไม่เกิน 30 วัน แต่ในกรณีปล่อยตัวชั่วคราวหรือประกันตัวก็จะมีการพิจารณาอย่างเร่งด่วน เนื่องจากกรณีนี้จะถูกควบคุมตัวไว้
อย่างไรก็ตามในรอบ 1 ปีที่กองทุนยุติธรรมเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2549 จนถึงปัจจุบัน จากเดือนแรกที่มีประชาชนยื่นขอมาเพียง 1 ราย ก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ รวมปัจจุบัน ณ 15 สิงหาคม 2550 รวม 138 ราย แบ่งเป็นการยื่นเพื่อขอค่าธรรมเนียมศาล 66 ราย ส่วนที่สูงที่สุดคือค่าทนายความ 102 ราย โดยบางรายเป็นการขอควบทั้งค่าธรรมเนียมศาลและค่าทนายความ ส่วนการปล่อยชั่วคราวมี 33 ราย โดยมีที่เข้าข่ายและกองทุนฯพิจารณาอนุมัติความช่วยเหลือประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ร้องขอ อย่างไรก็ตามหากผู้ร้องขอไม่พอใจผลการพิจารณาของคณะกรรมการฯก็สามารถสามารถอุทธรณ์ได้
สำหรับเรื่องที่ร้องขอรับการสนับสนุน ส่วนใหญ่เป็นเรื่องทางแพ่ง เช่น การถูกฟ้องขับไล่ การผิดสัญญาต่าง ๆ อาทิ สัญญาซื้อขาย กรณีครอบครัวการฟ้องหย่า หรือกรณีมีการปลอมใบมอบอำนาจแล้วไปโอนที่ดิน เป็นต้น อย่างไรก็ตามทุกคดีสามารถยื่นขอรับคำขอได้
การให้ความช่วยเหลือในรูปตัว “เงิน” ของกองทุนยุติธรรมเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม นับเป็นอีกหนึ่งกระบวนการสำคัญที่ทำให้ขั้นตอนทางกฎหมายต่าง ๆ ขับเคลื่อนไปได้ และสร้างโอกาสให้ประชาชนที่ยากจนได้เข้าถึง “ความยุติธรรม” โดยเสมอภาค.
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit